กรุงเทพฯ/ วันนี้ที่ 23พฤษภาคม 2566 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) Kick off งานวิจัย (จังหวัดบูรณาการ) โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2566” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ทิพยวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจิรญ เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(หัวหน้าโครงการ) นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ภาคีงานวิชาการ และตัวแทนขบวนองค์กรชุมชน 5 จังหวัด พื้นที่นำร่อง เชียงราย สุพรรณบุรี ชลบุรี ขอนแก่น พัทลุง จำนวน 60 คน เข้าร่วมเวที ณ ห้องประชุมอินทรภูวศักดิ์ ชั้น8 อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับตำบลและจังหวัด ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายวิชาการที่เกี่ยวข้อง ผ่านการดำเนินกิจกรรมกลุ่มแบบเน้นการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถอดบทเรียน ประสานงาน และบูรณาการการดำเนินงานจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนผ่านพื้นที่กลางระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่ออาศัยความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ระดับต่าง ๆ พัฒนามาสู่การสร้างประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยอันจะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยเป็นประชาธิปไตยที่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปภายหน้าคำสำคัญ : ชุมชนเข้มแข็ง, ภาคประชาสังคม, พื้นที่กลาง, ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย
ศาสตราจารย์ ดร.ทิพยวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า นวัตกรรมทางสังคมมีความสำคัญอย่างมาก นวัตกรรมถือว่าเป็นเรื่องใหม่ นวัตกรรมทางสังคมยิ่งใหม่ขึ้นไปอีก เพราะจะเป็นการหาการแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบใหม่ รวมทั้งการจัดการปัญหาท้าทายของสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างผลกระทบดี ๆ ให้กับสังคม การดำเนินงานเป็นรูปแบบการทำงานที่ดีการทำงานแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับภาครัฐ เอกชน เครือภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง และจะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เป็นการสร้างต้นแบบรับรองแผนการจัดการจังหวัดต่อไปในอนาคต
นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานวิจัยร่วมสมัยจะช่วยให้เกิดการยกระดับการทำงานของชุมชนที่ทำงานในพื้นที่มาหลายสิบปี การทำงานวิจัยจะทำให้เกิดความชัดเจนของพื้นที่ ทำให้สังคมรับรู้ว่าการทำงาน จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาฐานพื้นที่เป็นตัวตั้ง หน่วยงานส่วนกลางช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนการพัฒนา กลไกกลาง พื้นที่กลาง จะเป็นจุดสำคัญในขับเคลื่อนพื้นที่ จะต้องมีการวิเคราะห์ภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ งานวิจัยนี้จะเป็นเครื่องมือให้หลายภาคส่วน หารือภาพรวมของจังหวัด ออกแบบทำให้ระบบงานเกิดความชัดเจน ระบบการทำงานต้องทำที่ฐานตำบล จะทำให้เห็นภาพของตำบล หากตำบลเข้มแข็งระบบการทำงานของจังหวัดจะยั่งยืน สามารถจะผลักดันในเชิงนโยบายได้
ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สภาพสังคมวิทยาของไทยเรามีเรื่องชุมชนมีความเข้มแข็งมาก ในการที่จะสร้างประชาธิปไตยอัตลักษณ์ฐานรากต้องมาจากชุมชน การออกแบบระบบประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงดิน น้ำ ฟ้า อากาศ รากฐานของสังคมไทย การออกแบบประชาธิปไตยต้องเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย การสร้างประชาธิปไตยต้องสร้างจากฐานราก ไปสร้างเจดีย์จากตรงกลาง จากยอดท้ายที่สุดแล้วไม่เหลืออะไร การสร้างเจดีย์ ต้องตอกเสาเข็มก่อน งานวิจัยครั้งนี้ คือ การตอกเสาเข็ม งานวิชาการคือสิ่งที่จะผลักดันขับเคลื่อน วิสัยทัศน์ พันธกิจ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยยั่งยืน เสาเข็มประชาธิปไตย หมายความว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่เต็มแผ่นดิน ยังไม่ได้ประสานเป็น model รับรู้ว่ามีอยู่ ดำรงอยู่ แต่กระจัดกระจาย การสร้างพื้นที่กลางระดับตำบล ระดับชาติ ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานภาครัฐ
นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจิรญ เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย ต้องมาจากพื้นฐานประวัติศาสตร์ความเป็นอยู่ ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็งได้ ปัจจัยสำคัญ คือ เครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ มีเวทีกลาง เรื่องเครือข่าย ผมเติบโตมาจากสายสุขภาพ ก่อนหน้านั้นทำงานกระทรวงสาธารณสุข และมาอยู่ที่สช. เรื่องเครือข่าย เรามีเครือข่ายเยอะแยะ อย่างน้อยมี 2 เครือข่ายใหญ่ เช่น แพทย์ชนบท การทำงานพัฒนาสุขภาพกับพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน เครือข่าย มีฐานอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนทั้งหลาย มีทั้งฐานปฏิบัติการ กำลังคน นักวิชาการ ที่สำคัญมีงบประมาณของตัวเอง และความศรัทธาของพื้นที่ มีหน่วยงานด้านสุขภาพ นอกเหนือจากสาธารณสุข สสส.สป.สช. สช. มีกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่สป.สช. ทำงานร่วมกับท้องถิ่น คู่ขนานกับกองทุนสวัสดิการชุมชนของพอช. กองทุนสุขภาพมีเกือบ 7,000 แห่ง มีเงินงบประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท พอช.มีสภาองค์กรชุมชน เป็นกำลังสำคัญในพื้นที่ มีกองทุนสวัสดิการชุมชนหลายพันแห่ง ถือเป็นฐานสำคัญ กรณี สช. มีเครือข่ายที่อาจซ้อน ๆ กันอยู่ ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ สุขภาพจังหวัดของพื้นที่ มีธรรมนูญข้อตกลงของชุมชนในการรับมือกับปัญหา งานวิจัยฯ จะสามารถบูรณาการเครือข่ายในพื้นที่ภาคสังคม ภาคสุขภาพ เป็นตัวอย่างสำคัญเปิดพื้นที่กลาง สร้างการมีส่วนร่วม ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจ ไปตั้งอยู่ในระดับตำบล ทำให้มีฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน
นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นวัตกรรมทางสังคม เป็นเชิงนามธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมประกอบด้วย มนุษย์ มีจิตวิญญาณ ทางอารมณ์ แต่ไม่ยากหากจะทำงานวิจัย จากประสบการณ์การทำงานผมยืนยันว่าพื้นที่พัฒนาได้ง่าย คือ พื้นที่เข้มแข็ง ต้องยอมรับว่า 7,000 กว่าตำบล พี่น้องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีแค่ 10% พร้อมที่จะมีส่วนร่วมทุกเรื่อง กลุ่ม 2 ระดับกลาง ๆ ข้าราชการเกษียณที่อยู่ในชุมชน เริ่มมีเยอะขึ้น กลุ่ม 3 หาเช้ากินค่ำ ที่มีอยู่เยอะ เราต้องเข้าใจบริบทของชุมชนก่อน สิ่งที่พยายามจะบอกคือ ในแต่ละชุมชน กรมการพัฒนาชุมชนทำเรื่องชุมชนเข้มแข็งมายาวนาน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนถือว่าเก่ง มีจำนวน 7,000 กว่าตำบล ระบบการกระจายอำนาจ ประชาธิปไตยไทยต้องดูบริบทของพื้นที่ หากคุณทำสภาพลเมืองให้เข้มแข็ง เปรียบเหมือน “ป่าล้อมเมือง” คาดหวังว่า สภาองค์กรชุมชนจะทำให้คนในชุมชนมีสำนึกที่เข้มแข็งพึ่งพาตนเอง สมาชิกชุมชนจะช่วยเหลือกัน ยกระดับไปสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง”
กระบวนการและขั้นตอนงานวิจัยฯ เป็นเพียงแนวทางในการสร้างชุมชนเข้มแข็งในระดับพื้นที่ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับตำบลจะเป็นพื้นฐานมาสู่การสร้างความเข้มแข็งในระดับจังหวัด ซึ่งนัยที่สำคัญของความเข้มแข็งดังกล่าวคือ “ชุมชน” มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการคำหนดทิศทางการพัฒนาหรือมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่นั้น ๆ การที่ประชาชนหรือชุมชนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทั้งระดับตำบลและระดับจังหวัด สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยชุมชนหรือประชาธิปไตยฐานราก และรากฐานเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญของ “ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย”