สุพรรณบุรี : วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ภาคกลางและตะวันตก นำโดยนายศุภสิทธิ์ ศรีสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ปฏิบัติการพื้นที่) พร้อมด้วย นางดวงเดือน พร้าวตะครุ หัวหน้ากลุ่มจังหวัด ภาคกลางตอนล่าง 1 นางสาวเรวดี อุลิต หัวหน้างานวิชาการ นายวัฒนา วะบุตรดี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส และนางสาววศัลย์ศยา บุญเกิน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน ร่วมกับนายทองใบ สิงสีทา หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน พอช. ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี ประชุมออกแบบการขับเคลื่อนงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง “1 พื้นที่บูรณการทุกเนื้องาน” การสนับสนุนติดตามการขับเคลื่อนงานโครงการขาเคลื่อนและขาลง ปี 2566 และการพัฒนาศักยภาพคนทำงานในระดับพื้นที่ ณ ห้องประชุมคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชน ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี
ในการขับเคลื่อนงาน ปี 2566 กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 เน้นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยคนในพื้นที่เป็นหลัก ในการคิดออกแบบงานในระดับตำบลแล้วไปเคลื่อนงานในระดับชุมชนหรือหมู่บ้านโยงกลับมาที่ระดับตำบล โดยใช้การสำรวจข้อมูล mapping เนื้องานที่มีการขับเคลื่อนและหน่วยงานที่ทำงานด้วย บูรณาการแผนงานและงบประมาณที่ได้รับจากแต่ละโครงการ/หน่วยงานในการแก้ไขปัญหา พัฒนาพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาชุมชนทุกมิติร่วมกัน ก่อนที่จะประมวลเป็นแผนพัฒนาระดับจังหวัดของภาคประชาชน เพื่อเสนอต่อจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแผนพัฒนานั้นต้องตรงกับปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน ไม่ผูกติดกับงงานของ พอช. แต่ใช้เนื้องานและงบประมาณ พอช. เป็นเครื่องมือตั้งต้นในการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น
จากการประชุมดังกล่าวยังได้นำมาสู่การออกแบบการทำงานของทั้ง 3 จังหวัด โดยเบื้องต้นจะมีการจัดเวทีเรียนรู้การทำงานเชิงบูรณาการทุกประเด็นงาน (อาทิ การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ) ในพื้นที่ตำบลตัวอย่าง ประกอบด้วย ตำบลรั้วใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลเขาขลุง จังหวัดราชบุรี และตำบลช่องสะเดา จังหวัดกาญจนบุรี โดยประเดิมเวทีแรกที่ตำบลรั้วใหญ่ ในวันที่ 28 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ มีผู้แทนจากทั้ง 3 จังหวัด และผู้แทนพื้นที่รับงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในจังหวัดสุพรรณบุรี และเจ้าหน้าที่ พอช.เข้าร่วม รวมถึงได้ร่วมกันออกแบบการพัฒนาศักยภาพแกนนำขบวนองค์กรชุมชนและกองเลขาจังหวัดและคนทำงานในพื้นที่ โดยมีเนื้อหาสำคัญประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพด้านการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระดับจังหวัด กลุ่มจังกวัด การพัฒนาด้านระบบข้อมูล การสื่อสาร การจัดการความรู้ การจัดการเอกสาร การสร้างนักจัดกระบวนการมืออาชีพ ตลอดจนการพัฒนา เป็นต้น
รายงาน : เรวดี อุลิต