วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ต่อระบบหลักประกันสุขภาพ นำโดย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ พอช. และผู้นำขบวนองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมเวที จำนวน 130 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)
นายกฤษดา สมประสงค์
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึง เป้าหมายการทำงานของ พอช. คือสร้างความเข้มแข็งของชุมชนสู่ท้องถิ่น ให้ขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก โดยขับเคลื่อนผ่านประเด็นงานการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง สวัสดิการชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน รวมไปถึงการทำให้มีอาชีพ รายได้ ที่มั่นคง สร้างเศรษฐกิจฐานราก จากการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชน
สำหรับความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นนี้ของ 2 หน่วยงาน จะช่วยการส่งเสริมสนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ได้รับความรู้ สิทธิการที่จะได้รับการบริการ หรือแม้แต่การนำเงินกองทุนในพื้นที่มาใช้เพื่อการพัฒนาสุขภาพอนามัย เวทีที่จะสร้างองค์ความรู้ขององค์กรชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกลไกระดับพื้นที่ทั้งในระดับเขต ท้องที่ ท้องถิ่น จังหวัด ขยายผลให้ครบทุกเขตท้องถิ่น ในการทำงานร่วมกันระหว่างขบวนองค์กรชุมชนเป้าหมายต่อไป คือการทำบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมมือการทำงานระหว่าง พอช. สปสช. ขบวนองค์กรชุมชน ที่ให้พอช.ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายกฤษดา กล่าวในตอนท้าย
ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข
ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เจตนารมณ์ในการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เป็นหลักประกันที่สร้างให้ทุกคนเป็นเจ้าของระบบ สร้างการมีส่วนร่วม ทุกคนมีสิทธิ มีเสียง โดยมีการพัฒนาช่องทางการสื่อสาร ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เช่น การสร้างระบบ หน่วย 50(5) เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ให้บริการ ดูแลผู้รับบริการที่มาใช้บริการ มีเวทีการรับฟังความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริหาร และผู้รับบริการ ทุกปี เพื่อให้ระบบดีขึ้น มีประสิทธิภาพและทุกคนสามารถเข้าถึงได้เริ่มมีการทำงานเป็นเครือข่ายมากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรี เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการ ลดช่องว่างการเข้าถึงข้อมูลและการบริการระหว่าง สปสช. กับประชาชนในชุมชน ที่ยังมีช่องโหว่ในการรับรู้เรื่องราว ทำให้ประชาชนไม่รู้ และเข้าไม่ถึง สปสช.ไม่รู้ปัญหาในการปฏิบัติจริงในพื้นที่
ในเวทียังได้มีการระดมข้อเสนอแนะและกำหนดจังหว่ะก้าวจากขบวนองค์กรชุมชน ต่อ สปสช. สรุปได้ดังนี้ 1.ด้านกลไก องค์ประกอบคณะทำงานกองทุนสปสช.ระดับตำบล/เขต ทบทวนกลไกคณะทำงาน/มีองค์ประกอบหลากหลาย เสนอให้มีแกนนำ/ผู้แทนชุมชน (สภาองค์กรชุมชน/กองทุนสวัสดิการ/เครือข่ายที่อยู่อาศัย) เข้าไปเป็นองค์ประกอบคณะทำงาน โดยกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน เสนอให้พัฒนาศักยภาพ-ความรู้-ความเข้าใจ-การทำงานเชิงยุทธศาสตร์ คณะทำงาน เพื่อมีแนวปฏิบัติในการส่งเสริมและสนับสนุนในทิศทางเดียวกัน 2.ด้านกรอบการใช้งบประมาณ/หมวดกิจกรรมที่จะของบฯสนับสนุนได้ ทบทวนระเบียบ/ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนโครงการและงบประมาณ สปสช. ควรมีระเบียบของตนเอง ไม่อ้างอิงตามกทม. หรือของสำนักงานเขต ให้มีช่องทางการเข้าถึงงบฯสำหรับสภาองค์กรชุมชน/กองทุนสวัสดิการ/เครือข่ายที่อยู่อาศัยพัฒนาศักยภาพชุมชนในการเขียนโครงการ กำหนดตัวชี้วัดพื้นที่ (กลุ่มเป้าหมายที่รับงบฯมาจากชุมชน กี่%, กลุ่มเป้าหมายที่มาจาก อปท. รพ. รพสต. กี่%) / และทบทวนการวัดผลในมิติสุขภาพ ควรออกแบบการใช้งบฯร่วมกับกลุ่มเป้าหมายกิจกรรมให้มากที่สุด มีรูปแบบกิจกรรมที่จะสามารถนำงบฯไปปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม กรณี ใช้งบฯไม่หมดภายในปี สปสช.ควรทบทวนเรื่องการกระจายงบฯลงพื้นที่ ทบทวนเรื่องระบบเอกสาร/ขั้นตอน การเบิกจ่ายงบฯ และการรายงานผล 3.ด้านการให้บริการ/ให้คำปรึกษา พัฒนาศักยภาพชุมชนให้สามารถให้บริการ/ให้คำปรึกษาสุขภาพแก่สมาชิกได้ 4.อื่นๆ เชื่อมโยง/พัฒนาเครือข่ายชุมชน มีงบฯสนับสนุนเครือข่าย/คนทำงาน (งบฯบริหารจัดการ 10% รวมอยู่ในโครงการ)บรูณาการการทำงานร่วม ระหว่าง สปสช. พอช. เครือข่ายชุมชนในพื้นที่