นครศรีธรรมราช/ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 คณะทำงานเครือข่ายเมือง หัวไทร ลานสกา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคใต้ นางสาวเจนจินตา กั่งเซ่ง ลงพื้นที่ตำบลท่าเรือในการจัดทำการประเมินชุมชนเข้มเเข็ง เพื่อใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล 5 ปีทุกมิติการพัฒนา โดยมีท้องที่ ท้องถิ่น ผอ.รพ.สต.บ้านไม้แดง คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าเรือ และคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าเรือ ร่วมสร้างกระบวนการในการออกแบบการขับเคลื่อนงานภายใต้แผนพัฒนาตำบลของตำบลท่าเรือ
จากการที่ตำบลท่าเรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2566 จาก พอช. จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการบ้านพอเพียงจำนวน 20 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในกระบวนการซ่อม ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีสภาพที่มั่นคง แข็งแรง บางครัวเรือนได้ดำเนินการเสร็จแล้ว บางส่วนกำลังดำเนินการเพื่อให้ทันกับระยะการรายงานผลงวดที่ 1 2) โครงการไฟไหม้ไล่รื้อ ที่สนับสนุนงบประมาณให้กับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเวนคืนที่ดิน จำนวน 5 ครัวเรือน ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเเล้ว อยู่ในขั้นตอนการปิดโครงการ 3) ตำบลรูปธรรมการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการจัดทำแผนพัฒนาตำบลและรูปธรรมการขับเคลื่อนงาน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีในท้องถิ่น ซึ่งตำบลท่าเรือมีต้นทุนด้านบุคคล ทรัพยากรและทุนกลุ่มอาชีพที่สร้างชื่อเสียงให้ตำบลท่าเรือเป็นจำนวนมาก และ 4) โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน โดยตำบลท่าเรือได้รับการสนับสนุนงบสมทบจาก พอช. มากที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นกองทุนที่มีการจัดการบริหารกองทุนที่ดี เนื่องจากมีระบบการตรวจสอบบัญชีจากภายนอก ทุก 6 เดือน และมีการนำระบบโปรแกรมมาใช้ในการดำเนินการ คือระบบ CWF รวมทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าเรือยังเป็นหนึ่งในตำบลที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการอบรมระบบโปรแกรม SWF และยังร่วมวางแผนการขยายฐานทะเบียนสมาชิกโดยการให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าเรือ สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าเรือ เข้าร่วมในการประชุมประจำเดือนเเต่ละหมู่บ้านทั้ง 19 หมู่บ้าน ในการช่วยการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนงาน รวมถึงการขยายฐานสมาชิกกองทุนให้มากกว่าเดิม เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายในการจัดสมัชชากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าเรือสักครั้ง
โดยการขยายการทำงานแบ่งเป็นโซนหมู่บ้าน เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการจัดเก็บเงินเเละการจัดทำทะเบียนข้อมูลของเเต่ละโซนหมู่บ้าน อีกทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนพร้อมจะบูรณาการทำงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชนในการเสริมสร้างความเข้มเเข็งให้กับตำบล ภายใต้การขับเคลื่อนงานของชุมชนเอง ผลการประเมินชุมชนเข้มแข็งอยู่ในระดับ ดีเยี่ยม