กาฬสินธุ์ / 29 พฤศจิกายน 2565 ณ สนามโรงเรียนชุมชนโพนงามประสาทศิลป์ อําเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ สภาองค์กรชุมชนตําบลโพนงาม และองค์การบริหารส่วนตําบลโพนงาม ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนษุย์จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ส่วนราชการ สถานศึกษา ผู้นําชุมชนตําบลโพนงาม และกลุ่มเครือข่ายเกษตรบ้านสวน 8 เครือข่าย กลุ่มเกษตรบ้านสวน/ปลูกผักปลอดสาร, กลุ่มเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ, กลุ่มแปรรูปสมุนไพร, กลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุ, กลุ่มสภาวัฒนธรรม, กลุ่มสินค้า OTOP, กลุ่มเด็กและเยาวชน, กลุ่มคนรุ่นใหม่ (จักจั่นทีม) ร่วมจัดงาน “มหกรรมเกษตรบ้านสวนจักจั่นสมาร์ทฟาร์ม” ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทตำบลโพนงาม เพื่อเชื่อมโยงประสานงานระหว่างองค์กร ภาคี และเครือข่าย ทั้งในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน และเป็นการพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สามารถรองรับการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งได้ในอนาคต รวมทั้งให้คนตำบลโพนงามได้นำหลักเกษตรบ้านสวนและสวนในบ้านไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตช่วยลดปัญหาหนี้สินสร้างรายได้ในครัวเรือน
นายบุญเลิศ มหิพันธุ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลโพนงาม และประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโพนงาม กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมเกษตรบ้านสวนจักจั่นสมาร์ทฟาร์ม สืบเนื่องจากอดีตที่คนตำบลโพนงาม ทำไร่ทำนาปลูกพืชปลูกผัก ตามหัวไร่ปลายนาเพื่อดำรงชีวิต ต่อมามีการพัฒนาเป็นสวน ทั้งสวนที่หัวไร่ปลายนา และสวนในบ้าน ผนวกกับทาง อบต. เห็นว่าพี่น้องยังต่างคนต่างทำ และยังเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยว จึงมีการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อน รวมทั้งผลกระทบจากโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้พี่น้องกลับบ้านมาทำเกษตรมากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะช่วยพยุง และหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้มีรายได้น้อยตำบลโพนงามได้ ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลโพนงาม จึงเสนอโครงการขอรับงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
โดยในการดำเนินงาน คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จึงได้ค้นหากลุ่มจักจั่น หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ขึ้นมา และมีการตั้งกลุ่ม 3 ระดับ ระดับพี่เลี้ยง ระดับตัวอ่อน และระดับที่ปรึกษา เพื่อสืบทอดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาหนุนเสริมการพัฒนาชุมชน เป็นคนขับเคลื่อนงานร่วมกับทางสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจักจั่นเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตำบล เปรียบเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตขึ้นมาและเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และช่วยด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้คนภายในชุมชน ได้รับทราบ และตื่นตัวพร้อมขับเคลื่อนไปร่วมกัน หรือสนับสนุนการขายสินค้าเกษตรออนไลน์อีกด้วย
ด้าน นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การจัดงานวันนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง เห็นได้จากซุ้มสินค้าชุมชนต่างๆที่ชุมชนนำขึ้นมาจัดแสดง นอกจากพลังเครือข่ายชุมชนที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตนเองแล้ว ก็จะเห็นพลังของท้องที่ท้องถิ่น ที่เข้ามาหนุนเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน พลังที่สาม พลังของหน่วยงานภาคีอย่างสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นการรวมพลังมาหนุนเสริม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จทำให้การพัฒนาชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น
ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็เป็นภาคีหนึ่งที่มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งทุกมิติ โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ โดย พอช.มีแนวทางสำคัญคือ ให้องค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนมีบทบาทหลักในการจัดการการพัฒนา เพราะคนชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าของปัญหา และลุกขึ้นมาจัดการด้วยตนเองซึ่งเป็นมิติที่สำคัญ
นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า โดยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พอช.ดำเนินการผ่านเครื่องมือ หรือโครงการต่างๆ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งเป็นกลไกของชุมชนที่มีสถานะในทางกฎหมาย พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล 2551 โดยสภาองค์กรชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบล กลุ่มเกษตร กลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ มาโยงกันเป็นกลไกกลางของชุมชนในการปรึกษาหารือ วางแผนการพัฒนา และแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ ตัวอย่างที่ตำบลโพนงาม ที่เมื่อก่อนต่างคนต่างทำ ทำเกษตรเชิงเดี่ยว สภาองค์กรชุมชนตำบลโพนงามจึงได้มีการเชื่อมโยงกับทางท้องที่ท้องถิ่น
อีกโครงการคือ กองทุนสวัสดิการชุมชน ที่เป็นกองทุนสวัสดิการของชาวบ้าน ในการดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือคนในชุมชนตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย โครงการที่สาม โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองและชนบท ทั้งบ้านมั่นคงเมือง บ้านมั่นคงชนบท บ้านพอเพียง บ้านริมคลอง เป็นต้น และโครงการที่มาโยงกับตำบลโพนงาม คือโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ที่ลงไปถึงสมาชิกในครัวเรือน อย่างที่สภาองค์กรชุมชนตำบลโพนงามได้ริเริ่มเครือข่ายเกษตรบ้านสวน ที่ไปเสริมต้นทุนในตำบลที่มีอยู่ ให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น ในภาคอีสานมีจำนวน 201 โครงการ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์มี 8 ตำบล ตำบลโพนงามก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยผ่านทางกลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นผู้ดำเนินการ
ซึ่งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตำบลโพนงาม สื่อถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เกษตรอินทรีย์ โยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และที่เป็นจุดเด่นคือ จักจั่น เป็นกุศโลบายการพัฒนาคนโดยใช้จักจั่นเป็นสื่อ เพื่อสานต่อวิถีเกษตรคนตำบลโพนงาม ปัจจัยสำคัญคือการเชื่อมโยงบูรณาการการทำงาน โดยโพนงามจะเป็นโมเดลที่สร้างการเรียนรู้ ในการยกระดับรูปธรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติต่อไป
อย่างไรก็ดี งานนี้นอกจากการเสวนาแล้ว ยังมีการจัดซุ้มนิทรรศการ แสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน มีการประกวดผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การประกวดซุ้มนิทรรศการเกษตรบ้านสวน มีการแสดงจากนักเรียน การแสดงศิลปะพื้นบ้านการแสดงจากโรงเรียนผู้สูงอายุตําบลโพนงาม การแข่งขันการเขวี้ยงมัดฟางข้าว แข่งขันหว่านแหบกอีกด้วย
ทั้งนี้งานมหกรรมเกษตรบ้านสวนจักจั่นสมาร์ทฟาร์ม ได้สะท้อนภาพความร่วมมือของคนในตำบลและหน่วยงานภาคี ที่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน บนฐานการทำเกษตรบ้านสวน พัฒนาแหล่งอาหารในครัวเรือน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป