มุกดาหาร/ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชุมสรุปบทเรียนการดำเนินงานปี 2565 พร้อมทบทวนกลไกการทำงาน และวางทิศทางจังหวะก้าวปี 2566 ณ ศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดมุกดาหาร วัดคำสายทอง อ.เมือง จ.มุกดาหาร โดยมีแกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชน และเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมการประชุม
นายศศิพงษา จันทรสาขา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร กล่าวถึงยุทธศาสาตร์คนมุกดาหาร ที่ว่า “มุกดาหารเมืองสามธรรม ชุมชนเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันการพัฒนา” ธรรมประการที่ 1 คือ ธรรมะ ที่เครือข่ายภาคประชาชนในนามสมาคมเครือข่ายเมือง 3 ธรรม ได้มีส่วนร่วมในการผลักดัน กิจกรรมจุดเทียนขึ้นภู บูชาพระใหญ่ ภายใต้งานมหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ ธรรมประการที่ 2 คือ ธรรมชาติ ได้มีการทำเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ภูสีฐาน และห้วยแข้ และธรรมที่ 3 วัฒนธรรม มีการร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีงานบุญข้าวยาคู โดยมีฐานสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดมุกดาหารเป็นกำลังสำคัญ
นอกจากนั้น ในการขับเคลื่อนของภาคประชาชนมุกดาหาร ยังสามารถผลักดันแผนภาคประชาชนบรรจุเข้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่มุ่งแก้ปัญหาเรื่องความยากจน หรือการร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว.) ที่ส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวตกรรม รวมทั้งการหนุนเสริมอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลมีบทบาทในการชี้เป้า
อาจารย์สุริยะ พิศิษฐอรรถการ ประธานสมาคมเครือข่ายมุกดาหารเมืองสามธรรม กล่าวว่า บทเรียนการทำงานจากการออกแบบกลไกการทำงาน ที่ปีนี้มุกดาหารแบ่งทีมออกเป็น 3 โซน เป็นการออกแบบที่ดีที่กระจายอำนาจ การบริหารจัดการและงบประมาณลงไปที่โซน เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมเชื่อมโยงการทำงาน แต่การเตรียมการยังไม่ดีพอขาดการทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ภารกิจ การประสาน สื่อสารการทำงานร่วมกัน ทำให้การทำงานโซนไม่เป็นจริง อยู่ในอาการโซนเดิม ซ้อนโซนใหม่ ในการแบ่งโซนการทำงาน อย่างกรณีบ้านพอเพียง ที่มีงบติดตามการทำงาน แต่ไม่มีการแบ่งบทบาทที่ชัดเจน ไม่มีการพูดคุยประสานงานเนื่องจากอยู่ไกลกัน มีการทำงานที่แข็งตัว รอประธานสั่งการ การจัดกลไกโซนอำเภอ 3 เป็นพื้นที่กลางของอำเภอที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่การจัดการยังอยู่ที่กลไกอำเภอเดิม เจตนาในการออกแบบการทำงานเป็นโซน เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการหารือแลกเปลี่ยน และสนับสนุน หนุนเสริมการทำงาน
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้หารือถึงข้อจำกัดในการดำเนินงานที่ผ่านมา และได้ร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการพัฒนาจากฐานสภาองค์กรชุมชนตำบลที่เข้มแข็ง และสร้างแรงเหวี่ยงไปที่ตำบลข้างเคียง ซึ่งทางท้องถิ่นหลายแห่งมีความพร้อมที่ต้องการสร้างผลงานในการดูแลพี่น้องด้านที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต และกลุ่มผู้เปราะบาง ผู้พิการ เด็กและคนชรา ในส่วนของการพัฒนาคนในขบวน การฟื้นฟูพัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบล การพัฒนาคนรุ่นใหม่ในขบวนนั้น ต้องรู้ข้อจำกัด เข้าใจบริบท ต้องมีการพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วม แต่จะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาต้องตอบโจทย์ชีวิต หรือการพัฒนาทีมงานในระดับเครือข่าย ที่ต้องค้นหาปัจจัยแล้วค่อยใส่ปัจจัยนำเข้าให้ตรงกับความต้องการ โดยที่ประชุมนัดหมายหารือต่อในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เพื่อลงรายละเอียดต่อไป