อุดรธานี / วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมคณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 3/2565 ปีงบประมาณ 2566 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น ณ ห้องประชุมพรรณศิริ ชั้น 1 โรงแรมเดอะพรรณราย อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายเชิด สิงห์คำป้อง และนายสุพัฒน์ จันทนา ประธานคณะอนุกรรมการร่วม และคณะอนุกรรมการภาค ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมการประชุม เพื่อหารือทิศทางการทำงาน ติดตามความคืบหน้าเรื่องสืบเนื่อง พิจารณารับรองกลไกบริหารเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับจังหวัดระดับกลุ่มจังหวัด คณะทำงานพิจารณาโครงการกลุ่มจังหวัด 5 กลุ่มจังหวัด และพิจารณากรอบงบประมาณ แนวทาง กระบวนการและแผนงานงบประมาณปี 2566
นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาค (ขวามือ)
นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอช. กล่าวถึงทิศทางการทำงานของคณะกรรมการสถาบันและแนวนโยบายของผู้อำนวยการ พอช. โดยกล่าวว่า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. มีนโยบายต่อยอดพัฒนาการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน การพัฒนาผู้นำ การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย ผ่านการต่อยอดและเสริมประสิทธิภาพงาน ที่พอช.ริเริ่มไว้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มุ่งสู่การพึ่งตนเองภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 7 ด้าน 1) โรงเรียนพัฒนาผู้นำชุมชน การพัฒนาผู้นำเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาคนของอีสาน 2) ป่าชุมชนเพื่อการจัดการตนเอง การจัดการทรัพยากร โยงไปสู่การทำงานเรื่องป่าชุมชน 3) การพัฒนาสื่อและช่องทางที่เอื้อต่อการเข้าถึงประชาชน/ท้องถิ่น 4) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐให้เป็นพี่เลี้ยงและถ่ายทอดบริการภาครัฐให้เข้าถึงองค์กร ขบวนชุมชน 5) การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการจัดการตนเองของภาคประชาชน 6) การปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบข้อบังคับให้เอื้อต่องานพัฒนาชุมชน และ 7) ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนสนับสนุนการพัฒนาชุมชน เป็นการคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และจะโยงไปสู่การปฏิบัติ
ในส่วนของนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีแนวคิด ทิศทางคล้ายกันหนุนชุมชนเข้มแข็งทั้งแผ่นดิน สร้างการเป็นหุ้นส่วน บูรณาการ และให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตองค์กรทั้งผู้นำชุมชน ขบวน และเจ้าหน้าที่ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการกระจายระบบการทำงานให้ใกล้ชิดกับพื้นที่ ระบบกลุ่มจังหวัดน่าจะเป็นกลไกสำคัญ เซ็ตระบบให้เป็นจริง รูปธรรมโครงการปี 2566 กระจายการพิจารณาไปที่กลุ่มจังหวัด สอดคล้องกับแนวทางของคณะอนุกรรมการภาคอีสาน ที่ผ่องถ่ายไปที่กลุ่มจังหวัด ทดลองการทำงานใช้โครงการเป็นเครื่องมือ
โดยวิสัยทัศน์ 20 ปีของพอช.และชุมชน ปี 2579 ชุมชนเข้มแข็งทั้งแผ่นดิน มีการทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี (2566-2570) ที่ขบวนมีส่วนร่วมในการออกแบบโดยมีอาจารย์จากนิด้ามาช่วยจัดทำ ซึ่งมีประเด็นการพัฒนา 4 เรื่อง 1)ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง 2)การสานพลังชุมชนและภาคี 3)การพัฒนาขีดความสามารถของผู้นำ และ4)ระบบการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม จากแผน 5 ปีของ พอช. เชื่อมโยงโยงกับการสนับสนุนโครงการปี 2566 ที่มีกรอบงบประมาณกระจายมาที่ภาคอีสาน 5 หมวดงบประมาณ วงเงิน 217,292,180 บาท ที่ประชุมคณะอนุกรรมการภาค ได้เห็นชอบกรอบงบประมาณ เป็นดังนี้ 1) โครงการผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านพอเพียง) 4,950 ครัวเรือน 105,168,000 บาท 2) โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน 632 กองทุน (สมาชิก 508,305 คน) 93,626,180 บาท 3) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท 120 ตำบล/เมือง 6,320,000 บาท 4) โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วม ฯ ภาคอีสาน : 68 ตำบล/เมือง 5 จังหวัด 2,486,000 บาท และ 5) ชุมชนท้องถิ่นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาฯ 9,692,000 บาท พัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล 414 ตำบล จัดทำแผนพัฒนา 504 ตำบล เพื่อหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งต่อไป