กรุงเทพมหานคร : วันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2565 ขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก ร่วมกับคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการสวัสดิการชุมชน การขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ เครือข่าย 5 ภาค “ภาคกลางและตะวันตก” ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก 13 จังหวัด คณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. รวมประมาณ 60 คน
ในการประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ภาคกลางและตะวันตก สถานการณ์โลกและสังคมไทยที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน ทิศทางใหม่ในการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการชุมชน ทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และการแบ่งกลุ่มย่อยระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ของภาคกลางและตะวันตก เวทีเสวนาแนวทางการหนุนเสริมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน รวมถึงการเติมต็ม ให้ข้อเสนอแนะ และกำลังใจต่อการพัฒนาคุณภาพกองทุน
ภาพรวมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการกองทุนภาคกลางและตะวันตก
นายนัฐ แก้วสว่าง ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก กล่าวว่า ภาคกลางและตะวันตกมี 13 จังหวัด มีพื้นที่เขตการปกครองส่วนท้องถิ่น 1,128 แห่ง จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน (ที่ได้รับการสมทบงบประมาณ 1 : 1 จากรัฐบาล) จำนวน 741 อปท. คิดเป็นร้อยละ 65.69 สมาชิกกองทุน 516,400 คน มีสัดส่วนที่เป็นบุคคลทั่วไป 239,415 คน คิดเป็นร้อยละ 46.36 รองลงมาเป็นผู้สูงอายุ 208,119 คน คิดเป็นร้อยละ 40.30 ส่วนที่เหลือเป็นเด็ก ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และอื่นๆ มียอดเงินกองทุนสะสมทั้งหมด 1,558,553,312.75 บาท แหล่งที่มาของเงินกองทุนมาจากยอดสะสมของสมาชิก 958,207,004 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.48 รองลงมาเป็นงบประมาณที่รัฐบาลสมทบผ่าน พอช. 328,187,510 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.89 ส่วนที่เหลือเป็นการสมทบโดยท้องถิ่น 127,090,056 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.15 และมาจาการสบทบอื่นๆ 132,584,491.75 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.48 ที่ผ่านมาได้มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและคนในชุมชนแล้ว 323,439 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 675,283,745 บาท
สถานการณ์โลกและสังคมไทยที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ต่อมา ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ บอร์ด พอช. ได้ร่วมบรรยายผ่านระบบโปรแกรมซูมว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ต้องการสร้างการกินดีอยู่ดีให้กับคนในชุมชนเป็นวาทกรรมที่ดี แต่นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันยังตอบโจทย์ได้บางเรื่อง ดังนั้น การดูแลของกองทุนสวัสดิการชุมชนต้องไม่ซ้ำกับรัฐแต่จะเสริมรัฐได้อย่างไร ในอนาคตต้องสร้างสวัสดิการแบบใหม่ เพื่อเสริม ทดแทนสวัสดิการที่รัฐจัดให้แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด
“การที่เราต้องการมีสมาชิก 10 ล้านคน หากยังมีผู้สูงอายุ 7 ล้านคน มีคนรุ่นใหม่และวัยกลางคนน้อยกองทุนสวัสดิการชุมชนจะบริหารจัดการอย่างไร การมีสมาชิกเยอะเป็นสิ่งที่ดีแต่หากมีค่าใช้จ่ายมากจะจัดสวัสดิการอย่างไร เพราะรัฐบาลมีเงินมากกว่าก็ยังทำไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ทั่วถึง ในอนาคตกองทุนสวัสดิการชุมชนจำเป็นหรือไม่ที่จะมาดูแลคนที่ตายแล้ว จะป้องกันปัญหาหรือดูแลคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร หากในอนาคตเงินสมทบจากรัฐบาลลดลง กองทุนสวัสดิการชุมชนควรต้องคิดใหม่ปรับปรุงระบบที่หน่วยงานรัฐ เอกชนทำแล้วมีปัญหา เราไปหยิบบางตัวมาทำ หากทำแล้วลดค่าใช้จ่ายหรือมีประสิทธิภาพดีกว่า จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐได้ไม่ยาก ดีกว่าหวังเพียงแค่การสนับสนุนผ่าน พอช.” ที่ปรึกษาบอร์ด พอช.กล่าว
ผศ.ดร.จิตติ กล่าวต่อว่า โดยหลักวิชาการกองทุนจะยั่งยืนได้ต้องลดจากการทำธุรกรรมทุกชนิด มีการต่อตรงระหว่างชุมชนกับชุมชนมากขึ้น ผ่านมือคนอื่นน้อยลง มีการระดมทรัพยากรธรรมชาติ ลดการพึ่งพิงจากภายนอกให้มากที่สุด ในอนาคตอยากเห็นกองทุนแต่ละแห่งจัดสวัสดิการไม่เหมือนกันเพื่อให้คนอยู่ดีมีสุข ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่าเงินที่จ่ายไปช่วยคนได้ถึงฝั่งหรือไม่ เพื่อให้กองทุนสวัสดิการเป็นเครื่องมือในการทำให้คนกินดีอยู่ดีจริงๆ ไม่ใช่ช่วยแค่ครั้งคราว นอกจากนี้ในอนาคตต้องคิดเรื่องการสะสมอย่างอื่นที่มากกว่าเงิน ปรับเปลี่ยนสวัสดิการที่เน้นการแก้ไขที่ต้นเหตุได้มากขึ้น แทนการแก้ปัญหาตอนปลาย โดยการบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ลดการทำงานแบบแยกส่วน รวมทั้งต้องปักหมุดทำให้เกิดผลงานที่ชัดเจน หากมีการประเมินผลหรือพิสูจน์ได้ว่าการที่ทำเองหรือทำร่วมกับหน่วยงานตอบโจทย์ SDGs ข้อใด เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างแน่นอน
ทิศทางใหม่ในการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการชุมชน
นายแก้ว สังข์ชู ประธานคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า ในปี 2566 ต้องออกแบบจัดกลไกคนทำงานใหม่ เน้นการจัดคณะทำงานระดับโซน ออกแบบวางแผนสร้างคนทำงาน จะทำให้ได้แนวทางใหม่และมีความเข้มแข็งขึ้น และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในกระบวนการ รวมถึงการคิดเรื่องการสมทบกองทุนโดยไม่ใช้เงิน เช่น การใช้ขยะ ความดี ธนาคารต้นไม้ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนเปราะบางและด้อยโอกาสที่ไม่มีเงินมาสมทบ โดยสวัสดิการเป็นแค่เครื่องมือ เป้าหมายพุ่งไปที่คน พื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทุกคนต้องเข้าถึงให้ได้ และทำให้เกิดความยั่งยืน กองทุนสวัสดิการตามปรัชญาของอาจารย์ป๋วย คือ ทำให้คนมีคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเจ็บป่วย แต่รวมถึงเรื่องอาหารการกิน การศึกษา สุขภาพ ให้น้ำหนักกับคนก่อนตายมากกว่าตอนที่ตายแล้ว วันนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ใช้คุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นตัวตั้ง เราไม่ได้ทำเพื่อ พอช. แต่ทำเพื่อทุกคน เป็นสมบัติที่สร้างไว้ให้ลูกหลาน สร้างอนาคตให้กับคนฐานราก โดย พอช.มีหน้าที่ทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งและส่งไม้ต่อเชิงนโยบาย
ทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช.
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า เป้าหมายของการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ การตั้งกองทุนให้เต็มพื้นที่ ซึ่งยังเหลืออยู่อีก 2,000 กว่า อปท. และเป้าหมายสมาชิก 10 ล้านคน โดยจะเคลื่อนกันเป็นเครือข่ายเพื่อดูแลพี่น้องในพื้นที่ให้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ในปีนี้จะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ การฟื้นฟูกองทุนที่เดินต่อไม่ได้ให้มีความแข็งแรง การพัฒนากองทุนที่ไม่เข้มแข็งให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ และทำให้กองทุนที่แข็งแรงแล้วสามารถติดปีกบินไปหากินได้เองโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจาก พอช. พร้อมกันนี้จะมีการผลักดันปลดล็อคการสมทบรอบ 3 และการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการร่วมสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน
“มิติสำคัญของการเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นรูปแบบของการใช้ต้นไม้สมทบเป็นสวัสดิการชุมชนแทนเงิน เป็นอีกมิติหนึ่งที่จะขยับทำงานร่วมกัน ช่วงต่อจากนี้จะพยายามไปเชื่อมต่อกับระบบองคาพยพ ใช้มิติพลังภาคีเครือข่ายภายนอกทั้งภาคเอกชน จิตอาสาที่มีความพร้อมมาช่วยกันแก้ปัญหาสังคมและความยากจน เป็นการเคลื่อนยุทธศาสตร์อีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังจะมีการปลดล็อคการสมทบรอบ 3 ให้ได้ และจะผลักดันเรื่องการลดหย่อนภาษีให้กับภาคเอกชนที่มาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย” ผู้อำนวยการ พอช. กล่าว
นายสิน สื่อสวน ผู้ทรงคุณวุฒิคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สมาชิกเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในคราวเดียวกัน ภายใต้แนวคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” ประกอบกับการพึ่งพาตนเอง ช่วยกันเอง และช่วยสังคม โดยไม่รองบประมาณของรัฐ แต่ที่ผ่านมาอาจมีการเข้าใจคาดเคลื่อนโดยเฉพาะการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในตำบล ทำให้บางพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการตามอุดมการณ์หรือหลักคิดของการก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงได้วางระดับการขับเคลื่อนในเชิงนโนยาย 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) สร้างความเข้าใจอุดมการณ์เจตนารมย์ของการก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแก่กรรมการ สมาชิก และประชาชนทั่วไป ให้เกิดการรับรู้รับทราบตามแนวคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่ามีศักดิ์ศรี” 2) เข้าถึงประชาชนในตำบลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เป็นกองทุนของคนทั้งตำบล และกองทุนสวัสดิการชุมชนจะต้องคิดวิธีการเข้าหาประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในตำบล 3) เข้าถึงปัญหา เพื่อบรรเทาทุกข์ให้คนในตำบลตั้งแต่เกิดจนตาย 4) เข้าถึงคุณภาพ ผ่านการจัดระบบการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน 5) เข้าถึงเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติการ ที่ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการจัดสวัสดิการให้กับคนในพื้นที่ สู่การยกระดับบทบาทการชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายใหกับหน่วยงานภาคี ยกระดับระบบสวัสดิการชุมชนเป็นหนึ่งในระบบสวัสดิการสังคม เพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ภายใต้การพัฒนาพื้นที่เป็นตัวตั้ง คือ องค์กรชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นองคาพยพ ทั้งนี้ จะต้องมีการถ่ายทอดและสร้างคนรุ่นใหม่ให้มารับช่วงต่องานสวัสดิการชุมชนด้วย เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมและสร้างบทบาทการทำงานร่วมกัน
เสวนาแนวทางการหนุนเสริมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี ผู้แทนภาคีวิชาการ และผู้แทนคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน โดยมีนายชัยวิชญ์ภณ ตังกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายศิวโรฒ จิตนิยม เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก กล่าวถึงการจัดการตนเองของชุมชนโดยกองทุนสวัสดิการชุมชนว่า รูปแบบการจัดการชุมชนของกองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้เป้าหมายการประสานความสุขร่วมกัน ประกอบด้วย 1) จัดการตนเองได้ โดยมีการปรับวิธีคิด “พึ่งคนอื่นให้น้อยลง ใช้ศักยภาพของเราให้มากขึ้น” 2) ลดความทุกข์ของประชาชน ด้วยแผนแม่บทชุมชน 3) สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย เปิดโอกาสให้มีการรวมตัวกันได้ 121 กลุ่ม และจัดทำแผนพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชน พร้อมทั้งขยายความเข้มแข็งใน 5 องค์กร ได้แก่ ด้านอาชีพ (13 กลุ่มอาชีพ) ด้านสุขภาพ ด้านการเงิน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสวัสดิการชุมชน (ครบวงจร) พร้อมทั้ง คัดเลือกสมาชิกเป็นแกนนำเป็นสภาผู้นำจำนวน 79 คน 4) ประสานความร่วมมือ ทั้งกลุ่มองค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภายใต้การยอมรับในศักยภาพของตนเอง เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือตามความต้องการของตำบล
นางสาวน้ำค้าง คันธรักษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการชุมชนในระดับจังหวัดว่า ในฐานะพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ที่ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาชน มีช่องทางให้ภาคประชาชน ได้แก่ ‘กองทุนสวัสดิการสังคม’ ซึ่งภาคประชาชนสามารถเขียนโครงการในการเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ได้ โดยพื้นที่และขบวนองค์กรชุมชนสามารถสร้างความพร้อมผ่านการวิเคราะห์สภาพปัญหา และเตรียมการในการจัดทำแผนที่จะเชื่อมโยงกับแผนกับหน่วยงานระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาบรรจุในแผนพัฒนาของจังหวัดได้ เช่น การปรับสภาพแวดล้อมด้านที่อยู่อาศัย การแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น เช่นเดียวกับจังหวัดสระบุรี ที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ดำเนินการเสนอแผนงาน/ โครงการ ที่สอดคล้องกับแผนภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปี จนได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาของจังหวัดในที่สุด เป็นผลให้ส่วนราชการในจังหวัดเริ่มให้การยอมรับและทำงานกับขบวนองค์กรชุมชนเพิ่มมากขึ้น
นายจักรกฤษณ์ โพธิ์แพงพุ่ม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในการหนุนเสริมงานสวัสดิการชุมชนว่า สถาบันการศึกษาล้วนมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการเป็นคู่คิดและร่วมเรียนรู้ให้กับชุมชน ผ่านการใช้ทักษะความรู้ในการพูดคุยและเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ชุมชนยังสามารถใช้สถาบันการศึกษาเป็นสถานที่ในการพบปะหรือพูดคุย เชื่อมโยงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกันได้ โดยเฉพาะสวัสดิการชุมชนที่ดูแลคนทุกช่วงวัย ที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งที่เชื่อมต่อกันระหว่างสถาบันการศึกษาและกลุ่มองค์กรชุมชนในพื้นที่ ซึ่งสถาบันการศึกษาเองยังมีสถาบันวิจัยและงานบริการวิชาการ ที่มีความพร้อมในการสนับสนุนงานวิจัยของชุมชนอีกด้วย
ดร. มณเทียร สอดเนื่อง ผู้แทนอนุกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ว่า สวัสดิการชุมชนถือเป็นงานสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เนื่องจากเป็นงานที่ลงมือดำเนินการกันเอง ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากภาคประชาชน แต่ด้วยประสบการณ์ชุดความรู้เดิมที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาจทำให้บางกองทุนไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้เท่าที่ควร จึงต้องมีการยกระดับการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลกและประเทศไทย เช่น การรองรับสังคมสูงวัย เป็นต้น โดยจะต้องพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีคุณภาพ และปรับระบบการส่งเสริมและสนับสนุนสวัสดิการชุมชนให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ จะต้องทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกองทุนกลางที่มุ่งตอบโจทย์ในภาพรวมของคนในตำบล ถือเป็น “กองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบล” จัดสวัสดิการที่สะท้อนความสุขและคุณภาพชีวิตที่ทุกคนสามารถรับประโยชน์ร่วมกันแม้ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ สร้างการมีส่วนร่วม เกิดการทำงานในเชิงรุกและเชิงบวกเพื่อปรับวิธีคิดที่มุ่งให้เกิดการวิเคราะห์และแสวงหาทางออก สู่การลงมือปฏิบัติในทุกเรื่อง นอกจากนี้ ยังต้องสร้างและหารายได้ของตนเองด้วย
สุดท้ายมีการให้แนวคิดการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ของภาคกลางและตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการปรับความคิด ปรับการกระทำ และปรับเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบันและสร้างสวัสดิการใจให้มีความเข้มแข็ง ประกอบกับการสร้างเครือข่ายและหน่วยงานภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะกิจกรรม CSR ของภาคเอกชน ที่ต้องใช้พื้นที่ของชุมชนในการดำเนินงาน รวมถึงได้มีข้อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตั้งงบประมาณกลางเพื่อการช่วยเหลือภัยพิบัติโดยสนับสนุนผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชนในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมถึงรัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายในการส่งเสริมเงินออก พร้อมทั้ง จัดสรรเงินภาษีร้อยละ 1% ให้สนับสนุนเงินกองทุนสวัสดิการชุมชน และลดอัตราภาษีร้อยละ 2% ในการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างองค์กรชุมชนด้วย
เติมเต็มและให้กำลังใจการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน
สุดท้าย นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกลางและตะวันตก กล่าวว่าเติมเต็มและให้กำลังใจผู้เข้าร่วมในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนว่า สวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการทั่วประเทศ ที่มาจากเงินประชาชน เงินรัฐบาล มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เริ่มต้นจากการช่วยเหลือกันซึ่งเป็นคุณค่าแห่งความดี ซึ่งถ้าเราสร้างให้เกิดความเคยชินจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนในตำบล เพื่อให้นำพาสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าการช่วยเหลือและรอรับจากสถานการณ์ความทุกข์ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการพัฒนา ลดความทุกข์ในทุกระดับ มองเงินเป็นทุน มองการช่วยเหลือเป็นงานพัฒนา ซึ่งต้องมีการสร้างคนหรือทีมงานให้เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าภาคกลางและตะวันตกกำลังสร้างคนในเพิ่มมากขึ้นผ่านงานสวัสดิการชุมชน และจะสามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ผ่านการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศคติในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการสร้างวิธีการทำงาน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตกับคนในตำบล สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่รักษามาตรฐานในการทำงานและมุ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ในงานสวัสดิการชุมชนให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
รายงาน : เรวดี อุลิต / ศรสวรรค์ เฉลียว