กาญจนบุรี : วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมริเวอร์แคว จังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดประชุมร่วมทีมบริหารภาค คณะอนุกรรมการภาค ผู้นำแถว 2 และเจ้าหน้าที่ รวมกว่า 60 คน ร่วมออกแบบการขับเคลื่อนงานและระบบการบริหารจัดการกลุ่มจังหวัด ผ่านแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เป็นตัวตั้งชุมชนเป็นแกนหลัก กระจายน้ำหนักสู่พื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการทำงาน
นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก พอช. กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาเป็นการทำตามคำสั่งของหน่วยงาน ซึ่ง พอช. คิดมาตลอดว่าการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งชุมชนเป็นแกนหลักจะทำให้สามารถเคลื่อนไปถึงเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม โดยใช้งานของ พอช. เป็นจุดเริ่ม
“การที่ภาคกลางและตะวันตกได้คุยกันเรื่องชุมชนเป็นแกนหลักพื้นที่เป็นตัวตั้ง นำมาสู่การใช้ทิศของจังหวัดเป็นหลักในการเคลื่อนตัว แต่การจะนำไปทำได้จริงหรือไม่อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องนำไปดำเนินการต่อ จุดที่พวกเรากำลังคิด ต้องนำไปสู่การทำงานที่ส่งผลลัพธ์ชัดเจน จึงจะนำไปอธิบายต่อคนทั่วไปได้ หากทำได้จะไม่เปลี่ยนแค่ พอช. แต่เปลี่ยนทั้งสังคม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต้องค่อยๆ พัฒนา ค่อยๆ สร้าง” ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตกกล่าว
นายปิยะ พวงสำลี ภาคีประชาสังคม กล่าวว่า การกระจายอำนาจ เป็นวิธีเดียวที่สามารถบริหารจัดการความหลากหลายได้ แต่เมืองไทยผูกขาดเรื่องนี้อยู่มาก หากเชื่อเรื่องนี้เราต้องเชื่ออย่างเต็มที่ไม่ใช่เชื่อครึ่งๆ กลางๆ เพราะจะนำไปสู่ระบบเดิม พร้อมทั้งเสนอว่าการกระนายอำนาจต้องนำไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงาน โดยต้องผนึก ผสาน หล่อหลอมแต่ละตำบล จังหวัดมาเป็นพลัง มีแผนและจังหวะก้าวการทำงานของพื้นที่ชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติจริง
ในเวทีดังกล่าวได้มีการนำเสนอการออกแบบกลไก และแนวทางการขับเคลื่อนงานปี 2566 ของทั้ง 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดกลางตอนบน กลุ่มจังหวัดกลางล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดกลางล่าง 2 นำมาสู่การกำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน โดยให้มีทีมบริหารภาคที่มาจากตัวแทนกลุ่มจังหวัด กำหนดเป้าหมายร่วม พิจารณาออกแบบงบประมาณ ระบบการทำงาน กลไก ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ตัวเองในทุกระดับ ทำงานที่มากกว่าเนื้องานของ พอช.ในรูปแบบของถาดร่วม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด กลุ่มจังหวัด และเชื่อมโยงระดับภาค พร้อมทั้งกำหนดบทบาทของแต่ละส่วนอย่างชัดเจน บริหารอย่างเท่าเทียม สร้าง “กองคลัง” ด้วยการเชื่อมโยงและสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ และเคลื่อนงานด้วยตัวชาวบ้านเอง มีเป้าหมายการขับเคลื่อนระยะใกล้-ไกล มีความเป็นไปได้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้กับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้อย่างแท้จริง โดยคณะทำงานระดับกลุ่มจังหวัดเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน เพราะมีความรู้ความเข้าใจบริบทพื้นที่เป็นอย่างดี
รายงาน : เรวดี อุลิต