ขอนแก่น / วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคอีสาน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมคณะดำเนินงานโครงการป้องกันและต่อด้านการทุจริโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และการประชุมผ่านระบบ ZOOM Meeting โดยมีผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน 8 จังหวัด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ขอนแก่น เลย มุกดาหาร ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ 4 ภาคีวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคอีสาน เข้าร่วมการประชุม เพื่อทบทวนสรุปบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา และออกแบบกรอบงบประมาณโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชนปีงบประมาณ 2566
นายวิรัตน์ สุขกุล อนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโกยภาคประชาชน เริ่มขึ้นในปี 2564 เริ่มดำเนินการท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 เริ่มในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 5 ตำบล โดยในปีแรก ปปท.สนับสนุนงบประมาณตรงจาก ปปท. การเบิกจ่ายงบประมาณใช้ระเบียบ ปปท. บทเรียนที่พบคือ ผู้นำเครือข่ายในระดับต่างๆ ได้เคร่งตนเองมากขึ้น ในการใช้จ่ายงบประมาณให้มีความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล ชาวบ้านมีความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีการประสานการทำงานร่วมกันมากขึ้น รวมทั้งหน่วยงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเครือข่ายประชาชนเป็นหลังอิง มาวันนี้เรามาร่วมกันสรุปบทเรียน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และร่วมกันออกแบบปฏิบัติการในปี 2566 ต่อไป
ในส่วนบทเรียนของอำนาจเจริญที่พบอันดับแรก คือในการสรรหาคณะทำงาน ผู้ก่อการดี เป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมการต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือได้ และองค์กรใดที่มีพลังในจังหวัดอย่างเช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เป็นพลังทางเศรษฐกิจ และองค์กรที่มีอยู่คือ ธรรมาภิบาลจังหวัด เครือข่าย STRONG ต้องชักชวนมาเป็นคณะทำงาน ถ้าสภาองค์กรชุมชนเราตั้งหลักดี มีระเบียบปฏิบัติ การบริหารจัดการที่ดีโปร่งใส จะไปได้ดี ในส่วนการคัดเลือกพื้นที่ ต้องมีการวิเคราะห์ความพร้อมของผู้นำองค์กรชุมชน ต้องไม่มีปัญหาการทุจริต และสามารถเชื่อมโยงกับผู้นำท้องที่ท้องถิ่นและหน่วยงานภาคีได้ การขับเคลื่อนที่ผ่านมามีทั้งวงในระดับจังหวัดที่เป็นทางการจากการแต่งตั้งของผู้ว่า และวงที่ไม่เป็นทางการ พื้นที่สภากลางขององค์กรชุมชนอำนาจเจริญ ในส่วนระดับตำบลนั้น ผู้นำยังไม่มีความมั่นใจในเนื้อหาสาระที่ต้องไปคุยกับท้องถิ่น ในการลงพื้นที่ต้องชวน ปปท. หรือ ปปช.ไปด้วย ถ้าดีที่สุดแต่ละตำบลต้องทำแผนร่วมกันกับทาง ปปช.จังหวัด ซึ่งมีปฏิบัติการสร้างพื้นที่ ให้ทุกตำบลชวนภาคีมาบันทึกความร่วมมือการบริหารท้องถิ่นอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาล จากการทำงานทุกตำบลที่ดำเนินโครงการจะพบว่าท้องถิ่นท้องที่มีความตื่นตัว เป็นการสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีในพื้นที่
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน ทบทวนเป้าหมายและแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ระบุว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนได้กำหนดวิสัยทัศน์ในระยะ 5 ปี “เครือข่ายภาคประชาชนเป็นแกนหลักร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆในการต่อต้านการทุจริตภายในปี 2570” เป้าหมายการดำเนินงาน สร้างองค์กรชุมชนที่มีธรรมาภิบาลสามารถ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชนเป็นแกนหลักร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งมีปฏิบัติการสำคัญ 4 ด้าน คือ 1) การสร้างจิตสำนึกประชาชน 2) การสร้างระบบพื้นที่เปิดเผยโปร่งใส ร่วมกันคิดกิจกรรมหรือเครื่องมือให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการ การใช้งบประมาณและการปฏิบัติตามกฎหมาย 3) การสร้างธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีของภาคประชาชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน และ 4) ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่
โดยการขับเคลื่อนโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม เริ่มขึ้นในปี 2564 ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการในพื้นที่ 5 ตำบล ต่อมาในปี 2565 ขยายจากอำนาจเจริญ จาก 1 จังหวัด 5 ตำบล เป็น 5 จังหวัด 35 ตำบล และเป้าหมายปี 2566 มีพื้นที่เป้าหมายตำบลใหม่ 38 ตำบล นำร่องที่จังหวัดยโสธร 18 ตำบล ศรีสะเกษ 10 ตำบล และอุบลราชธานี 10 ตำบล และพื้นที่เดิม จำนวน 30 ตำบล งบประมาณรวม 2,486,000 บาท (สองล้านสี่แสนแปดหมื่นหกพันบาทถ้วน) ซึ่งจะหารือการจัดกรอบงบประมาณในวงนี้ ก่อนที่จะเสนอคณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พิจารณาให้ความเห็นชอบ
นายธนบดี กุมพิทักษ์ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานของจังหวัดขอนแก่น โดยกล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นดำเนินการในปี 2565 จำนวน 7 ตำบล ในการพัฒนาโครงการนั้น จะมีการเชิญผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลมาพัฒนาสิ่งที่จะทำร่วมกัน และมีคณะทำงานพิจารณาโครงการมาช่วยกลั่นกรองสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่ขึ้นโครงการ คำถามที่พบคืออำนาจหน้าที่ของประชาชนมีมากขนาดไหน แม้ไม่มีอำนาจหน้าที่ปราบปราม แต่ประชาชนก็มีบทบาทในการมีส่วนร่วม ซึ่งมีการเปิดเวทีในระดับจังหวัด โดยเชิญทั้ง 7 ตำบล มาทำความเข้าใจ และมีการพัฒนาหลักสูตรเนื้อหากระบวนการที่จะจัดเวทีในระดับพื้นที่ร่วมกันกับทาง ปปท. และมีทีมพี่เลี้ยงช่วยแต่ละตำบลประสานงาน ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล
ในเวทีการสร้างการเรียนรู้ วิทยากรหลักคือ ปปท.เขต 4 จะมีเนื้อหา ที่มา ความรู้ความเข้าใจ บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ความรู้ทางกฎหมาย วิธีการ โทษ สิ่งที่ประชาชนสนใจมากคือกรณีการก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ควัน กลิ่น เสียง ขยะ ฯลฯ และในช่วงบ่ายจะมีการนำเสนอแผนพัฒนาของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการรับรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่าย การสร้างการตรวจสอบภายในของกองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบล สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล ในการดำเนินการบ้านพอเพียง การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน การจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการซ่อมสร้าง ทั้งนี้ผลการจัดเวทีได้นำเสนอในระดับจังหวัด อบจ.รับเรื่องไว้ ในส่วนจังหวัด ได้นำเสนอเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัด และเกิดเครือข่ายในพื้นที่ 7 ตำบล
นางสาวประณิตา ลาวะลี เลขาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่าจากธรรมราชบุรีรัมย์ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี ของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ นำไปสู่การสร้างกระบวนการและเครือข่ายต่อต้านการทุจริตใน 7 ตำบล ซึ่งมีการขยายผลในเครือข่ายระดับอำเภอ 16 อำเภอ จากทั้งจังหวัด 23 อำเภอ โดยมีการประสานเชื่อมโยงกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ธรรมภิบาลจังหวัด เครือข่าย STRONG เครือข่ายเด็กและเยาวชน และนักเรียนในพื้นที่ดำเนินการ 7 ตำบล การสรุปบทเรียนที่ผ่านมา พบว่าระดับตำบล มีการตั้งกลุ่ม แจ้งเบาะแส สอดส่อง เดินรณรงค์สร้างการรับรู้ มีการยื่นข้อเสนอในระดับอำเภอ มีปฏิบัติการปั่นจักรยานรณรงค์ต้านการทุจริต มีการประกวดคำขวัญ มีการทำมรดกการทำเรื่องดีกับการปลูกต้นไม้ มีการเชื่อม “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน มีการประสานงานหน่วยงานทุกระดับในพื้นที่ มีการทำสปอตเปิดทางหอกระจายข่าวในตำบล และมีการขยายผลของบจากวัฒนธรรมจังหวัด ร่วมจัดงานสังคมคุณธรรม
นายยงค์ยุทธ บวรธนเรืองกุล นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ปปท. เขต 4 กล่าวว่า ท่านผู้บริหารเน้นย้ำ ให้หนุนเสริมการป้องกันการทุจริตภาคประชาชน โดยกิจกรรมในปี 2565 ได้หนุนเสริมภาคประชาชนให้เห็นความสำคัญและตื่นตัว สอดคล้องกับนโยบาย ปปท. ภายใต้บันทึกความร่วมมือ แม้จะมีข้อจำกัดที่มีบุคลากรในเขตมีน้อย แต่ปปท.เขต4 ก็หนุนเสริมเรื่องความรู้ให้กับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกัน แต่ยังเหลือในเรื่องมาตรการกลไกป้องกัน การสร้างกลไกการป้องกันการทุจริตในพื้นที่ กลไกเฝ้าระวังแจ้งเบาะแส ป้องกันและป้องปรามที่จะเน้นให้เกิดขึ้นต่อไป
จากการประชุม 3 ฝ่าย ระหว่างเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ปปท. และพอช.เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้เห็นร่วมกันในเรื่อง เป้าหมายของความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล สำนักงาน ปปท. และ พอช. เพื่อเสริมสร้างบทบาทและความสามารถกับเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรชุมชน ในการขับเคลื่อนงานการเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริตในระดับพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
โดยเป้าหมายพื้นที่ ต้องการให้เกิด 1) เกิดการรวมกลุ่มของเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการทุจริต ทั้งระดับจังหวัดและตำบล ที่ดำเนินการในชุมชนโดยตรง 2) เกิดแผนด้านการต่อต้านการทุจริตของเครือข่ายภาคประชาชน และสามารถนำแผนไปบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่น/ท้องที่ 3) เกิดรูปธรรมและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ หรือรับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบ
ในส่วนตัวชี้วัดร่วม 3 ฝ่าย มีด้วยกัน 6 ด้านคือ 1) มีการจัดตั้งและพัฒนาเครือข่ายฯ ที่มีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันของภาคประชาชน องค์กรชุมชน ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม (อย่างน้อย 7 จังหวัด จำนวน 210 ตำบล/เทศบาล) 2) มีเครือข่ายฯ ที่ผ่านการคัดเลือกเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบ (ไม่น้อยกว่า 20 เครือข่าย) 3) มีแผนด้านการต่อต้านการทุจริตของเครือข่ายภาคประชาชน และสามารถนำแผนไปบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่น/ท้องที่ (อย่างน้อย 7 จังหวัด จำนวน 210 ตำบล/เทศบาล) 4) มีการเฝ้าระวัง/การแจ้งเบาะแสในพื้นที่ มายังสำนักงาน ป.ป.ท. (ไม่น้อยกว่า 10 ครั้งต่อปี/จังหวัด) 5) มีรูปธรรม นวัตกรรม และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในพื้นที่ ที่สามารถสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ (อย่างน้อยเดือนละ 1 เรื่อง/จังหวัด) และ 6) มีการจัดสมัชชาการขับเคลื่อนงานต่อต้านการทุจริตเพื่อการสื่อสารสู่สังคม (ปีละ 1 ครั้ง)
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหารือ ผศ.นพดล ธีระวงศ์ภิญโญ และอาจารย์สากล พรหมสถิตย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนงานโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมจังหวัดบุรีรัมย์ และนายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ได้กล่าวถึงเป้าหมายทิศทางการขับเคลื่อน ผ่านระบบ ZOOM Meeting
ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือออกแบบกรอบงบประมาณโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีการจัดกรอบงบประมาณทั้งในระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับตำบล ก่อนที่จะเสนอต่อคณะอนุนกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ต่อไป