บุรีรัมย์/ ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์หลังเก่า อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมสรุปบทเรียนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ การจัดกลไกคณะทำงาน การทบทวนบทบาทหน้าที่ การขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา การดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคี ความสำเร็จความภาคภูมิใจ ข้อจำกัดและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาขบวน จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรชุมชน โครงการสวัสดิการชุมชน โครงการบ้านพอเพียง โครงการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท โดยมีประธานขบวนจังหวัด กองเลขาจังหวัด ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน แกนนำโซน อาจารย์ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคอีสาน เข้าร่วมการประชุมสรุปบทเรียน
นางสาวคีย์ญาชล เวฬุวนารักษ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (อีสานใต้1) ประมวลข้อมูลจากการสรุปบทเรียน พบว่า โครงการเสริมสร้างฯ ได้ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานกับท้องถิ่น เกิดแผนพัฒนาตำบล มีการทบทวนสภาครบวาระ มีคณะทำงานที่เข้มแข็ง และมีการประสานงานช่วยเหลือการทำงาน โดยหัวใจอยู่ที่ภารกิจ ตามมาตรา 21 ใน พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนตำบล ที่เราต้องช่วยหนุนเสริมความเข้มแข็งร่วมกัน
ประเด็นที่ 2 โครงการสวัสดิการชุมชน พบว่า บุรีรัมย์มีการจัดระบบการดำเนินงานส่งเสริมการทำงานสร้างเครือข่ายการทำงาน มีการประสานความร่วมมือหน่วยงานภาคี มีการแบ่งบทบาทหน้าที่คณะกรรมการแต่ละระดับโซน/อำเภอ และมีการเสริมสร้างการทำงานของคณะกรรมการให้มีศักยภาพ
ประเด็นที่ 3 ปปท. โครงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ พบว่า เกิดระบบการรับเรื่องร้องเรียน และช่องทางการสื่อสารออนไลน์ เกิดการรณรงค์ เวทีเสวนา การป้องกันต่อต้านการทุจริต สร้างกระบวนการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ และคนในพื้นที่ตื่นตัวและร่วมเป็นเครือข่ายภาคประชาชนร่วมดำเนินการสร้างระบบธรรมภิบาล
ประเด็นที่ 4 โครงการบ้านพอเพียง จากการแลกเปลี่ยนสรุปบทเรียน พบว่า โครงการบ้านพอเพียงเป็นโครงการที่สนับสนุนช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้จริง มีกลไกคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีกรรมการตรวจรับ จัดซื้อ ติดตาม ประสานงานงบเพิ่มเติม มีการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย ประสานงานการสนับสนุนเพิ่มเติม รวมทั้งสร้างงานสร้างรายได้ เช่น อสม. พัฒนาชุมชน กศน. เป็นต้น และเกิดการประสานภาคีเพิ่มเติมในการสนับสนุนวัสดุ และแรงงาน
ประเด็นที่ 5 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท จังหวัดบุรีรัมย์ได้ดำเนินโครงการรวม 23 ตำบล งบประมาณ 1,840,000 บาท สนับสนุนความอยู่ดีมีสุขของคนบุรีรัมย์ในหลากหลายมิติและรูปธรรม อาทิเช่น ที่ตำบลลำไทรโยง ทำเรื่องโคพลิกชีวิต มีสถาบันการศึกษาช่วยสนับสนุนความรู้อย่างต่อเนื่องทั้งความรู้การเลี้ยงวัง การทำอาหารวัว การทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือที่ตำบลบ้านเป้า พัฒนาคุณภาพชีวิตจากการแปรรูป สร้างอาชีพเสริมจาก ผ้า กระเป๋า และของชำร่วยต่างๆ หรือที่ตำบลหินโคน ทำของชำร่วยจากเศษผ้าไหม พวงกุญแจ กล่องทิชชู ที่ตำบลทุ่งแสงทอง ทำเรื่องแปรรูปกล้วยฉาบ น้ำมันไพล กระเป๋า ฯลฯ ที่ตำบลสะเดา ทำเรื่อง “พริกพลิกชีวิต” ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ปลูกพริก แปรรูปพริก
อย่างไรก็ตาม ตำบลที่ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ได้นำเสนอผลงาน บอกเล่าความสำเร็จความภาคภูมิใจจากการทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ผ่านตัวสินค้าชุมชนและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มต้นกันอย่างไร ทำไมถึงทำสิ่งนี้ ทำแล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง จะพัฒนาต่อยอดอะไรหลังจากนี้ สิ่งที่ทำจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขได้หรือไม่อย่างไร โดยที่ประชุมได้โหวตให้ผลิตภัณฑ์ “แปรรูปผ้า” ตำบลบ้านเป้า ได้ลำดับที่ 1 “พริกพลิกชีวิต” ตำบลสะเดา ได้คะแนนโหวตในอันดับที่ 2 และ “แปรรูปปลา” ตำบลยายแย้มวัฒนา ได้ลำดับที่ 3
อย่างไรก็ดี ปัจจัยความสำเร็จของเครือข่ายองค์กรชุมชนบุรีรัมย์เกิดจาก “คนทำงาน” คณะทำงาน คณะกรรมการ มีความรู้ความเข้าใจ มีจิตอาสา มีศักยภาพและมีการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง เกิดจาก “องค์กรชุมชน” มีระบบจัดการอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพมีธรรมาภิบาล มีความรู้ความเข้าใจ มีการเรียนรู้และพัฒนา และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งงบประมาณ บุคลากรและองค์ความรู้ เกิดจาก “กระบวนการ” เกิดจากการมีส่วนร่วม มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี มีการระดมความคิดเห็น ไม่ได้ทำงานคนเดียว สร้างการรับรู้ในชุมชน มีภาคีการทำงานเชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ และต่อยอดทุนเดิมของชุมชน และความสำเร็จมาจาก “การหนุนเสริมจากภาคี” มีภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน วัด บ้าน โรงเรียน ท้องถิ่นท้องที่ และสถาบันการศึกษา มีการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. และการทำงานอย่างเป็นเครือข่าย เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของคนบุรีรัมย์
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ที่ว่า “นครแห่งความสุข” จากการประสานภาคี หนุนเสริมชุมชนเข้มแข็ง ตามวิถีประชาธิปไตยชุมชน โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน การพัฒนาคน เครือข่ายองค์กรชุมชนเขิมแข็ง บูรณาการภาคีทุกภาคส่วน พัฒนาระบบข้อมูลการจัดการความรู้ การบริหารจัดการที่ดีและมีการติดตามประเมินผล และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนบุรีรัมย์ต่อไป