กาญจนบุรี : วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมอาคารบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ร่วมกับสำนักงานภาคกลางและตะวันตก และสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง พอช. จัดเวทีสร้างความเข้าใจแนวทางขับเคลื่อนงานการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรชุมชน ปี 2566 แก่ผู้นำตำบลพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดกาญจนบุรี 24 ตำบล และผู้แทนเครือข่ายจังหวัดสุพรรณบุรี และราชบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ พอช.ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เวทีดังกล่าวมีประเด็นสำคัญ คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักคิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรชุมชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต โดยนายสิน สื่อสวน ประธานคณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต และแนวทางการดำเนินงานการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรชุมชน แผนการดำเนินงาน ปี 2566 โดยนายสามารถ สุขบรรจง หัวหน้าสำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และการแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนงานโดยผู้เข้าร่วม
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนงานดังกล่าวดำเนินการโดยผ่านงบประมาณมายัง พอช. ลงสู่พื้นที่ตำบล มาตั้งแต่ปี 2564 ในพื้นที่ 17 จังหวัด 147 ตำบล และปี 2566 มีเป้าหมายขยายพื้นที่เพิ่มเติม 7 จังหวัด จำนวน 210 ตำบล มีหลักการทำงาน คือ เครือข่ายภาคประชาชนเป็นแกนหลัก เน้นกระบวนการทำงานแบบล่างขึ้นบน มุ่งสู่ผลลัพธ์ แก้ปัญหาในพื้นที่ ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรียนรู้คู่การปฏิบัติตลอดเวลา และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผ่านกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ สร้างการรับรู้และจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่ สร้างระบบพื้นที่เปิดเผยโปร่งใสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลโครงการและงบประมาณ สร้างธรรมาภิบาลภาคประชาชน องค์กรชุมชน และปฏิบัติการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่ ดำเนินงานตามขั้นตอนการทำงาน 8 ขั้น ประกอบด้วย 1) รวมกลุ่มแกนนำก่อการดี ชวนกันมาคุย 2) วิเคราะห์พื้นที่ปัญหา 3) สร้างพันธิมิตรความร่วมมือ 4) หารือวางแผนปฏิบัติการ 5) ดำเนินงานตามแผนให้เกิดผล 6) ชวนคนสรุปบทเรียน ประเมินค่า 7) จัดสมัชชา เผยแพร่ขยายผล 8) ภาคประชาชนร่วมพลังผลักดัน โดยมีกลไกหลักในพื้นที่ คือ เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน สภาเด็กและเยาวชน ประสานการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน สถานศึกษาและองค์กรทางศาสนา ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาสังคมและสื่อมวลชน
นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง แกนนำขบวนจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ปีนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะภาษีและงบประมาณที่ลงไปในระดับพื้นที่หากถูกเบียดบังจะทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณไปดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายผลกระทบมาตกที่ประชาชน
“ส่วนหนึ่งเกิดจากความดูดาย ความกลัวของพวกเรา ทำอย่างไรที่จะกระตุ้นพี่น้องในพื้นที่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เราไม่ได้ต่อต้านแต่ทำอย่างไรที่จะรู้เทคนิควิธีการตรวจสอบและช่องทางการนำเสนอให้เกิดกระบวนการตรวจสอบได้ หากเป็นเช่นนี้จะลดการเบียดบังงบประมาณได้ วันนี้ดีใจที่พวกเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อน สิ่งที่สำคัญที่สุดเราจะไปสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้กับคนในพื้นที่ มีกลไกการนำเรื่องราวระดับหมู่บ้านมารวบรวมและนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และจะดูแลขยายเครือข่ายให้ครบทุกตำบลได้อย่างไร” นายพิพัฒน์กล่าว