ภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก / ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) คณะทำงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ เครือข่าย 5 ภาค” โดยมีตัวแทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั้ง 13 จังหวัด นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายสิน สื่อสวน ผู้ทรงคุณวุฒิคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน นายแก้ว สังข์ชู ประธานคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน คณะทำงานอนุกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับชาติ ท้องถิ่นจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สถาบันการศึกษา และเจ้าหน้าที่พอช. เข้าร่วมกว่า 130 คน
การจัดเวทีในครั้งนี้เป็นนโยบายเครือข่ายสวัสดิการระดับชาติ โดยมีแผนการเชื่อมร้อยฟื้นฟูเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ซึ่งมีแผนงานที่ต้องดำเนินการเพิ่ม จึงเป็นที่มาในการจัดสัมมนาเครือข่ายสวัสดิการทั่วประเทศทุกภาค ที่มีเป้าหมาย ดังนี้ 1)เพื่อให้เกิดการรับรู้รับทราบสถานการณ์โลก และสังคมที่เปลี่ยนไป เศรษฐกิจ การเมืองสงคราม รัสเซีย- อิรัก-อร่าน จีน-ไต้หวัน นวัตกรรมการจัดสวัสดิการเพื่อรองรับสังคมใหม่ 2)เพื่อทำความเข้าใจการขับเคลื่อนสวัสดิการแนวใหม่ สู่การยกระดับไปสู่ทิศทางใหม่ เราอาจจะหมดพลัง เหนือยล้าไปบ้าง แต่ทิศทางใหม่จะขับเคลื่อนไปอย่างไร ที่ทำให้มีความสุขมากขึ้น นโยบายที่มาสนับสนุน 3)เพื่อให้เกิดการรับรู้ทิศทางการหนุนเสริมจาก พอช. จากคณะกรรมการชุดใหม่ ผู้อำนวยการคนใหม่ 4)เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัด พมจ.
กิจกรรมในการสัมมนา มีการแสดงวัฒนธรรมชุมชน กลองยาว จังหวัดสมุทรปราการ และได้มีการรายงานผลการดำเนินงานและสถานการณ์สวัสดิการชุมชนภาคฯ ต่อที่ประชุมได้รับทราบ ต่อมาสถานการณ์โลกและสังคมไทยที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการชุมชนโดย ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสวัสดิการ ทิศทางใหม่ในการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการชุมชน โดย นายแก้ว สังข์ชู ประธานคณะอนุกรรมการภาคเหนือมีการแลกเปลี่ยนแนวทางสำคัญต่อการพัฒนายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนโดยการแบ่งกลุ่มย่อย 3 กลุ่มจังหวัด และมีการให้ความคิดเห็น เติมเต็มโดยนายสิน สื่อสวน ผู้ทรงคุณวุฒิคณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา กล่าวว่า ทิศทางการจัดกองทุนสวัสดิการชุมชนในอนาคต ต้องเปลี่ยนจากการสะสมเงิน เป็นสินทรัพย์อื่นๆ ที่มูลค่าและคุณค่าไม่ลดลง ปรับ/เปลี่ยนประเภทสวัสดิการ ลดการช่วยที่ปลายเหตุ เพิ่มการแก้ที่ต้นเหตุ ลดการพึ่งพิงภาครัฐ แต่เพิ่มจากภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งธรรมชาติ ลดการทำงานแบบแยกส่วน แต่บูรณาการกับส่วนอื่น ๆ ให้มากขึ้นมีระบบการจัดการแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล สู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายและเครื่องมือการสื่อสาร เพื่อการวัดผลกองทุนสวัสดิการว่าสามารถตอบโจทย์ SDG ข้อใดบ้าง
ด้าน นายแก้ว สังข์ชู กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนสวัสดิการเป็นองค์กรด้านสังคมที่ใช้เงินดูแลพี่น้องประชาชน ไม่ใช่องค์กรการเงิน ฉะนั้นการสร้างแนวทางสวัสดิการแนวใหม่ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้าถึงกองทุนสวัสดิการ เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการโดยใช้ทุนชุมชนในรูปแบบใหม่ คนที่ไม่สามารถจ่ายเป็นเงินวันละบาทได้ เปลี่ยนเป็นการปลูกต้นไม้แทนการจ่ายเงิน ปลูกต้นไม้คนละ 20 ต้น และลงทะเบียนไว้ ระยะ 15 ปี ก็จะสามารถสร้างทุนเพื่อจัดสวัสดิการดูแลกัน หรือการเปลี่ยนขยะมาสร้างสวัสดิการ โดยมีกลไกสนับสนุนการพัฒนากองทุนสวัดิการระดับจังหวัดในการดูแลกองทุนสวัสดิการชุมชน จัดทีมทำงานเป็นโซน เพิ่มคนรุ่นใหม่ในการบริหารกองทุนสวัสดิการในจังหวัด เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเรียนรู้และสืบทอด สร้างวาระชีวิต วาระสังคม พึ่งตนเองก่อน พึ่งผู้อื่น เพื่อประโยชน์ต่อสังคม และประเทศ
นอกจากนี้ยังมี เวทีเสวนา “แนวทางการหนุนเสริม การขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน” โดยนางสาวน้อมละมูล พันธุ์พิจิตร คณะทำงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก ผศ.ดร.เรวดี ศักดิ์ดุลยธรรม ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ นายเฉลิม ประสาททอง ท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม นางสาวสิทธิอาพร เชยนาค พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฉะเชิงเทรา ดร.มณเทียร สอดเนื่อง อนุกรรมการสวัสดิการชุมชน ดำเนินการโดย นายยุทธพงษ์ เขื่อนเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค

ปิดท้ายเวทีสัมมนาโดยการสรุปภาพรวมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสวัสดิการชุมชน การขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ เครือข่าย 5 ภาค และกล่าวปิดการสัมมนาฯ โดย นางสาวสุมล ยางสูง ผู้อำนวยการภาคฯ และการแสดงวัฒนธรรมชุมชนโดย กลุ่มผู้สูงอายุ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองท่าโขลง จ.ปทุมธานี
