กระทรวง พม. / การจัดงาน ‘20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย’ เมื่อวันที่ 29 กันยายน ระหว่างเวลา 13.30-16.30 น. พอช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีเสวนา เรื่อง “การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง : พลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ห้องประชุมประชาบดี กระทรวง พม. โดยมีผู้แทนชุมชน ภาคีเครือข่าย นักวิชาการ และผู้บริหาร พอช.ร่วมเสวนา มีสาระสำคัญดังนี้
ประสบการณ์จากตำบลแจงงาม จ.สุพรรณบุรี “ถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก เชื่อว่าจะรับมือได้”
นายเชน กาฬษร ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไทร จังหวัดสุพรรณบุรี อดีตกำนันตำบลแจงงาม ซึ่งมีบทบาทในการนำชาวชุมชนร่วมกันรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไก
เริ่มตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเริ่มปิดหมู่บ้านในวันที่ 12 กรกฎาคม ใช้การสื่อสารผ่าน facebook ผ่าน line เพื่อแจ้งข่าวสาร และห้ามคนเข้า-ออกในหมู่บ้าน มีตัวแทนหมู่บ้าน ๆ ละ 4 คน ช่วยกันส่งอาหาร ยาสมุนไพรให้ผู้ติดเชื้อกักตัวอยู่ในหมู่บ้าน เพราะโรงพยาบาลเตียงเต็ม จึงต้องกักตัวและดูแลรักษากันเอง มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 60 คน ผลปรากฏว่าทุกคนหายจากการติดเชื้อ ในภายหลังจึงมีบริษัทเอกชนในพื้นที่เข้ามาร่วมสนับสนุนมอบสิ่งของจำเป็นต่างๆ ให้แก่ชุมชน
“ผมเป็นกำนันตั้งแต่ปี 2533 ทำงานมา 32 ปี รับจากข้างบนตลอด เช่น มีงบประมาณขุดสระ ผมอยู่นอกเขตชลประทาน ผมต้องรับงบประมาณ มีแต่ลม ไม่มีน้ำ ล่าสุดได้งบประมาณรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท มีบริษัทมาทำให้ ผมไม่รับเพราะไม่ใช่บริบทของเรา ที่เข้มแข็งที่สุด ยั่งยืนที่สุด คือชุมชน ก่อนที่ใครจะมาช่วยเราต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน”
กำนันเชนบอก และว่า ช่วงโควิดมีบริษัทเอกชนมาบริจาค ไม่รับเงินสด ขอแต่สิ่งของ และยังเหลือของไปช่วยเหลือคนอื่น หากต่อไปเกิดโรคระบาดอีก เชื่อมั่นว่าสามารถจัดการได้
ตำบลทับพริก จ.สระแก้ว “ต้องดึงพลังคนรุ่นใหม่เข้า”
นายวิชิต คำไกร ผู้อำนวยการ รพ.สต. ทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิของสภาองค์กรชุมชนตำบลทับพริก และเลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชน ตอนทำงานในพื้นที่ใหม่ พบปัญหาเด็กไร้สัญชาติจำนวนมาก และมีคนติดยาเสพติดเยอะ จึงชวนคนติดยาเสพติดมาเป็น อสม. ภายหลังคนเหล่านี้เลิกยาได้ และเป็นแกนนำการทำงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ได้สนับสนุนให้เด็กเยาวชนไปเรียนพยาบาล เพื่อกลับมาทำงานในพื้นที่
ส่วนเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน เคยอ่านงานวิจัยฯ ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนจะดำเนินการได้เพียง 15 ปี เงินกองทุนจะหมด และอาจจะมีปัญหา จึงชวนปลูกต้นไม้ ต้นมะฮอกกานี จำนวน 5,000 ต้น เมื่อโตก็จะตัดมาขายเป็นรายได้กองทุน หรือเมื่อจะทำบ้านพอเพียง เงินที่ได้ไม่พอก็ตัดไม้มาซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งทำเรื่องอาหารในชุมชน พอ covid-19 เกิดขึ้น ก็ช่วยแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งป้องกันปัญหาแรงงานเพื่อนบ้านลักลอบข้ามแดน โดยจัดเวรตลอดแนวชายแดน ใช้สภาองค์กรชุมชนเข้าไปทำงานในส่วนต่าง ๆ ของท้องถิ่น
นอกจากนี้เขายังเสนอความเห็นว่า ควรจะมีการรวมตัวเพื่อให้มีการกระจายอำนาจ เพราะระบบราชการมีข้อจำกัด มีระเบียบมากมายที่เป็นอุปสรรค โดยเชื่อมั่นของพลังองค์กรชุมชนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ท้าทายคือ การดึงพลังคนรุ่นใหม่มาร่วมเรียนรู้ เพราะพวกเขามีความคิดที่อาจมีมากกว่าเราก็ได้
รอง ผอ.พอช. : โจทย์ที่ พอช.จะต้องทำต่อไป
นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า เรื่องของชุมชนเข้มแข็ง เข้มแข็ง จัดการตนเองได้ ยิ่งทำยิ่งมั่นใจ ว่าสิ่งที่ทำมาถูกทางแล้ว เป็นทิศทางที่ถูกต้อง นพ.ประเวศ วะสี บอกว่า หากชุมชนเข้มแข็ง 8,000 ตำบล 80,000 หมู่บ้าน หากเข้มแข็งได้จะสร้างชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศไทย
ในส่วนของพอช. มี 2 ยุคที่สำคัญ ยุคที่ 1 ใช้ประเด็นงานในการขยับ ในการเชื่อมโยงผู้คน ทำให้คนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง จากทำเล็ก ๆ ขยายครอบคลุม เกือบทุกเมือง และขยายไปสู่ชนบท
ยุคที่ 2 เราทำเรื่องสวัสดิการชุมชน เกือบเต็มทุกตำบล 5,000 -6,000 แห่ง เราทำงานประเด็นไปสักระยะหนึ่ง เราเห็นประเด็นทะลุ ตอนนั้นเราพูดถึงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ชุมชนอาจมีปัญหาหนี้สินเต็มไปหมด ทำอย่างไรจะฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นให้มาจัดการตนเอง ใช้แผนชุมชมเป็นเครื่องมือ เป็นพัฒนาการที่เราขยับกันมา ที่เราขยับมาได้ คือ
1.มีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน คือภายในอยากเห็นชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเองได้ นำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายข้างบน 2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราพึ่งคนอื่นไม่ได้ พึ่งรัฐไม่ได้ พึ่งหน่วยงานไม่ได้ ประชาชนต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อน เราไม่รอคอยใคร เราลุกขึ้นมาทำ เรามีเป้าหมายชัด
3.มีความเชื่อมั่นต่อขบวนองค์กรชุมชน เชื่อมั่นต่อชุมชน ชุมชนไม่ได้เป็นภาระ มี ขีดความสามารถ มีศักยภาพ เพียงแต่ไม่ได้รับการดึงศักยภาพออกมา เราต้องไปสร้างบทให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง อันนี้คือพลังของชุมชน ชุมชนเองก็มีการเปิดพื้นที่มากขึ้น เชื่อมโยงพลังทางสังคม โยงกับหน่วยงานการศึกษา องค์กรสื่อ นี้คือขบวนการที่เราขยับ
4.นโยบายเปิดให้เรามากขึ้น หน่วยงานภาครัฐก็เปิดให้เรามากขึ้น หน่วยงานงานราชการเห็นความสำคัญของชุมชนได้มากขึ้น ด้วยพลังชุมชนท้องถิ่นให้เราได้เคลื่อนกันมา 22 ปีแล้ว เรามั่นใจมากขึ้น พี่น้องเราเติบโตขึ้นทางความคิด งาน การเรียนรู้ มีพื้นที่รูปธรรมมากขึ้น
ในตอนท้าย รอง พอช.ผอช. กล่าวถึงโจทย์ท้าทายของ พอช. ที่จะต้องทำต่อไปว่า 1.พื้นที่รูปธรรมที่เราคิดว่าต้องขยับอย่างมาก ในทิศทางข้างหน้า ตอนนี้เรามีเชิงปริมาณมาก แต่คุณภาพ รูปธรรม มันอยู่ที่ตรงไหนบ้าง อาจจะต้องถือโอกาสทำพื้นที่การจัดการตนเองเพิ่มมากขึ้น ต้องวิเคราะห์ตนเองว่าเรามาถึงไหนแล้ว
2.บูรณาการพลังทางสังคมต้องเอาจริง เราเซ็น MoU ไม่ค่อยขยับ เซ็นแล้วต้องจับมือจริงจัง ต้องหนุนการพัฒนาข้างล่าง เปิดภาคเอกชนให้เข้ามาเยอะๆ โยงภาคเอกชนมาทำงานกับองค์กรชุมชน 3.การจัดการร่วม เราอยากจะเห็นบทของชุมชน ภาคีโยงมาจัดการบริหารร่วมกับชุมชน พอช. ไม่ควรเป็นกลไก เน้นเรื่องตัวชี้วัด แต่ควรเป็นระบบการจัดการร่วม พอช.ต้องมีกระจายบทบาท ให้พี่น้องได้ขับเคลื่อนงานพัฒนามากขึ้น การบริหารจัดการข้างในของ พอช. ต้องเอาระบบมาใช้เพิ่มขึ้น เอื้อต่อพื้นที่ วิเคราะห์และเดินไปอย่างมีพลัง
มุมมองจากนักวิชาการ ม.แม่โจ้
ดร.โอฬาร อ่องฬะ นักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุมมองของนักวิชาการ เปิดประเด็นว่า “ทำไมชุมชนต้องจัดการตนเอง ?” ระบบที่ผ่านมามีข้อจำกัด พอช. 22 ปี เหล่านี้เกิดภายใต้ผลผลิตภายใต้รัฐธรรมนูญ หลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมีพลวัตร เวลาเราทำความเข้าใจ “ความเป็นชุมชนท้องถิ่น” เราไม่สามารถมองในแบบเดิมแล้ว ชุมชนเข้มแข็ง แบบเดิมไม่พอ
“กำนันเชน ทำไมถึงดูแลคน 300 กว่าคน ทำไมถึงจัดการได้ ? หรือ ผอ.รพ.สต. ดูแลคนในพื้นที่ชายแดนได้ โดยความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น ทำให้รูปแบบองค์กร ในความวิชาการเรียนโครงสร้างนี้ เราไม่ได้ทำงานอยู่บนฐานของตัวเอง แต่เราไปยึดโยงกับโครงสร้างของคนอื่น บทบาทขององค์กรชุมชน และ พอช.เอง ต้องพยายามแสวงหาความร่วมมือบนสถานการณ์เศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลง ทำไมช่วง covid-19 ต้องไปจัดการกับภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ สะท้อนชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ระดับชุมชนกับรัฐ ได้ก้าวข้าวพรมแดนนั้นไปแล้ว” ดร.โอฬารเสนอความเห็น
ดร.โอฬาร กล่าวด้วยว่า เอกสารจาก economic forum สภาพัฒน์เอามาเป็นแผน 13 ประเด็นที่เสี่ยงสูงสุดคือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การขยายตัวแรงงานนอกระบบ คนจนขยับตัวยาก คนจนข้ามรุ่น การพัฒนาที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ทำให้เกิดคนจนข้ามรุ่น คนจนหลุดออกจากระบบ หลุดจาก TP-MAP หลายชุมชนที่เราทำงานอยู่ มีคนจนลักษณะนี้ปรากฎอยู่
ในช่วงท้าย ดร.โอฬาร กล่าวถึงข้อท้าทายของ พอช. ชุมชน และภาคีเครือข่ายว่า 1. พอช. ประชาสังคม ต้องมี system design ระบบเดิมไม่รอด ต้องออกแบบระบบการจัดการที่รวดเร็วขึ้น 2.ออกแบบสถาบันในการจัดการ ต้องพัฒนาเงื่อนไขใหม่ๆ เชื่อมโยงใหม่ 3.ต้องมีพื้นที่กลางในการพูดคุย มีตำบลเข้มแข็งที่เดียว ข้างๆ ไม่รู้จัก ทำอย่างไรให้ขยายโครงมันให้ได้
อดีต ผอ.พอช. : ข้อเสนอการปรับตัวของ พอช.
นายพลากร วงค์กองแก้ว อดีต ผอ.พอช. ในฐานะภาคประชาสังคม กล่าวว่า ภาพรวม 20 ปีที่ผ่านมา พอช.ถือว่าไม่ตกต่ำ หลายหน่วยงานมาสร้างความสัมพันธ์กับ พอช. ใช้ภาคพลเมืองของ พอช. มาร่วมกันทำงาน
กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 4 เวลาคุยก็พูดว่าเอาไปให้ใครทำ ให้ราชการทำไม่ได้ ระบบราชการทำไม่ได้ ตัวฉุดลากคือระบบราชการ ถ้าไม่มีขบวนองค์กรชุมชน ทำไม่ได้
พอช.นับวันงบจะน้อยลง ถ้าเราไม่เปลี่ยนให้เป็นความท้าทายในอนาคต พอช.จะหดแคบลงเรื่อยๆ ขบวนองค์กรชุมชนอาจจะถูกกีดกันออกจากการพัฒนา ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว พอช. รู้ตัวหรือเปล่า ? ประชาสังคมรู้ตัวหรือเปล่า ?เราจะปรับตัวได้ทันหรือเปล่า ? ถ้าอยู่แบบนี้ผมแน่ใจว่าปรับตัวไม่ทัน
“ความเสี่ยงของ พอช. ที่เขาหารือ คือสินเชื่อ ขยายปริมาณเต็มพื้นที่ เต็มประเทศ ที่เราประกาศไปว่าเต็มประเทศ ไปพร้อมกับคุณภาพหรือไม่ หรือไปแค่ปริมาณ ชาวบ้านอาจไม่ไปประท้วงที่หน้าทำเนียบ อาจจะมาประท้วงที่ พอช. การใช้งบประมาณภาครัฐเขาตามเราทุกเม็ด เวลาชาวบ้านประชุม ต้องเคลียร์เงิน ต้องทำรายงาน ประมาณ 2 หมื่นแผ่นต่อปี ระบบเราเคลียร์เอกสารเป็นหลัก แต่โลกข้างหน้าไม่รอเราแบบนี้” อดีต ผอ.พอช.ตั้งข้อสังเกต
นอกจากนี้ อดีต ผอ.พอช.ยังเสนอว่า ในโอกาสที่เรามีประธานคนใหม่ ผอ.คนใหม่ ตนเสนอให้จัดเสวนา workshop ให้ภาพเราชัดเจนขึ้น เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาจจะเชิญอาจารย์หลายคนมาคุย คุณรุ่นใหม่ที่มองขบวนเราออก เราจะทำตัวอย่างไร บทบาทอย่างไร การปรับโครงสร้าง งบประมาณ อาจจะไม่เปลี่ยนในปีสองปี แต่ก็ต้องค่อยปรับๆ
มุมมองจากไทยพีบีเอส
นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS การเลือกตั้งที่ผ่านมาบทบาทของชุมชนหายไปเยอะ อาจจะเพราะ covid-19 ด้วย ตอน covid-19 เราทำงานร่วมกับ พอช. และสช. ด้วย ช่วง covid-19 สุดท้ายจะเห็นว่าต่างจังหวัดจัดการตัวเองหมดเลย ไม่ได้พึ่งหน่วยงานรัฐ เวลาพูดถึงชุมชน จินตนาการแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ช่วง covid-19 Thai PBS อบรมนักสื่อสารชุมชน จำได้ว่าของที่ใช้ในการช่วยเหลือต้องค้นหา ต้องดูวิธีการรับมือวิกฤต เห็นการสื่อสารที่เกิดขึ้น การใช้ต้นทุนของชุมชนมาก
รอบที่ 2 ที่ใช้การจัดการของรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการถอดบทเรียน จำได้ว่ามีการช่วยเหลือ covid-19 การแนะนำของเจ้าหน้าที่ ให้พาคนไข้ไปบอกว่า อันนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ หากมองบทเรียนในช่วงวิกฤต ระดับโลก ชุมชนอาจไม่ได้สามารถจัดการได้ แต่สามารถตั้งรับได้ช่วงหนึ่ง
แม้ตอนนี้ ทุกคนจะรู้สึกว่าเงินลดลงแม้ไม่ได้ใช้จ่าย เพราะค่าเงินบาทลดลง ชุมชนซึ่งรับผลการเปลี่ยนแปลงมีแรงกระแทกตลอดเวลา ชุมชนต้องทำงานเชิงรุก ผมเห็นว่าภาครัฐเองก็ปรับตัวเยอะ อาจจะเป็นงานที่ทำร่วมกันกับ Thai PBS ก็ได้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ คนรุ่นเรากับคนรุ่นหลานจะคิดไม่เหมือนเรา เรามีสภาพว่าในชุมชนไม่มีหนุ่มสาวเข้ามา เขาไม่ได้มองชุมชนที่เขาอยู่ นับวันจะมีช่องว่างที่ห่างออกไปอยู่เรื่อย ๆ ด้วย จำเป็นว่าต้องพิจารณาว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร ไม่ใช่เลือกว่าจะเอาหรือไม่เอาเขา พอ ๆ กับต้องออกแบบการรับมือต่อไปอย่างไร
ไทยพีบีเอสพัฒนาแอป C-site ตอนแรกเราคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าถึงพื้นที่สื่อสาธารณะ เมื่อก่อนต้องฝึกอบรมชาวบ้าน ตัวของมันเอง หน้าที่คือ เป็น แอปฟลิเคชั่นสร้างฐานข้อมูลชุมชน ข้อมูลไม่หายไปไหน สร้าง clouds source ชุมชนต้องคิดเรื่องนี้ การเชื่อมระหว่างคนหลากรุ่น เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อม เป็นพื้นที่กลางได้