
สมุทรปราการ /28 กันยายน 2565 ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับ หุ้นส่วนภาคีพัฒนา นำโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรปราการ เทศบาลตำบลบางเมือง สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ จัดเวที สมัชชาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ “สานพลังภาคีพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติสู่การสร้างสุขภาวะ ๕ ดี วิถีคนสมุทรปราการ เพื่อการต่อต้านการทุจริต” ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายยุทธพงษ์ เขื่อนเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก หรือ พอช. นาวาเอก อนุศักดิ์ นาคทิม นายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง นางรพีพรรณ ศักดามินทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ หน่วยงานภาคีภาครัฐ และผู้นำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมเวที กว่า 120 คน ณ ณ ศูนย์พักรักษาใจ เทศบาลตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จังหวัดสมุทรปราการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน และต่อต้านการทุจริต เช่นเดียวกับความห่วงใยจากพี่น้องประชาชน จึงมุ่งเน้นการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความสามารถ ทักษะการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ส่งเสริมให้คนในสังคม ชุมชนมีคุณธรรม มีเหตุผล มีความพอประมาณ และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในสังคมมีความรอบรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการเสริมสร้างความสมานฉันท์ของชุมชนท้องถิ่นภายใต้แนวคิด “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน ประสานความร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดด้านต่าง ๆ เช่น ที่อยู่อาศัย สาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในด้านการบริหารจัดการที่ดีและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ภายในงานสมัชชาฯ มีการจัดแสดง “ชมเมืองปากน้ำ” โดยเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางเมือง บูธนิทรรศการรูปธรรมความสำเร็จจากโครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2565 พืชผักสวนครัว สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน และบูธนิทรรศการ การรายงานผลขับเคลื่อนงานของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้การหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้แก่ การป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท การแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกลไกความร่วมมือทุกระดับ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการหนุนเสริมและกิจกรรมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน

เวลาถัดมา มีการจัดเวทีเสวนา “สานพลังภาคีพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติสู่การสร้างสุขภาวะ ๕ ดี วิถีคนสมุทรปราการ เพื่อการต่อต้านการทุจริต”ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรปราการ (นายสมพงษ์ ศรีหงส์) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ป.ป.ท.เขต 1 (นายนิติพล ภูหงส์) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดสมุทรปราการ (นางสาวกานดา บัวแย้ม) สภาเด็กและเยาวชน (นายสุวิชา คุ้มทรัพย์) ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน (นางรพีพรรณ ศักดามินทร์)และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (นายยุทธพงษ์ เขื่อนเมือง)
นายยุทธพงษ์ เขื่อนเมือง ผช.ผอ.ภาคฯ กล่าวว่า พอช.มีบทบาทและภารกิจ “การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลักในงานพัฒนา” ผ่านเครื่องมือคือ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจและทุนชุมชน ซึ่งพอช. เอง เป็นหน่วยงานในการหนุนเสริม และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ

นางรพีพรรณ ศักดามินทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า “รูปธรรมที่สำเร็จของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินกิจกรรม 5 ดี ขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมาย 11 พื้นที่ ในการสร้างชุมชนให้เกิดรายได้ให้เกิดเศรษฐกิจที่ดีในชุมชน สร้างสุขภภาพดี สร้างสิ่งแวดล้อมดี มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ผ่านการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสังคมที่ดี โดยมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาค หุ้นส่วนการพัฒนา เช่น สถาบันการศึกษา พมจ. สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้าพระนครใต้ สู่การสร้างสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

นายสมพงษ์ ศรีหงส์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า พมจ.มุ่งเน้นให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้กินดีอยู่ดี โดยใช้หลักการ “เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” มีรูปธรรมในการเริ่มจากสวัสดิการสังคม ให้กับกลุ่มเป้าหมาย “คิดเองทำเอง” เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ เปลี่ยนจากภาระเป็นพลัง เปลี่ยนจากสงเคราะห์เป็นการมีส่วนร่วม โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนหนุนเสริมเป็นพลังภาคการพัฒนา
ปิดท้ายเวทีด้วยการระดมความคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อนำข้อมูลข้อเสนอจากขบวนองค์กรชุมชน สู่การจัดทำรายงานและเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
จะเห็นได้ว่า จังหวัดสมุทรปราการ มีแนวทางการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานภาคประชาชน ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลัก ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ผ่านการมีส่วนร่วมโดยเชื่อมโยงเครือข่าย กลุ่ม/ องค์กรชุมชนในตำบลที่มีทุนการพัฒนาด้านต่าง ๆ สร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ทำให้คนในจังหวัดสมุทรปราการมีความตื่นตัวในการร่วมกันดำเนินงานในทุกขั้นตอนของการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งทำให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การบูรณาการงานพัฒนาด้านต่าง ๆ การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ของชุมชน หน่วยงาน เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในระดับพื้นที่ รวมทั้งเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก


