ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสี่ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดได้ถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนได้เช่นกัน แต่ความยากจนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนขาดโอกาสในการมีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ซึ่งตำบลเขาดินเป็นตำบลหนึ่งในสังคมไทยที่คนในชุมชนประสบปัญหาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย จึงทำให้ผู้เดือดร้อนในชุมชนได้ลุกขึ้นแก้ปัญหานี้ ผ่านกระบวนการงานพัฒนาซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยโครงการ “บ้านมั่นคง” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์บ้านมั่นคงเมืองตำบลเขาดินเป็นองค์กรในการขับเคลื่อน จนสามารถสร้างบ้านให้กับคนจนได้มีที่อยู่อาศัยได้สำเร็จจำนวน 66 ครัวเรือน
ต่อมาปี 2564 มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในตำบลเขาดิน โดยมีเป้าหมายให้เกิดการสำรวจที่ครอบคลุมทั้งตำบล โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นองค์กรกลางในการขับเคลื่อนร่วมกับสหกรณ์บ้านมั่นคงตำบลเขาดิน จึงทำให้เกิดการจัดตั้งกลไกการทำงานที่ครอบคลุมทั้งตำบลโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้นำชุมชน กลุ่ม/องค์กรต่างๆ ทั้งสหกรณ์กรบ้านมั่นคงตำบลเขาดิน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาดินท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสภาองค์กรชุมชนได้มีการร่วมมือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้านของตำบลเขาดิน ทำให้เกิดการคัดเลือกผู้แทนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงาน
สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน และบูรณาการหน่วยงาน ท้องถิ่น
หลังจากที่ชุมชนมีเป้าหมายร่วมในการพัฒนาด้านที่ดินและอยู่อาศัยให้เกิดความครอบคลุมทั้งตำบล ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเขาดิน ผู้แทนสหกรณ์บ้านมั่นคงตำบลเขาดิน และผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลเขา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช.เข้าพบปลัดอำเภอเดิมบางนางบวช เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 เพื่อหารือและกำหนดแนวทางในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยให้มีความครอบคลุมทั้งตำบลพร้อมทั้งรายงานสถานการณ์การทำงานที่ผ่านมาและปัญหาอุปสรรคให้ปลัดอำเภอได้รับทราบเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานต่อ
ประชุมและทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการเมือง
หนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนงาน คือ การทบทวนคณะกรรมการเมือง ซึ่งได้มีการจัดตั้งขึ้นจากกระบวนการทำงานของบ้านมั่นคงเมือง เป็นโครงสร้างคณะทำงานระดับตำบลที่มีทั้งแกนนำภาคประชาชนจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ผู้แทนท้องถิ่น หน่วยงานภาคีในพื้นที่ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานร่วมกันนำสู่การพัฒนาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยทั้งตำบล ตามเป้าหมายที่ชุมชนต้องการ
การประชุมคณะกรรมการเมืองในครั้งนี้มีปลัดอำเภอเดิมบางนางบวชเป็นประธานที่ประชุม ทำให้เกิดแนวทางทบทวนโครงสร้างกลไกเดิม โดยมีมติที่ประชุมให้เพิ่มเติมคนรุ่นใหม่เข้าไปเป็นคณะกรรมการเมือง ประกอบด้วย ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเขาดิน ผู้แทนสหกรณ์บ้านมั่นคงเมืองตำบลเขาดิน ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลเขาดิน กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเขาดิน นายกเทศมนตรีตำบลเขาดิน ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์บ้านมั่นคงเมืองเขาดิน ผู้แทนผู้เดือดร้อนด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งมีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนระดับจังหวัด และผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อให้เกิดการหนุนเสริมเติมเต็มและเป็นตัวกลางในการนำประสบการณ์จากการทำงานของตำบลเขาดินไปหนุนเสริมเสริมในพื้นที่ตำบลอื่นของจังหวัดสุพรรณบุรีด้วย จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องกลับไปคัดเลือกผู้แทนมาร่วมเป็นคณะกรรมการเมือง
ภาพ : การประชุมและทบทวนคณะกรรมการเมือง
สร้างความเข้าใจ สร้างหลักคิด สร้างความร่วมมือ กำหนดทิศทางและแผนปฏิบัติการ
จากการหารือกับปลัดอำเภอเดิมบางนางบวช และการประชุมทบทวนกรรมการเมือง นำสู่การจัดเวทีสร้างความเข้าใจกระบวนการพัฒนาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนภายใต้หลักคิด “การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนทุกมิติ” เป็นหลักคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความครอบคลุมทุกๆ ด้านในการดำเนินชีวิตบนฐานความร่วมมือของทุกภาคส่วน นำมาสู่การจัดทำแผนพัฒนาตำบลหรือแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนทุกมิติ เพื่อเป็นเครื่องมือกลางในการกำหนดทิศทางแนวทางการขับเคลื่อนอย่างมีระบบ
ผู้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ปลัดอำเภอเดิมบางนางบวช รองนายกเทศมนตรีตำบลเขาดิน กล่าวเปิดเวที สมาชิกสภาเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่มองค์กร และผู้เดือดร้อนด้านที่ดินที่อยู่อาศัย คณะกรรมการและสมาชิกสหกรณ์บ้านมั่นคงเมืองเขาดิน สมาชิกสภาองค์กรชุมชนเทศลายตำบลเขาดิน คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลเขาดิน ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยรองนายกเทศมนตรีตำบลเขาดิน เป็นประธานกล่าวเปิดเวที ประธานขบวนองค์กรชุมชนเป็นผู้กล่าวเติมเต็มหลักคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนทุกมิติ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
ผลจากการจัดเวทีในครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าเวทีเกิดความเข้าใจมองเห็นภาพอนาคตของคนในตำบลหากเกิดความร่วมมือในการทำงานกันด้วยใจที่แท้จริง จึงส่งผลให้เกิดแผนการปฏิบัติในการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมทั้งตำบล โดยแบ่งเป็นเกาะโซน 84 เกาะโซน ในจำนวน 12 หมู่บ้านทั้งหมดของตำบล คำว่า “เกาะโซน” เป็นภาษาเรียกของคนตำบลเขาดิน ซึ่งหมายถึงการแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นกลุ่มย่อย 1 ต่อ 5 คือ คณะทำงาน 1 คน รับผิดชอบการสำรวจความเดือดร้อน 5 ครัวเรือน โดยผู้นำเกาะโซนนี้เกิดจากการคัดเลือกและจัดตั้งโดยคณะกรรมการหมู่บ้านและผู้ใหญ่บ้านของแต่ละหมู่บ้านมาก่อนหน้านี้แล้ว นั่นหมายความว่ากระบวนการทำงานของตำบลเขาดินนั้นได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่องนั่นเอง แผนงานต่อไปหลังจากที่มีการสำรวจข้อมูลทั้ง 84 เกาะโซน 12 หมู่บ้าน เสร็จแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2565 ได้มีการนัดจัดเวทีสรุปวิเคราะห์ข้อมูลผู้เดือดร้อน เพื่อนำข้อมูลสู่การจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมทุกมิติต่อไป
การจัดเวทีในครั้งนี้เป็นการจัดเวทีแบบบูรณาการ เนื่องจากตำบลเขาดินได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทประจำปี 2565 จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมของโครงการมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้แบบลดต้นทุนด้วยเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการสนับการปลูกและใช้สมุนไพรใกล้ตัวในการดูสุขภาพ การจัดเวทีในครั้งนี้จึงเป็นการบูรณาการงานโดยมีการนำพืชพันธุ์และผลผลิตจากการดำเนินงานตามแผนงานโครงการมาแบ่งปันให้กับครัวเรือนผู้รายได้น้อยและผู้เข้าร่วมเวทีด้วย
นอกจากนี้ เวทีนี้ยังเป็นเวทีประกาศการสมทบงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลเขาดิน จำนวน 50,000 บาท ซึ่งสมทบโดยสำนักงานเทศบาลตำบลเขาดิน ซึ่งชี้ให้เห็นการทำงานร่วมระหว่างภาคประชาชนและท้องถิ่น
ภาพ : เวทีสร้างความเข้าใจ เติมเต็มหลักคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ล่าสุด วันที่ 6 กันยายน 2565 ตำบลเขาดิน ได้มีการจัดเวทีสร้างความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัย บนที่ดินของตนเอง ถือเป็นพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับผู้เดือดร้อนที่มีที่ดินเป็นของตนเองแต่บ้านเรือนทรุดโทรม โดยสภาองค์กรชุมชนร่วมกับท้องถิ่น และท้องที่ โดยใช้ฐานข้อมูลผู้เดือดร้อน จำนวน 88 ครัวเรือนที่ สภาองค์กรชุมชนและฝ่ายท้องที่ได้มีการสำรวจไว้ก่อนหน้า โดยสรุปผลการประชุมครั้งนี้ มีการคัดกรองพิจารณารายชื่อผู้เดือดร้อน 30 ราย ในการรับงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่มีเป้าหมายและส่งรายชื่อไปยังสถาบันฯ แล้ว ในปี 2566 ส่วนที่เหลืออีก 58 รายนั้น รับการสนับสนุนจากสำนักงานเทศบาลตำบลเขาดิน โดยสำนักงานเทศบาลตำบลเขาดิน มีการจัดสรรงบประมาณในแผนพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 5 ปี เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 500,000 บาท โดยมีหลักเกณฑ์การสนับสนุนตามความเป็นจริงตามรายการวัสดุที่ต้องจำเป็นใช้ ซึ่งแนวทางการดำเนินในวันนี้เป็นแขนงหนึ่งของพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาและแก้ปัญหาทั้งตำบล แม้ว่าแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยหรือแผนพัฒนาตำบลทุกมิติที่จะร่วมกันจัดทำขึ้นจะยังไม่ได้ดำเนินการ แต่สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเขาดินได้มีแผนพัฒนาเดิมที่มีการกำหนดร่วมกันไว้แล้วสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานได้ ซึ่งกระบวนการพัฒนาชุมชนควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องหากสิ่งที่ทำนั้นเกิดประโยชน์ต่อชุมชน
เส้นทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตำบลเขาดิน ยังคงอีกยาวไกลตราบเท่าที่ชีวิตคนยังดำเนินอยู่ไม่ต่างจากชุมชนตำบลอื่น แต่วันนี้ตำบลเขาดินได้มีและได้ใช้กลไกต่างๆ ที่มีในพื้นที่ให้เอื้อและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง ด้วยเป้าหมายอันเดียวกัน ซึ่งตำบลเขาดินยังมีเรื่องราวอีกหลากหลายที่ได้ทำร่วมกัน และนั่นคือเครื่องมืออันสำคัญที่ชุมชนตำบลเขาดินจะร่วมมือกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี