คนในพื้นที่ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวนไม่น้อยต้องกประสบปัญหาเรื่องรายได้ และมีหนี้สินจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และขาดการมีอาชีพสำรองเพื่อเสริมสร้างรายได้ของครัวเรือนและชุมชน ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบก็คือ สถานการณ์โรคระบาดโควิด 2019 ที่ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่อย่างยากลำบากขึ้น
ในปี 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท จึงเป็นโอกาสสำคัญต่อชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชน ให้เห็นสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในชุมชน จุดแข็งของตำบล จุดอ่อน โอกาสต่างๆ ในการพัฒนาและแก้ปัญหา นำมาสู่การจัดทำแผนพัฒนาตำบล 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม
สภาองค์กรชุมชนตำบลห้วยขมิ้นได้หยิบยกปัญหาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ มาเป็นกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้คนในชุมชนมีอาหารบริโภคในครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นด้านค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และการส่งเสริมอาชีพบนฐานทุนชุมชนเดิมที่มีอยู่ นำมายกระดับและขยายผลสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยความร่วมมือของสภาองค์กรชุมชน ผู้นำ และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ โดยมีกระบวนการดำเนินงาน และผลที่เกิดขึ้น ดังนี้
เปิดเวทีทำความเข้าใจโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ได้มีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทของตำบลห้วยขมิ้น โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขมิ้น เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเวทีและกล่าวเปิดโครงการ มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาร่วมให้ความรู้ด้านการทำเกษตรแบบปลอดสาร การเลี้ยงไก่ไข่ อาหารแปรรูป (ปลาส้ม) มีตัวแทนจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่รวมไปถึงผู้นำท้องที่เข้าร่วมรับฟัง และชาวบ้านที่เคยได้รับการซ่อมแซมบ้านจากโครงการมั่นคงชนบทเข้าร่วมเวทีด้วย
เรียนรู้การปลูกผักปลอดสารและการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ด้วยการลงพื้นที่จริงโดยใช้พื้นที่ของเกษตรกรมีผู้เป็นต้นแบบในการเรียนรู้โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 เนื่องด้วยในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มักซื้อผักและเนื้อสัตว์จากตลาดมาบริโภค ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าผักมีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก ตั้งแต่การบำรุงพืชผักให้เติบโตให้สวยงาม และเนื้อสัตว์ส่วนมากมักจะมีการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตทำให้เนื้อมีสีแดงสวยงาม อาหารแปรรูปตามท้องตลาดส่วนมากจะมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมี ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงได้มีการชักชวนมาปลูกผักปลอดสาร มีการแจกพันธุ์ผัก และพันธุ์ไก่ไข่ แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน ซึ่งกระจายตัวมาจาก16 หมู่บ้านของตำบลห้วยขมิ้น
การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่
อาหารแปรรูป (ปลาส้ม) “ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ได้มีวิทยากรมาสอนวิธีการทำให้สมาชิกที่สนใจ เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพและใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ ยังได้มีการเชิญชวนผู้ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการมาเข้าร่วมด้วย ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้รวมจำนวน 120 คน
.ผลผลิตหลังจากผ่านการอบรมปลูกผักปลอดสาร
ผลที่เกิดขึ้นตามแผนงานกิจกรรมที่ดำเนินการ จากการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการทำปลาส้ม และการปลูกผักสวนครัว รวมถึงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ทำให้กลุ่มคนเปราะบาง ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้านที่เข้าร่วมประมาณ 220 คน เกิดความรู้ความเข้าใจ และยกระดับกลุ่มอาชีพในการต่อยอดพัฒนาสินค้าของตัวเอง เกิดการเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรและผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงการสร้างอาชีพ และยังก่อให้เกิดการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร จากการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ซึ่งจากการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้และการเลี้ยงไก่ไข่ ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีอาหารผักสดปลอดภัยบริโภคและเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน เกิดแผนการเชื่อมโยงบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นและภาคี .ทำให้ชาวบ้านได้มีทางเลือกมากขึ้น เกษตรกรหลายคนหันกลับมาทำเกษตรโดยใช้วิถีแบบดั้งเดิมเพิ่มขึ้น คือการไม่ใช้สารเคมี หรือใช้ให้น้อยที่สุด หันมาปลูกผักกินเอง เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ทำอาหารแปรรูป (ปลาส้ม) ทำให้เกิดการใส่ใจสุขภาพตนเองกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยงไก่ไข่ คือ อาหารของไก่ไข่มีราคาที่สูงขึ้น สำหรับในการแปรรูปอาหารการทำปลาส้ม ยังเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพสร้างรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและยั่งยืน
ผลผลิตหลังจากผ่านการอบรมปลูกผักปลอดสาร
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี