จากการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของและจากการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชนตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จนนำมาสู่การจัดทำแผนพัฒนาตำบล ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่าชุมชนมีความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาอาชีพ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความมั่นคงทางอาหาร มีรายได้ในการจุนเจือครอบครัวอย่างพอเพียง รองรับสภาพปัญหาอันจะเกิดขึ้น เช่น สถานการณ์โควิด 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งต้นทุนของตำบลต้นตาลนั้นคือการมีกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย พอที่จะเป็นฐานในการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนได้และมีความมุ่งหวังในการพัฒนาแนวคิดคนในการพึ่งพาตนเองบนวิถีความพอเพียง รวมทั้งสิ่งที่สำคัญของชุมชนซึ่งเป็นเหมือนดั่งชีวิต ก็ คือ แหล่งน้ำ แม่นำลำคลองอันเป็นเหมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของเกษตรกร และแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรอันโด่งดังสร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในช่วงที่ผ่าน ซึ่งขณะอยู่ระหว่างการปรับปรุงรอกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตรึงตราตรึงใจอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การช่วยกันอนุรักษ์แหล่งน้ำของชุมชนตำบลต้นตาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้ตำบลต้นตาลจึงได้จัดกระบวนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมอาชีพชุมชน และร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน โดยมีกระบวนการที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตำบลต้นตาลให้ดีขึ้น
การขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตำบลต้นตาลในครั้งนี้ ได้รับงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ปี 2565 จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือและกลไกการทำงานในการพัฒนาอาชีพและแหล่งท่องเที่ยวระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาคี เกิดแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทุกหมู่บ้านสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยมีกระบวนการดำเนินการและผลที่เกิดขึ้น ดังนี้
เวทีเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหนุนเสริมการทำงานร่วมกันของชุมชน การขับเคลื่อนงานเริ่มอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ซึ่งได้มีเวทีเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหนุนเสริมการทำงานร่วมกันของชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและกลุ่มองค์กรต่างๆ ภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาลให้ความสนใจส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาล ให้ความสนับสนุนเรื่องสถานที่จัดประชุม และยังมีเกษตรตำบล เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนประจำตำบลต้นตาล เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาล ครู กศน. ซึ่งนายก อบต.ต้นตาล รวมทั้งนายอำเภอสองพี่น้องได้กล่าวให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนแบบยั่งยืนบนหลักความคิดการใช้ทุนชุมชนอย่างรู้ค่า คุ้มค่าและคุ้มทุน จึงเกิดการหารือการทำงานร่วมระหว่างผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มองค์กรและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เกิดการวิเคราะห์ศักยภาพของตำบล ร่วมกันเติมเต็มหลักคิดแนวทางซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่ดียิ่งขึ้นไป เพื่อให้เกิดการร่วมมือบูรณาการการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
สร้างแหล่งอาหารในชุมชน (ปลูกไว้กินเอง/ลดต้นทุนการผลิต) เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งมีการพัฒนาคุณภาพคนตำบลต้นตาล หนุนเสริมแนวคิดแลกเปลี่ยนเติมเต็ม ผ่านกระบวนการส่งเสริมการปลูกไว้กินเองและลดต้นทุนการผลิต โดยการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ไร้สารเคมี การทำปุ๋ยชีวภาพ ปลูกพืชไล่แมลงไว้ข้างแปลง เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีในการบำรุงดูแลพืชผักและนาข้าว ทำให้ประหยัดต้นทุนการผลิตและมีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานราชการและกลุ่มองค์กรในท้องถิ่น กิจกรรมดังกล่าวจัดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 90 คน ลงพื้นที่จริงโดยใช้พื้นที่ของเกษตรกรเป็นต้นแบบในการเรียนรู้โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องด้วยในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มักซื้อผักจากตลาดมาบริโภค ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก ตั้งแต่การบำรุงพืชผักให้เติบโตสวยงามถูกตาถูกใจคนซื้อ ด้วยไร้โรคและแมลงรบกวน และยังเป็นการเร่งให้พืชผักโตเร็ว จึงได้มีการชักชวนมาปลูกผักกินเอง ถึงแม้คนที่ไม่มีพื้นที่ก็สามารถปลูกผักกินได้ พร้อมทั้งมีการแจกพันธุ์ต้นผัก เช่น พริก มะเขือ โหระพา เป็นต้น วิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักแบบปลอดสารเคมี โดยมีหลักคิดง่ายๆ ไม่ฉีดสารเคมี ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี โดยน้ำหมักชีวภาพ สารไล่แมลง หรือปลูกพืชที่สามารถไล่แมลงได้จะเป็นการดีกว่า
เตรียมพื้นที่แปลงผักสาธิต ณ บ้านดินสอ
แนวคิดของกิจกรรมนี้ มุ่งเน้นการปลูกไว้กินเอง เพื่อลดรายจ่ายและต่อยอดหรือสร้างมูลค่า โดยการนำผักไปเป็นเครื่องเคียงกับผลิตภัณฑ์น้ำยาปลาหมำ – ขนมจีน ซึ่งเป็นของดีในชุมชนที่มีชื่อเสียงสร้างรายได้อีกหนึ่งกลุ่ม หนึ่งภูมปัญญา ของแหล่งท่องเที่ยว “บ้านดินสอ” ซึ่งผู้คนในชุมชนได้ร่วมกันคิดค้นสูตรขึ้นมาเองเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและจะนำพืชผักสวนครัว เช่น ใบแมงลัก มะเขือต่างๆ ใบโหระพา มาเป็นเครื่องเคียงกินกับขนมจีนน้ำยาปลาหมำ เป็นต้น ทำให้เป็นที่สนใจสำหรับผู้เข้าร่วมอบรมและอาจมีการต่อยอดการอบรมปลูกพืชสวนครัวและน้ำหมักชีวภาพ สามารถให้นักท่องเที่ยวแวะชมแปลงผักสาธิตของสภาองค์กรชุมชนตำบลต้นตาลได้อีกทางหนึ่งด้วย
การขยายผลผลิตภัณฑ์เปลญวนบ้านแม่พระประจักษ์ เมื่อวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการเปิดเวทีทำความเข้าใจและชี้แจงโครงการ มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คน ในการเวทีดังกล่าวนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาลมาร่วมเปิดโครงการ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอสองพี่น้อง ตัวแทนจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่รวมไปถึงผู้นำท้องที่เข้าร่วมรับฟัง และตัวแทนจาก กศน.อำเภอสองพี่น้องมาร่วมเป็นวิทยากร อธิบายความสำคัญ ความเป็นไปได้ และทิศทางในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งจัดกระบวนการอบรมให้ความรู้การทำเปลญวนประยุกต์แก่ผู้เข้าร่วม จากการดำเนินการดังกล่าว ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง คือ เดิมที่ทางศูนย์การเรียนรู้เปลญวนได้มีการทำเปลญวนไม่กี่ชนิด แต่ปัจจุบันทางสภาองค์กรชุมชนตำบลต้านตาลได้ทำโครงการขยายผลิตภัณฑ์เปลญวนบ้านแม่พระประจักษ์ ด้วยการทำเปลญวนประยุกต์ ซึ่งมีกรรมวิธีการทำที่ง่ายขึ้นไม่ซับซ้อน ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสนใจมากขึ้นเพราะเป็นการสืบสานสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ และคนในชุมชน ตามความต้องการและความเหมาะสมของท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของชุมชน สนับสนุนการประกอบอาชีพและสร้างผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อพัฒนาด้านศักยภาพของกลุ่มสตรีผู้สูงอายุและคนในชุมชนตำบลต้นตาลต่อไป
จากการร่วมคิดร่วมทำของคนต้นตาลทำให้เกิดแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ เพื่อสร้างจุดเด่นจุดสนใจซึ่งเปี่ยมไปด้วยคุณภาพอันจะเป็นสิ่งต้องตาต้องใจแก่ลูกค้า และจะนำไปเสนอแก่ผู้ประกอบการเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่สนใจ แต่อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานดังกล่าว ได้ทำให้เกิดแผนการสนับสนุนการสร้างรายได้จากเปลญวนให้ขยายวงกว้างออกไป เช่น กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุสามารถทำเปลญวนแบบง่ายๆ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน และอนาคตทางองค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาลจะสร้างเปลญวนยักษ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาในพื้นที่ ผลิตภัณฑ์เปลญวนที่กำลังพัฒนาเป็นชิงช้าก็จะมีตลาดเพิ่มขึ้น สามารถให้นักท่องเที่ยวแวะชมและซื้อเปลญวนชิงช้าไว้ใช้ได้
กิจกรรมปรับปรุงทำแผนพัฒนาดูแลแหล่งน้ำ ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้นำชุมชน และคณะกรรมการหมู่บ้าน รวม 20 คน ในครั้งนี้ได้เชิญนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นตาลเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแผนการทำงานของท้องถิ่น และร่วมกันกำหนดแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งชุมชนได้เสนอให้นำแผนการพัฒนาแหล่งน้ำเข้าบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น มอบสารกำจัดวัชพืชให้ผู้นำ เพื่อนำร่องการพัฒนาดูแลแหล่งน้ำเนื่องจากมีวัชพืชปกคลุมหนาแน่น และยังได้แนวร่วมจากคนในชุมชนช่วยกันดูแลและรักษาแหล่งน้ำเพื่อคนในชุมชนจะได้มีน้ำใช้ในการอุปโภคและบริโภครวมทั้งภาคการเกษตรด้วย
ตำบลต้นตาล ยังมีเรื่องราวอีกมากมายในการขับเคลื่อนงานการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรในพื้นถิ่นทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี และโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีต่างๆ ชุมชนตำบลต้นตาลนั้นได้หยิบนำมาใช้มาสานต่ออย่างเนื่องจึงทำให้เกิดการเพิ่มทุนและใช้ทุนชุมชนอย่างรู้ค่า รู้คุณ คุ้มทุนและคุ้มค่า อย่างแท้จริง และนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนา ที่สภาองค์กรชุมชนมีบทบาทสำคัญในการพัมฒาชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมของตำบลต้นตาล
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี