เทศบาลตำบลสวนแตง เป็นพื้นที่ตั้งอยู่ในตำบลสวนแตง (บางส่วน) และตำบลศาลาขาว (บางส่วน) อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ชุมชนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและทั่วโลก เป็นอันทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมีความยากลำบากขึ้น ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ และการอยู่ร่วมกันในชุมชน สังคม
เทศบาลตำบลสวนแตงเป็นพื้นที่ราบลุ่ม จึงเหมาะแก่การทำการเกษตร ชุมชนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา ซึ่งเป็นรายได้หลักหรือเป็นเหมือนดั่งชีวิตและลมหายใจของเกือบจะทุกครอบครัว แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นประกอบกับการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 2019 ทำให้เกษตรกรขาดเงินในการลงทุนทำนา ด้วยเงินทุนที่มีต้องดูคนในครอบครัวให้กินอิ่มนอนอุ่น
สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลสวนแตง ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้และได้จัดกระบวนการวิเคราะห์ศักยภาพตำบลค้นหาปัญหาและจัดทำแผนพัฒนาตำบล ทำให้พบว่าการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรทำนา เป็นแนวทางที่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น การส่งเสริมการทำนาแบบวิถีดั้งเดิมตามคนโบราณ โดยย้อนรอยการทำด้วยแปลงสาธิตเพื่อเป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการให้เกษตรกรสามารถนำประสบการณ์กลับไปใช้ในการทำนาที่แปลงนาของตนเอง
โดยกระบวนการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตด้วยการทำนาอินทรีย์ เริ่มจากการเปิดประชุมทำความเข้าใจ สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุแห่งการทำนาด้วยวิธีการสมัยใหม่ เปรียบเทียบกับการทำนาด้วยวิถีดั้งเดิม ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 มีผู้สนใจเข้าร่วม 50 คน ผู้สังเกตการณ์ 2 คน ณ ห้องประชุม เทศบาลตำบลสวนแตง ในการประชุมครั้งนี้ได้เรียนเชิญสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีเปิดงาน พร้อมทั้งเชิญนายกเทศบาลตำบลสวนแตง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล และชาวบ้าน เข้าร่วม และได้เชิญวิทยากรผู้มีความรู้เกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพ และการทำนาเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษมาให้ความรู้ความเข้าใจ ให้ข้อแนะนำกับผู้ที่มาเข้าร่วมประชุมเพื่อความเข้าใจและได้ประโยชน์เพื่อนำไปใช้กับแปลงนาของตนเอง โดยเปลี่ยนมุมมองความคิดจากการใช้สารเคมี มาเป็นการใช้วิธีธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในการบำรุงดูแลพืชให้เติบโตออกดอกออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ไม่ด้อยไปกว่าการใช้สารเคมี
เรียนรู้การทำนาแนว “สวนแตงแข็งกล้า ทำนาเกษตรปลอดสาร” จากนั้นได้มีการลงพื้นที่แปลงสาธิต ในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 และ วันที่ 18 มิถุนายน 2565 ผู้สนใจเข้าร่วม 60 คน ผู้สังเกตการณ์ 3 คน ปฏิบัติการเตรียมดินแปลงนาเกษตรอินทรีย์ และได้ใช้น้ำหมักชีวภาพใส่ไปพร้อมกับการไถดิน เพื่อย่อยสลายวัชพืช เพื่อเพิ่มปุ๋ยทางธรรมชาติให้กับแปลงนาปลอดสารพิษ จากการทดลองนี้เกษตรกรชาวนาได้เห็นของจริงได้รับฟังคำบรรยายจากวิทยาที่มีประสบการณ์อย่างละเอียด เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเห็นได้จากที่ได้มีการแลกเปลี่ยนซักถามถึงผลได้ผลเสีย รายได้ รายรับ ความคุ้มทุนคุ้มค่าของการทำนาอินทรีย์ และรู้สึกพอใจกับการเรียนรู้ที่ได้จัดขึ้น
น้ำหมักชีวภาพ
แปลงนาปลอดสารพิษ
เรียนรู้การทำนาแนว “สวนแตงแข็งกล้า ทำนาเกษตรอินทรีย์” ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ผู้เรียนรู้ลงพื้นที่แปลงสาธิต ร่วมกันหว่านข้าวในแปลงนา โดยใช้พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ก่อนที่เราจะหว่านข้าวได้มีการทำพิธีบวงสรวงเจ้าแม่โพสพตามประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา มีวิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการหว่านข้าวว ทำนา ตลอดจนข้อดีข้อเสีย ปัญหาอุปสรรคและผลตอบรับที่คาดว่าน่าจะได้รับจากการทำนาเกษตรปลอดสารครั้งนี้ การหว่านข้าวครั้งนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรของหน่วยงานราชการ และชาวนาในชุมชนเทศบาลตำบลสวนแตง ผู้มีรายได้น้อย และชาวนาที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากการทำนาสารเคมี อยากลองมาทำนาเกษตรปลอดสาร ร่วมด้วยช่วยกันหว่านข้าวในแปลงนาสาธิต
พิธีบวงสรวงพระแม่โพสพ
เมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1
หน่วยงานราชการชาวนาร่วมด้วยช่วยกันหว่านข้าว
เมื่อหว่านเสร็จแล้วจึงปล่อยน้ำออกจากนาข้าวให้แห้งประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าแปลงนาเกษตรอินทรีย์ ให้น้ำคุมหญ้า ลดวัชพืช โดยไม่ใช้สารเคมี
ข้าวแรกหว่าน และข้าวอายุประมาณ 2 สัปดาห์
การทำนาเกษตรปลอดสาร ในช่วงแรกเป็นการหว่านแบบนาน้ำตม ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีในการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช โดยเลือกการใช้น้ำตมเพื่อกำจัดหญ้า ซึ่งการที่ชาวนาได้ลงมือทำตามแบบของการเรียนรู้เองบางส่วน และได้รับคำแนะนำจากวิทยากรผู้มีความรู้ ช่วยทำให้การทำนาปลอดสารครั้งนี้มีผลน่าพึงพอใจ จากคำที่ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็ได้เห็นแล้วว่าเราสามารถทำนาแบบเกษตรปลอดสารได้ ทำให้ช่วยลดมลพิษจากสารเคมีและทำให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนาได้ถึงร้อยละ 50 อีกทั้งไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมีเช่นการทำนาแบบใช้สารเคมี ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในครัวของเกษตร/ชาวนาดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ข้าวในแปลงนาเกษตรปลอดสาร อายุ 1 เดือน ที่ใส่น้ำอย่างเดียวไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมี และฉีดสารเคมี
จากการดำเนินงานทำนาเกษตรปลอดสารที่ผ่านมา มีผลทำให้ชาวนาได้มีทางเลือกมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางคนได้เห็นผลงานของการทำนาปลอดสารครั้งนี้ว่าได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจมาก ทำให้ชาวนาหันมาเปิดใจมากขึ้น และลองทำนาเกษตรปลอดสาร เพราะส่งผลถึงการลดต้นทุนการผลิต ลดการเสี่ยงต่อการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการดำเนินงานย่อมมีปัญหาและอุปสรรค ทั้งด้านชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยและสัตว์ทางธรรมชาติ วัชพืช แต่ก็จะแก้ไขด้วยวิธีธรรมชาติปลอดสารเคมี ให้ได้ผลผลิตที่ดี และทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะได้มีการติดตามและคอยดูผลงานในวันที่เก็บเกี่ยวผลิต คาดหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรที่ไม่ใช่แค่ในชุมชนเทศบาลตำบลสวนแตงเท่านั้น แต่อาจมีการบอกต่อไปยังชาวนาในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงที่สนใจเข้าร่วม โดยหวังว่าสิ่งที่ทำในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างสูงสุด
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี