ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งในสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ขึ้นในตำบลแจงงาม ผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชนเป็นรายแรกและมีการแพร่ระบาดไปยังสมาชิกรายอื่นในชุมชน ทำให้ผู้นำชุมชนต้องปิดหมู่บ้านเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่บุคคลภายนอกและจำกัดการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายเพิ่มออกไป ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดความอลหม่านในชุมชนพอควร แกนนำหมู่บ้าน อาสาสมัครต่างต้องระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และนอกพื้นที่ตำบลไม่ว่าจะเป็นอาหารและยารักษาโรค รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ
แม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว แต่ก็ได้ทำให้ชุมชนตระหนักต่อผลกระทบและการรับมือในการจัดการกับสถานการณ์ที่ผ่านมา และยังคงมองว่าหากไม่มีการเตรียมความพร้อมอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลแจงงาม จึงได้มีการทบทวนแผนพัฒนาตำบลเหมือนเช่นทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีการวิเคราะห์ชุมชน ค้นหาปัญหา รากเหง้าของปัญหา นำมาทบทวนแผนพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนให้ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน
ต่อมาปี 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีการสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท โดยมีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งตรงกับสภาพปัญหาของตำบลแจงงาม สภาองค์กรชุมชนตำบลแจงงาม จึงได้มีการจัดทำโครงการเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ครัวเรือนประชาชนในพื้นที่สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัว เป็นแบบอย่างชุมชนจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นได้มาศึกษาเรียนรู้
. เป้าหมายและทิศทาง แนวทางการดำเนินงาน
เป้าหมายการดำเนินงานในครั้งนี้ คือ ให้คนในตำบลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตอบสนองปัญหาและตรงตามความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีในการบูรณาการแนวคิดและทุนในการพัฒนา โดยมุ่งหวังในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชน ให้มีแหล่งอาหารในชุมชนอย่างยั่งยืน เกิดตลาดวิถีชุมชนที่เป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายสินค้าและผลผลิตในชุมชนของทั้ง 8 หมู่บ้าน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาดูงาน เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนวิถีเกษตรสู่ความมั่นคงทางอาหารและถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนในชุมชนสู่สายตาคนภายนอก
สร้างความเข้าใจคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการแปรเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางด้านอาหารของตำบลแจงงาม เริ่มโดยการจัดประชุมสร้างความเข้าใจคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง มีผู้สนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อสร้างความเข้าใจและตอกย้ำเจตนารมณ์ แนวคิด หลักคิด และกระบวนการทำงาน การเชื่อมโยงแหล่งผลิตอาหารชุมชนวิถีเกษตรนำสู่การทำข้อมูลท่องเที่ยว พร้อมทั้งทบทวนแผนการทำงาน และร่วมออกแบบการขับเคลื่อนงาน รวมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ของภาคีแต่ละภาคส่วน ในการดำเนินการท่องเที่ยววิถีเชิงเกษตรของชุมชนสู่ความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และเชื่อมโยงบริษัทไทยอะโกรขอกล้าพันธุ์ไม้ บริษัทน้ำตาลมิตรผล สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตรอำเภอ ทางหลวงชนบท ร่วมสนับสนุนให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ สำนักงานปศุสัตว์ให้คำแนะนำและการสนับสนุนด้านการเลี้ยงไก่ไข่ นอกจากนี้ยังหน่วยงานอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เป็นต้น
ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนวิถีเชิงเกษตรสู่ความมั่นคงทางอาหาร
การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว ด้วยปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และปลูกต้นทองอุไรริมทาง ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว ได้มีการจัดเวทีอบรมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตร จัดทำธนาคารพันธุ์พืช จัดหาเมล็ดพันธุ์/ต้นกล้า การพัฒนากองทุนเพื่อความมั่นคงทางอาหารระดับตำบล มีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม จำนวน 80 คน และมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนสนับสนุนกล้าพันธุ์พืชผัก ธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักของชุมชนสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ สำนักงานทางหลวงชนบทสนับสนุนต้นกล้าทองอุไร และสถานีพัฒนาที่ดินสนับสนุนสารชีวภาพเพื่อใช้ในการบำรุงดูแลพืชผักและต้นไม้ จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำรั้วหน้าบ้านและถนนทางเดินให้กลายเป็นแหล่งอาหารด้วยการปลูกผักในเชิงเกษตรท่องเที่ยว นำมาสู่การนำไปปฏิบัติด้วยการช่วยกันทำกิจกรรมปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และปลูกต้นทองอุไรเพื่อความเจริญตา
การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารด้านโปรตีน
สภาองค์กรชุมชนยังได้จัดหาพันธุ์ไก่ไข่ให้กับครัวเรือนผู้ยากจน และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จำนวน 80 ครัวเรือน โดยใช้งบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในการจัดซื้อไก่พันธุ์ไข่ที่แจกจ่ายให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมอาหารไก่ครัวเรือนละ 4 ตัว ซึ่งบางครัวเรือนหาไก่ไข่มาเลี้ยงเพิ่มเติมจากที่ได้รับแจก
หลังจากนั้นมีคณะทำงานติดตามประเมินผลโครงการ ซึ่งพบว่าไก่ที่ได้รับออกไข่ทำให้มีไข่ไก่บริโภคในครัวเรือน และยังมีการแบ่งปันให้กับครัวเรือนข้างเคียงตามข้อกำหนดของที่ประชุมในการแบ่งปันแลกเปลี่ยน เช่น ไข่ไก่แลกผัก หรืออื่นๆ ตามบริบทของชุมชน ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนไข่ไก่หรือการซื้อไข่ราคาแพง ลูกหลานหรือคนในครอบครัวได้บริโภคอาหารโปรตีนราคาถูก จึงถือว่าเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารได้ และยังเกิดความมั่นคงทางอาหาร คนในชุมชนมีความสามัคคี การช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกันตามอัตภาพ
ตลาดนัดวิถีชุมชนปลอดภัยไร้สารเคมี
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำตลาดนัดชุมชนปลอดภัยไร้สารเคมี โดยมีการจัดเวทีออกแบบกกติการ่วมในการส่งเสริมการจัดตลาดนัดชุมชน การบริหารจัดการและประชาสัมพันธ์การจัดตลาดนัดวิถีชุมชนแบบสัญจร ให้ชุมชนรับทราบและรับรู้กติการ่วมกัน ทำให้เกิดตลาดวิถีชุมชนตำบลแจงงามขึ้น ซึ่งตลาดนัดดังกล่าวเป็นแหล่งจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร อาหารที่ผลิตในชุมชน และสินค้าที่จำเป็นจากภายนอก เน้นอาหารปลอดภัยไร้สารเคมีเป็นหลัก เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีแหล่งจำหน่ายสินค้า เป็นการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้กับคนในตำบลแจงงาม
จากการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 80 ครัวเรือน มีความกระตือรือร้นการเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง และแบ่งปันแลกเปลี่ยนอาหารการกินในชุมชน มีอาหารที่ปลอดภัยบริโภค สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน และยังเกิดความมั่นคงทางอาหาร สามารถช่วยเหลือครอบครัวในยามยากลำบากที่ขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะช่วงที่ว่างงานหรือการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังทำให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน จากการร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกิน การแบ่งปัน แลกเปลี่ยนอาหาร เป็นต้น
แม้ว่าการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทตำบลแจงงามในครั้งนี้ เป็นการดำเนินในระยะเวลาเพียงสั้นๆ มีกลุ่มเป้าหมายเพียงส่วนหนึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้งตำบล แต่ก็เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนในชุมชนได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ การทำอาหารเลี้ยงไก่แบบธรรมชาติ โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในบ้าน เช่น ผักต่างๆ มาผสมกับหัวอาหารเลี้ยงไก่ นอกจากนี้หลายครัวเรือนยังหันมาสนใจการสร้างแหล่งอาหารในชุมชนและครัวเรือนจากการเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกผักสวนครัวไว้บริโภค ได้มีการแลกเปลี่ยนและจำหน่ายผลผลิตในชุมชน เป็นแบบอย่างให้ครัวเรือนอื่นได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเองและการแบ่งปัน ช่วยเหลือกันในชุมชนต่อไป
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี