จากการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ของเทศบาลตำบลเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเจดีย์ พบว่าในชุมชนประสบปัญหาเรื่องรายได้ และภาระหนี้สินจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และขาดอาชีพสำรองเพื่อเสริมสร้างรายได้ของครัวเรือน คนในชุมชนส่วนหนึ่งไม่มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด ของเทศบาลตำบลเจดีย์ จึงได้นำปัญหาทั้งหมด รวมทั้งจุดอ่อนแข็ง โอกาสต่างๆ และอุปสรรคในการพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นตัวกำหนดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบล เพื่อให้ชุมชนใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ
เป้าหมายและ แนวทางการดำเนินงาน
การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของเทศบาลตำบลเจดีย์ มุ่งหวังให้ชุมชนเกิดการปรับแนวคิดมุมมองและวิเคราะห์ทุนชุมชนจนสามารถนำสู่การพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ผู้รายได้น้อย และคนในชุมชนมีรายได้ มีทักษะในการประกอบอาชีพเสริม โดยใช้ทุนเดิมในชุมชนที่มีอยู่นำมาเพิ่มมูลค่าให้เกิดรายได้และเกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาอาชีพ นั่นคือ ด้วยศักยภาพด้านภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะกับการทำการเกษตร คนในชุมชนมีการทำนาข้าว พันธุ์ กข 43 เป็นจำนวนมาก และมีการเลี้ยงปลานิลไว้เพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม แต่ก็พบว่าชุมชนประสบปัญหาการขาดตลาดรองรับผลผลิต จากการวิเคราะห์ตำบลจึงมองเห็นต้นทุนในชุมชนที่จะสามารถนำมาต่อยอดหรือยกระดับในการพัฒนาอาชีพ โดยการแปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นสู่การสร้างรายได้ สร้างอาชีพเสริม
จัดเวทีเสวนา “เปิดใจรับ ปรับมุมมอง เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น”
ในวันที่ 14 มิถุนายน 2565 มีการเปิดเวทีสร้างความเข้าใจแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตำบลเจดีย์แบบเชื่อมโยงครบวงจร โดยใช้ทุนชุมชนที่มีอยู่เป็นเครื่องมือสู่การแก้ปัญหาด้านผลผลิตล้นตลาด และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดแผนงานการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนในระยะยาว เช่น การอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการพัฒนาการตลาด การจำหน่าย ร่วมกับหน่วยงานภาคี จึงเกิดการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนตำบล เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรในการทำงานตามแผน
การจัดเวทีครั้งนี้มีนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเจดีย์ เป็นผู้กล่าวเปิดโครงการ มีประธานสภาองค์กรชุมชน และตัวแทนหน่วยงานราชการ ตัวแทนจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงผู้นำท้องที่ อสม. เข้าร่วมรับฟัง และชาวบ้านที่เคยได้รับการซ่อมแซมบ้านจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทเข้าร่วมเวทีเสวนาด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 80 คน
สรุปบทเรียนและการติดตามผลการดำเนินงาน
ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 หลังจากที่มีการดำเนินงานไปตามเป้าหมายและแผนที่กำหนด สภาองค์กรชุมชนจึงมีการจัดประชุม สรุปบทเรียนและการติดตามผลการดำเนินงาน เกิดข้อค้นพบผลการเปลี่ยนแปลงระหว่างก่อนดำเนินงานและหลังดำเนินการ เกิดแนวทางการยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนและด้านการผลิต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 50 คน
จากการสรุปบทเรียนและการติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า สมาชิกจากกลุ่มฯ องค์กร และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ผู้มีรายได้น้อย ผู้ยากจน จาก 8 หมู่บ้าน จำนวนประมาณ 80 คนที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรการแปรรูปอาหารข้างต้น เกิดความรู้การแปรรูปผลผลิตตามความถนัด ในการแปรรูปข้าว กข 43 เป็นแป้งข้าวเจ้า และการทำขนมโดนัท ขนมจีน และข้าวเกรียบ และเกิดความรู้ทำปลาเค็มแดดเดียว ปลาส้ม สิ่งที่พึงพอใจของชาวบ้าน คือ การเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม การส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างโอการสในการประกอบอาชีพของชุมชนได้ตามความต้องการ
ผลการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
จากการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทั้งครอบครัวผู้ติดเชื้อ ครอบครัวผู้กักตัว และผู้มีรายได้น้อย เกิดการแจกจ่ายผลผลิตจากการแปรรูปให้ครัวเรือนผู้ติดเชื้อโควิด 19 และกักตัว ตามความเหมาะสมและต้องการ อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายผลผลิตจากการแปรรูปภายในชุมชนในราคาต่ำ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเดิมและการสมทบจากชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนมีความรู้และสามารถนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้มีมูลค่ามากขึ้น สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ในชุมชน และทำให้เกิดกระบวนการคิดในการพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์แบบใหม่ โดยมุ่งเน้นวัตถุดิบในชุมชนที่มีอยู่เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้คนในชุมชน ทั้งในส่วนของแกนนำกลุ่มองค์กรชุมชน เช่น สภาองค์กรชุมชน กลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล ให้มีความเข้มแข็ง มีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติแบบมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคี ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ เกิดความรู้ความเข้าใจในอาชีพมากขึ้นเป็นแนวทางชุมชนได้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและดีขึ้น ชุมชนมีความเข็มแข็งและมั่นใจในการประกอบอาชีพ มีช่องทางในการผลิตและกระจายสินค้าในช่องทางการค้าขายและการแปรรูปไว้ใช้เองในครัวเรือน ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการมีอาชีพและรายได้ที่เกิดขึ้น
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี