สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรกรรมจากใช้สารเคมีเป็นวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพที่ดีจากการบริโภคข้าวปลอดภัย โดยร่วมมือกับสำนักงานเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง เกษตรอำเภออู่ทอง และเครือข่ายเกษตรอินดี้ ในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ปลูกผัก รวมถึงการอบรมส่งเสริมให้ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ไว้ใช้เอง โดยมีกิจกรรมการดำเนินการและผลที่เกิดขึ้น ดังนี้
จัดเวทีเสวนาเรื่อง “วิถีเกษตรอินทรีย์ ดีอย่างไร” โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นเกษตร ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 โดยนายกเทศมนตรีตำบลขุนพัดเพ็งกล่าวต้อนรับและเปิดเวที เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอให้ความรู้ด้านการทำเกษตรแบบปลอดสารให้กับเกษตรกรที่สนใจ และตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรอินดี้มาให้ความรู้การทำนาแบบโบราณที่ไม่พึ่งปุ๋ย ยา และสารเคมีใดๆ ใช้แบบวิถีธรรมชาติจัดการตัวเอง ไม่ต้องทำตามอย่างใคร เปลี่ยนวีธีคิดโดยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการทำนาแบบสมัยใหม่กับทำนาแบบดั้งเดิมด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ซึ่งใช้ต้นทุนการผลิตน้อยกว่า แต่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดสารเคมีส่งผลไปถึงสุขภาพที่ดีตามไปด้วย.
เรียนรู้การปลูกผักปลอดสาร “ใจเย็นไม่เร่งรีบ” 19 พฤษภาคม 2565 ชาวชุมชนในเทศบาลขุนพัดเพ็ง ร่วมลงพื้นที่ต้นแบบโดยเป็นพื้นที่ของเกษตรกรที่มีการทำเกษตรอินทรีย์ มีผู้สนใจเข้าร่วม 35 คน ผู้สังเกตการณ์ 7 คน เป็นการเรียนรู้เชิงแลกเปลี่ยนหลักคิดวิธีคิดวิธีการและวิถีชีวิตของคนทำเกษตรอินทรีย์ โดยเกษตรกรต้นแบบเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักไว้กินเองแบบปลอดสารเคมี โดยมีหลักคิดง่ายๆ คือ “ใจเย็น ไม่เร่งรีบ” พร้อมทั้งแจกพันธุ์ต้นผัก เช่น คะน้าเเม๊กซิโก ผักเป็ดญี่ปุ่น ให้กับผู้เข้าร่วมกระบวนการ
เรียนรู้การทำนาแนว “เกษตรอินดี้” 22 พฤษภาคม 2565 ต่อมาผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ 35 คนร่วมลงพื้นที่เรียนรู้การหว่านข้าวในแปลงนาสาธิต ใช้พันธุ์ข้าวจัสมิน ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดั้งเดิม ก่อนหว่านข้าวได้มีการทำพิธีขอที่เจ้าที่เจ้าทาง มีผู้แทนเครือข่ายเกษตรอินดี้ เป็นวิทยากรได้ให้ความรู้ด้านการทำนาอินทรีย์ในแนวของเกษตรอินดี้ทำอย่างไร สิ่งที่พึงระวัง ปัญหาอุปสรรครวมไปถึงแรงกดดันหรือแรงเสียดทานจากเกษตรกรหรือสังคมที่ยังมีมุมมองต่างในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ที่เจ้าของแปลงนาสาธิตจะต้องพบเจอ อีกทั้งการให้ข้อมูลเกร็ดความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำนา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรจะนำกลับไปใช้
การทำนาแบบเกษตรอินดี้ ในช่วงแรกเป็นการหว่านข้าวแบบนาน้ำตม ไม่ใช้สารเคมีคุมหญ้าเหมือนแต่ก่อน โดยเลือกใช้น้ำคุม ซึ่งการพาชาวบ้านลงมือทำครั้งนี้ ชาวนาส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะคุมหญ้าได้จริง ต่อมาเมื่อข้าวอายุครบ 1 เดือนเต็ม ชาวนาเกษตรอินดี้ได้พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วว่าการหว่านข้าวแบบนาน้ำตมสามารถคุมหญ้าได้ตริง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้เจ้าของนาก็ถูกแรงกดดันจากชาวนาทั่วไปพอสมควร เพราะแตกต่างจากที่ชาวนาทั่วไปทำอยู่ในปัจจุบัน
วันนี้ชาวนาได้เห็นแล้วว่าสามารถทำนาข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีได้ ไม่มีหญ้าขึ้นในนาเลย นอกจากได้เห็นผลงานแล้ว ชาวนายังได้ทำความเข้าใจการทำนาที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้ระบบนิเวศน์ธรรมชาติควบคุมกัน เข้าใจตัวห้ำตัวเบียน และยังเรียนรู้วิธีการเก็บเชื้อจุลินทรีย์จากป่ามาขยายเพื่อนำไปใช้ในการทำปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย
การเจริญเติบโตของนาข้าวแปลงสาธิต ในระยะเวลา 1 เดือน ที่ใช้น้ำคุมวัชพืชแทนการใช้สารเคมี และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี
อบรมการทำปุ๋ยหมัก ลดการใช้สารเคมี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 มีผู้เข้าร่วม 35 คน ผู้สังเกตการณ์ 5 คน ลงพื้นที่ดูการเจริญเติบโตของต้นข้าวในแปลงนาสาธิต พร้อมกับการเรียนรู้วิธีทำปุ๋ยหมักอย่างง่าย ผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้มาจากผู้มีรายได้น้อย ผู้เดือดร้อนที่เคยได้รับการซ่อมบ้าน ตัวแทนกลุ่มองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ โดยวิทยากรได้สอนวิธีการทำปุ๋ยหมักอย่างง่าย สิ่งที่ต้องใช้ คือ กากน้ำตาล ใบไผ่ กระสอบ รำละเอียด ดินขุยไผ่หรือดินที่ไม่เคยโดยสารเคมี และน้ำสะอาด วิธีการทำเริ่มจากการนำดินมาวางบนกระสอบ 1 กำมือ จากนั้นใส่ใบไผ่ 5 กำมือ ใส่ลำละเอียด 1 กำมือ กากน้ำตาล 3 ช้อนแกงผสมน้ำ 3 ลิตร เทให้ทั่วกอง พอชุ่มแล้วใช้มือขย้ำให้ทั่ว จากนั้นห่อกระสอบให้มิดแล้วนำไปวางไว้โคนต้นไม้เป็นเวลา 7 วัน หลังจากผ่านไปแล้ว 7 วัน นำก้อนปุ๋ยหมักที่ได้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน นำ 1 ส่วนใส่ในถัง 10 ลิตร ใส่น้ำผสมกากน้ำตาล 3 ช้อนแกง แล้วคนให้เข้ากันจากนั้นใส่รำ 1 กำมือ แล้วคนต่อ พอคนเข้ากันแล้วนำถุงพลาสติกมาปิดฝาถังทิ้งไว้ 7 วัน นำมาใช้ใส่ในนาข้าวหรือผสมน้ำรดผักได้
การปลูกผักปลอดสารเคมีของชุมชนเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง มุ่งเน้นการปลูกไว้กินเอง เพื่อลดรายจ่ายและต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การทำสบู่จากว่านงาช้าง การทำกาบกล้วยกรอบ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่สนใจสำหรับผู้เข้าร่วมอบรมและอาจมีการต่อยอดการอบรมทำสบู่จากว่านงาช้าง
ผลผลิตหลังจากผ่านการอบรมปลูกผักปลอดสาร
ผลลัพธ์จากกระบวนทำงานการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ของสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลขุนพัดเพ็ง จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลทำให้ชาวบ้านได้มีทางเลือกมากขึ้น เกษตรกรหลายคนหันกลับมาทำเกษตรโดยใช้วิถีแบบดั้งเดิมเพิ่มขึ้น คือ การไม่ใช้สารเคมี หรือใช้ให้น้อยที่สุด หันมาปลูกผักกินเอง ใส่ใจสุขภาพตนเองกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการปลูกข้าวอินทรีย์ คือ แรงกดดันจากชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นวิธีการทำนาในรูปแบบโบราณ โดยไม่ใช้สารเคมีเลยตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ได้เห็นแล้วว่า การไม่ใช้สารเคมีนั้นมันทำได้จริงๆ ทำให้เกิดการขยายต่อไปถึงชาวนาแปลงอื่นๆ ที่สนใจปลูกข้าวไว้กินเอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่างหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลเดียวกัน จึงทำให้เห็นว่ากิจกรรมปลูกข้าวอินทรีย์ในแนวคิดแบบเกษตรอินดี้นั้นได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ด้วยระเวลาอันสั้นนั้นเราจึงยังไม่เห็นผลผลิตจากแปลงข้าวอย่างชัดเจนมากนัก เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงวิถีชาวนาอินดี้ แนวเกษตรอินทรีย์นั้นจะออกมาอย่างไร นี่คือสิ่งที่น่าติดตามต่อไป
เรียบเรียง : กมรวรรณ รุ่งพันธุ์
นักสื่อสารชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี