สระบุรี /คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี ร่วมกับสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและประชุมคณะอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก ครั้งที่ 4 / 2565 ระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน 256 ณ จังหวัดสระบุรี มีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งของขบวนองค์กรชุมชน เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาในการหนุนเสริมความเข้มแข็งระดับจังหวัด/ ภาค นำไปสู่การวางบทบาทและทิศทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยชุมชนเป็นแกนหลักพื้นที่เป็นตัวตั้ง
วันแรก (4 กันยายน 2565) ณ ที่ทำการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวิหารแดง อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี จัดกิจกรรมเปิดความคิดแลกเปลี่ยนมุมมองเรียนรู้การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยนายเนตร ปิ่นแก้ว ผู้แทนคณะอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก รายงานระบบการบริหารการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งของขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้แนวคิด “การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลักในงานพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลการกระจายอำนาจอย่างมีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับจังหวัด/ กลุ่มจังหวัด การจัดโครงสร้างและการบริหารงานร่วมระหว่างขบวนองค์กรชุมชนและสำนักงานภาค ยกระดับการพัฒนาเชิงปริมาณสู่คุณภาพ เสริมพลัง “ถาดร่วม” หุ้นส่วนการพัฒนา
จากนั้นในช่วงบ่าย นายกฤษฎา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นำทีมขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่ภาคกลางและตะวันตก ลงพื้นที่ตำบลเจริญธรรม อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีปลัดอำเภอวิหารแดง (นายศักดิ์ดา สำเภาเงิน) และคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลเจริญธรรมให้การต้อนรับ
ในการนี้ นายสาโรช มีภู่ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเจริญธรรม เล่าบริบทพื้นที่ตำบลเจริญธรรม และจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชนตำบลเจริญธรรม ที่ได้รับการหนุนเสริมให้มีการจัดตั้งเมื่อปี 2559 จากคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี และสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ต่อมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยในตำบล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการและต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ครอบคลุมทุกมิติจนถึงปัจจุบัน
นางพรรณทิพา ฤทธิ์แก้ว เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลเจริญธรรม เสริมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตำบลเจริญธรรม ที่ประสานการเชื่อมโยงและบูรณาการงบประมาณกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่ เช่น ท้องที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเจริญธรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี ศูนย์อุตสาหกรรมอิตาเลียนไทยอำเภอวิหารแดง เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน การจัดการสถานการณ์โควิด – 19 การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย หรือการป้องกันและต่อต้านการทุจริต
นายกฤษฎา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช
เปิดความคิด เปิดมุมมอง โดย นายกฤษฎา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช.มีจุดแข็งในการนำพาองค์กรชุมชนให้อยู่รอดได้ ผมเชื่อว่าหากชุมชนเข้มแข็งเราไปรอด หากชุมชนท้องถิ่นมารวมกันแล้วสร้างความเข้มแข็งประเทศไทยจะไปรอด สองคำนี้ไม่สามารถแยกกันได้ ชุมชน ท้องถิ่น ต้องหนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เราต้องคิดใหญ่และไปให้ถึง ทั้งนี้ พอช.มีงบประมาณน้อย แต่จัดลงถึงพื้นที่ และมีระบบระเบียบการสนับสนุนที่ยืดหยุ่น เอื้อต่อการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน ที่ผ่านมาได้พยายามทำงานร่วมกับผู้บริหารเชิงนโยบายของกระทรวง เพื่อเชื่อมต่อ ปิดรอยรั่ว และสร้างการรับรู้ความเข้าใจการทำงานร่วมกัน ทุกจังหวะก้าวเป็นการเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เชิงนโยบาย หน่วยงานในกระทรวงรับทราบสถานะตัวตนของ พอช.เพิ่มมากขึ้น
กิจกรรมในพื้นที่ตำบลเจริญธรรม มีการมอบบ้านพอเพียงจำนวน 2 หลัง ได้แก่ นางสังเวียน เพิ่มพูน และนางบุญเงิน นามโคตร หลังจากนั้น ได้มอบถุงยังชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยจำนวน 15 ถุง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี พร้อมทั้ง เยี่ยมชมกิจกรรมการไพหญ้าคา ซึ่งเป็นรูปธรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้มีรายได้น้อยในตำบล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 73,250 บาท (เจ็ดหมื่นสามพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้กลุ่มเปราะบางในฐานข้อมูล TP Map มีอาชีพและสร้างรายได้อย่างมั่งคง
หลังการลงพื้นที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเจริญธรรม ได้จัดประชุมอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก ครั้งที่ 4/ 2565 โดยมีการรายงานแผนปฏิบัติการของสถาบันฯ การขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก เช่น การป้องกันและต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชน สถานการณ์และการรับมืออุทกภัย การติดตามงานสำคัญ เป็นต้น ซึ่งในวาระการประชุมเพื่อพิจารณา : การจัดกลไกบริหารร่วมภายใต้การขับเคลื่อนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งภาคกลางและตะวันตกนั้น คณะอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก มีมติให้ยกระดับการบริหารจัดการในรูปแบบการกระจายอำนาจ โดยเน้นการสร้างระบบกลไกการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมในระดับกลุ่มจังหวัดทั้ง 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน (ชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี) และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) เพื่อให้เกิดการเสริมพลังการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในระดับจังหวัด และยกระดับการพัฒนาเชิงปริมาณสู่การพัฒนาเชิงคุณภาพในระดับตำบล ถือเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ที่มุ่งสู่การสร้างพลังความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างแท้จริง
ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน ณ ห้องประชุมตะแบกนา ชั้น 2 สำนักงานจังหวัดสระบุรี ผู้แทนอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี และผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก เข้าพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี (นายเอกพร จุ้ยสำราญ) โดยมีการแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชน กระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนให้เป็นกลไกกลางในการเชื่อมประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนาในพื้นที่
ในการนี้ มีการประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการหนุนเสริมความเข้มแข็งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน ซึ่งนางสาวน้ำค้าง คันธรักษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี กล่าวต้อนรับขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก พร้อมยินดีให้ความร่วมมือกับขบวนองค์กรชุมชนในการเสริมหนุนความเข้มแข็งชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างจังหวัด
ในการนี้ มีการประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการบูรณาการความร่วมมือในการหนุนเสริมความเข้มแข็งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคประชาชน ซึ่งนางสาวน้ำค้าง คันธรักษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี กล่าวต้อนรับขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก พร้อมยินดีให้ความร่วมมือกับขบวนองค์กรชุมชนในการเสริมหนุนความเข้มแข็งชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างจังหวัด
นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่อบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก กล่าวเสริมการเชื่อมโยงนโยบายของขบวนองค์กรชุมชนผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนในทุกระดับ เนื่องจากส่วนราชการมีเป้าหมายและกระบวนการที่แตกต่างกัน แต่ล้วนมีส่วนในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น แนวทางการขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์เพื่อผลัดดันสู่นโยบาย ส่วนหนึ่งจะต้องสร้างความสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในกลไกร่วมกับส่วนราชการทั้งในระดับจังหวัด/ กลุ่มจังหวัด ซึ่งสะท้อนการกระจายอำนาจ สร้างการรับรู้และแผนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ สามารถสร้างทักษะและความสามารถของขบวนองค์กรชุมชนได้
สุดท้ายคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี ยื่นแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชนจังหวัดสระบุรี ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) ต่อสำนักงานจังหวัดสระบุรี ผ่านพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดสระบุรี เพื่อบูรณาการแผนงานและงบประมาณกับแผนปฏิบัติการจังหวัดสระบุรีต่อไป