อุดรธานี / วันที่ 22-23 สิงหาคม 2565 เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติออกแบบการจัดทำข้อมูล วางแผนการติดตามกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, นายแก้ว สังข์ชู ประธานอนุกรรมการสวัสดิการชุมชนระดับชาติ, นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ คณะทำงานติดตามและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน, มณเฑียร สอดเนื่อง ที่ปรึกษาเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน, นายวิรัตน์ สุขกุล ประธานเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ผศ.พิศมัย ธารเลิศ คณะกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายประวัติ กองเมืองปัก คณะกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. และแกนนำเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัด เข้าร่วมการประชุม เพื่อประมวลสถานการณ์กองทุนสวัสดิการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิเคราะห์สถานการณ์ข้อจำกัดของกองทุน/จังหวัด แนวทางการติดตาม และแผนปฏิบัติการรายกลุ่มจังหวัด
นายวิรัตน์ สุขกุล ประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน เพราะงานสวัสดิการชุมชนเป็นงานที่สร้างสังคมแห่งการอยู่ดีมีสุข สังคมแห่งการฮักแพงแบ่งปัน ที่สำคัญภาคอีสานมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มี 2,967 ตำบล มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้วจำนวน 2,228 กองทุน ซึ่งทั้งประเทศมีประมาณ 5,000 กองทุนฯ จะเห็นว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนกว่าครึ่งประเทศอยู่ที่ภาคอีสาน ถ้าคนอีสานดำเนินการสวัสดิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้อีสานเป็นสังคมแห่งการอยู่ดีมีสุข คนในขบวนสวัสดิการมีอยู่สามช่วงวัย นักคิด นักปฏิบัติ คนรุ่นใหม่ การทำงานสวัสดิการจำเป็นที่ต้องมีการหนุนเสริมการทำงานด้านการเงินการบัญชีให้กับกองทุน และเนื่องจากเป็นพื้นที่ใหญ่ มีกองทุนจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ครบถ้วน โอกาสนี้เป็นโอกาสในการเคลียร์ฐานข้อมูลสวัสดิการให้เป็นจริงก่อนที่จะเริ่มปีงบประมาณใหม่ ปี 2566 ให้เห็นสถานะและวางแผนการดำเนินการให้บรรลุ ทั้งงานเร่งด่วน ที่ต้องเคลียร์ข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคม
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ ทางที่หนึ่งคือมาให้กำลังใจพี่น้องภาคอีสาน จะมาช่วยขยับงาน และมาบอกแนวทางการทำงานในปี 2566 อีสานมีกองทุนสวัสดิการชุมชนอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ เรารับเงินจากรัฐบาล งบประมาณที่สนับสนุนแต่ละปี จะมีระบบการติดตามเสริมความเข้มแข็งอย่างไร ในรอบปีนี้มีการติดตามระบบสวัสดิการชุมชน โดย กพร.มีการกำหนดค่าเป้าหมาย ซึ่งมีความยาก ลำพังประชาชนจะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายเป็นเรื่องยาก อีสานพื้นที่กว้างใหญ่ ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีเหมือนภาคอื่น อาจเป็นข้อจำกัดในการทำงาน เนื่องจากเราต้องช่วยกันตอบโจทย์ทั้งประเทศ ให้บรรลุผ่านเป้าหมายไปให้ได้ ปีหน้าเราจะเปลี่ยนวิธีการติดตามใหม่ เป็นเรื่องการรับรองมาตรฐาน ระบบการรายงาน ที่นัวเนียอยู่กับระบบเอกสาร ระเบียบ บันทึกการประชุม ค่อนข้างรกรุงรัง ซึ่งแก้ไขในตอนนี้ยังคงไม่ได้ แต่เราสามารถใช้ระบบเช็คลิตต์เอกสารต่างๆ ทั้งในระดับภาค ระดับจังหวัด ใช้การรับรองเข้ามา โดยมีตัวอย่างเอกสารของกองทุนที่สมบูรณ์แบบเป็นตัวอย่าง ซึ่งอาจจะทำให้ภาระลดลง เราไม่ควรเสียเวลากับตัวชี้วัด เราควรเอาเวลาไปทำงานเชิงยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ในการขับเคลื่อนงานมีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่ 1 มีบทบาทในการสนับสนุน ซึ่งก็คือ พอช. ที่ประกอบด้วย องค์กร ผอ. ผอ.ภาค และเจ้าหน้าที่ และส่วนที่สองเครือข่ายผู้นำสวัสดิการชุมชน ระดับชาติ ระดับภาค ระดับพื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญ หากในส่วนนี้ไม่ขับเคลื่อน พอช.ก็เคลื่อนไม่ได้ สถาบันจึงมีโจทย์สำคัญที่จะสนับสนุนกลไกของพี่น้องให้มากที่สุด ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สถานการณ์การเงินงบประมาณของรัฐปรับลดลงตามสัดส่วน ซึ่งปี 2566 ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภาฯ ซึ่ง พอช.ก็ถูกปรับลดงบประมาณลง 9 ล้านบาท โดยได้รับงบรวม 1,262 ล้านบาท โดยงบกว่า 70-80 เปอร์เซ็นจะลงพื้นที่ตำบล จังหวัด กลุ่มจังหวัด การจะเคลื่อนในปีข้างหน้า เราต้องกลับมาเก็บข้างหลัง เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด จะได้ไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณางบประมาณในครั้งถัดไป ที่จะกระทบกับพี่น้องกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อยรายกลุ่มจังหวัด 5 กลุ่ม เพื่อระดมความคิด สถานการณ์กองทุนเดิม สถานะกองทุนใหม่ เราจะมีแผนในการลงพื้นที่ติดตามอย่างไร ทีมมีองค์ประกอบอย่างไร รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนากองทุนสงัสดิการชุมชนภาคอีสานต่อไป