ณ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตำบลที่ก่อเริ่มการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันตามวิถีวัฒนธรรม สู่การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อจัดการสิทธิที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคงชนบท บนฐานความหลากหลายและสมบูรณ์ของนิเวศน์ป่า
“วิ่งคนเดียวอาจไปได้เร็ว แต่ถ้าวิ่งร่วมกันจะไปได้ไกลและมั่นคงกว่า” คงเป็นคำอธิบายการทำงานของคนในชุมชนตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ชัดเจน เมื่อพบเห็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากการได้ลงพื้นที่ทำกระบวนการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง ประจำปี พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคน 2565 ที่ผ่านมา โดย ทีมภาคีวิชาการภาคเหนือ นายธนันชัย มุ่งจิต (นักวิชาการอิสระ) นายกิตติศัพท์ วันทา (นักวิชาการอิสระ) และนายฐาปนพงค์ กัณฑศรีมา (นักวิชาการอิสระ) ร่วมกับสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร และสำนักงานภาคเหนือ
การพัฒนาที่เกิดขึ้นในที่แห่งนี้เดิมทีเป็นตำบลสุขภาวะจากการสนับสนุนของ สสส. มีความโดดเด่นในกลไกของกลุ่มคนสูงวัยที่ผลักดันกิจกรรมการพัฒนาในพื้นที่จนเกิดเป็นรูปธรรมของงานพัฒนา และมีการใช้สภาองค์กรชุมชนเข้ามาเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิดการแก้ไขปัญหาชองชุมชน ออกแบบวางแผนแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในตำบลแม่ลาหลวง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย
หลักการ “วิ่งสามขา” ที่ประกอบไปด้วย 1) ฝ่ายบริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2) ฝ่ายปกครอง ทีมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3) ฝ่ายประชาชน ประชาสังคมในตำบล ทั้ง 3 ฝ่ายดังกล่าว เป็นองค์กรประกอบที่ผสมกลมเกลียวกันในการทำงานของพื้นที่อย่างเข้มแข็ง และมีฐานคิดร่วมกันในการเห็นประโยชน์ของกิจกรรมการพัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาหนุนเสริมในชุมชน ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีร่วมกันแล้วนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่คนในชุมชนทั้งสิ้น เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยผ่านโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เข้ามาสนับสนุน
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาระเนื้อที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนผ่านกิจกรรมถอดองค์ความรู้ ซึ่งในเวทีดังกล่าวที่ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมกว่า 20 คน ที่มีความเกี่ยวข้องในแต่ละหมุดหมายของข้อมูลการพัฒนาบนเส้นเวลาประวัติศาสตร์ของชุมชน ที่เคลื่อนผ่านร่องรอยกิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน และนำสู่แนวทางที่จะขบคิดร่วมกันต่ออนาคตของชุมชน และนี่คือเค้าลางของรูปแบบและองค์ประกอบของการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่เข้มแข็งของพื้นที่ ซี่งจะสามารถติดตามความน่าสนใจของเนื้อหาและรายละเอียดทั้งหมดของกระบวนการพัฒนาของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้ โดยจะเผยแพร่ในช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่จะถึงนี้…โปรดติดตาม
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร