เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30 – 15.00 น. มีการจัดเวทีเสวนากลุ่มเฉพาะโครงการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย แกนนำสำคัญตำบลทับพริก นักวิชาการมหาวิทยาลัยบูรพา ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่พอช. สำนักงานภาคกรุงเทพปริมณฑลและตะวันออก สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
อาจารย์สกฤติ อิสริยานนท์ ภาคีวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
เริ่มต้นด้วย อาจารย์สกฤติ อิสริยานนท์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเสวนากลุ่มเฉพาะ นำสู่การอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูล เรื่องประวัติความเป็นมา การขับเคลื่อนงานของสภาองค์กรชุมชน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ตามลำดับเวลา Timeline รูปแบบกระบวนการทำงาน กลไก องค์ประกอบภาคีเครือข่าย ทรัพยากรสำคัญ ความสำเร็จในการขับเคลื่อน และแผนการขับเคลื่อนงานในอนาคต
แกนนำสำคัญตำบลทับพริก อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูล
นายวิชิต คำไกร ผอ.รพ.สต.ทับพริก : จากประสบการณ์ทำงาน 30 ปี ทำให้เห็นความสำคัญของการรับรองสถานะทางบุคคล การมีเลขบัตรประชาชน จะทำให้บุคคลเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐได้
ประธานบ้านมั่นคง : การทำงานของกลุ่มฌาปนกิจ ปัจจุบันหากสมาชิกเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชย 20,000 กว่าบาท การส่งเสริมอาชีพ กลุ่มโคบูรพา การปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร การทำสัญญากับโรงพยาบาลอภัยภูเบศรในการรับซื้อผลผลิตสมุนไพร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัด ทำโรงอบแห้ง โรงบด การทำงานต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน จนมีที่ดิน 25 ไร่ โครงการบ้านพอเพียง ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและส่งผลให้ใจผู้พักอาศัยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย ปัญหาสำคัญตอนนี้ เด็กติดเกมส์ มีหลายคนไปทำงานเป็นแก๊ง Call Center ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะรายได้จูงใจ 30,000 – 40,000 บาท!
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลทับพริก : การทำงานพัฒนาของสภาองค์กรชุมชนตำบลทับพริก มีจำนวนกลุ่มองค์กร 52 กลุ่ม ทำงานเรื่องบ้านพอเพียง ที่ดิน นำปัญหาต่าง ๆ หารือร่วมกับภาคีร่วมกับเวทีสภาอบต. เป็นเวทีเดียวกัน กล่าวว่า อสม. เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งที่สุด ทำเรื่องสุขภาพและทำทุกเรื่อง ช่วงสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 มีการปิดหมู่บ้าน ให้เข้า-ออก ทางเดียว มีการเปิดเป็นศูนย์พักคอย รับผู้ป่วยที่กลับมาจาก กทม. ทำงานบูรณาการกับทหาร ตำรวจ ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหลัก
กำนัน และ อสม.ดีเด่นระดับชาติ ด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด เล่าเพิ่มเติมว่า มีคณะกรรมการควบคุมโรค เฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดต่อทั้งและต่างประเทศ สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ทำงานกับคนไทยและแรงงานต่างด้าว ด้วยพื้นที่ติดเขตชายแดน มีการทำงานเรื่องความมั่นคง การป้องกันการขนส่งของหนีภาษี แรงงานข้ามชาติมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพโรคระบาดด้วย มีการทำงานกับหนวยงานภาคี สสส. ในการสร้างความเข้มแข็ง มีศูนย์เฝ้าระวัง ดำเนินการเข้มงวดกวดขัน พยายามทำให้เป็นตำบลสุขภาวะ สร้างความปลอดภัยใน
นายวิชิต คำไกร ผอ.รพ.สต. พาลงพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
การทำงานในลักษณะสร้างการมีส่วนร่วม มีอิสระทางความคิด การร่วมตัดสินใจปฏิบัติ การมีสำนึกร่วมต่อชุมชน การแก้ไขปัญหาตามแนวทางการจัดการตนเอง เพราะคนข้างนอกมาแค่ให้กำลังใจ ที่ผ่านมามีความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา เรื่องท้องก่อนวัยอันควร มีการเฝ้าระวังพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน อบต.จัดรถบริการตรวจสุขภาพแก่สมาชิกในชุมชน เป็นการลดภาระค่าเดินทางของสมาชิกในชุมชนที่จะไปหาหมอที่โรงพยาบาล เกิดกลุ่มสายใยรักสู่ชุมชน ผู้นำสู่ชุมชน สายใยรักสู่ชุมชน ปัจจุบันมีพยาบาลชุมชน 8 คน ซึ่งเป็นการให้โอกาสเด็กและเยาวชนด้านการศึกษา กลับมาทำงาน โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป เป็นต้น
นี่คือข้อมูลบางส่วนจากการอภิปรายแลกเปลี่ยน ซึ่งก่อนจัดเวทีอาจารย์สกฤติ อิสริยานนท์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ส่งประเด็นคำถามให้แกนนำสำคัญเขียนตอบกลับมา และวันนี้เป็นการพูดคุยเพื่อทบทวนข้อมูลจากการศึกษาเอกสารต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังซึ่งมีบางส่วนยังไม่ตรงกัน สอบถามเพิ่มเติม เรื่องสิ่งที่ตั้งใจไว้ สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ใคร หน่วยงานใด ที่เกี่ยวข้องและมีบทบาท และคำถามสุดท้ายโครงการที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นการยกระดับ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ
สมาชิกชุมชนกำลังเก็บผลผลิตจากการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
“โครงการสวยใสไม่ท้อ” หลายคนผิดพลาดแล้วเอาคืนไม่ได้ ผมบอกเด็กและเยาวชน อย่าพลาดไปติดเอดส์ ติดยา “โครงการเด็กไม่จมน้ำ” ประทับใจ เด็กอายุ 2 ขวบลอยตัวในน้ำ 30 นาที เป็นโครงการง่าย ๆ มีเด็กเขมร ลูกคนงาน เข้ามาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก กรณีสถานการณ์โรคระบาด covid-19 ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี” คุณวิชิต คำไกร ผอ.รพ.สต.กล่าวช่วงท้าย
เขียนและเรียบเรียง
นางสาวสมจิตร จันทร์เพ็ญ เจ้าหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้อาวุโส
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร