สุพรรณบุรี / วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30 น. สำนักงานภาคกลางและตะวันตก ร่วมกับสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร ทีมนักวิชาการภาคกลางและตะวันตก จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่ถอดบทเรียนการทำงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามโครงการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง ปี 2565 โครงการนี้ถือเป็นการยกระดับการทำงานจาก ปี 2564 โดยปี 2565 คัดเลือกพื้นที่ 5 ภาค ๆ ละ 4 พื้นที่ รวม 20 พื้นที่ทั่วประเทศ คาดหวังว่าจากการดำเนินโครงการ สถาบันจะมีองค์ความรู้ในรูปแบบและองค์ประกอบของตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง เผยแพร่สู่สาธารณะ
การเก็บข้อมูลในวันนี้ ใช้การเก็บข้อมูลด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การสนทนากลุ่ม focus group กับกลุ่มผู้นำและสมาชิกในชุมชน เน้นกรณีเหตุการณ์การปิดหมู่บ้านหมู่ 8 เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564 ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยน พบว่า กำนันเป็นบุคคลสำคัญ คณะกรรมการหมู่บ้าน 8 หมู่บ้านต่างยอมรับและให้ความเคารพนับถือ กำนันเปรียบเหมือนผู้บังคับบัญชา ร่วมกับทีมงานแกนนำ 10 คนที่มีจิตอาสามาแก้ไขปัญหาวิกฤตครั้งนี้ โดยใช้สถานที่ ณ ที่ทำการกำนัน ทำงานกันทุกวัน ตั้งแต่ 07.00 น. บางวันถึงเวลา 19.00 น. มีการสร้างกติกาข้อตกลง กล้ายอมรับความจริงต่อสาธารณะว่าสมาชิกหมู่ 8 ติดเชื้อโควิด-19 จนถูกรังเกียจจากสมาชิกหมู่อื่นในตำบล และหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยขาดความรู้ความเข้าใจโรคโควิด-19 ในช่วงแรก
ทีมงานจิตอาสา ตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน มีการปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ สื่อสารผ่านช่างทางต่าง ๆ เสียงตามสาย line facebook คิดว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือหยุดยั้งการติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้ สุดท้ายผลสำเร็จเป็นที่พอใจว่า จำนวน 60 คนที่ติดเชื้อสามารถรักษาหายและหยุดยั้งการติดเชื้อได้ โดยใช้สมุนไพรจากศูนย์เรียนรู้ภายในหมู่ 8 หน่วยงานให้การยอมรับการทำงานของภาคประชาชนจากเดิมที่ขาดความเชื่อมั่นและเกิดความขัดแย้งในช่วงแรก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดำเนินการสำเร็จ “ข้อมูลสำคัญมาก” ประสบการณ์การทำงานของกำนันกว่า 32 ปี ทำให้มีข้อมูลของสมาชิกในชุมชนเป็นอย่างดี ความรักความสามัคคีของทีมงาน การบริหารจัดการที่โปร่งใส ไม่รับเงินบริจาครับเฉพาะสิ่งของ การจัดลำดับความสำคัญผู้เดือดร้อน การขอบคุณและสื่อสารให้ผู้บริจาครับรู้ว่าสิ่งของถึงมือผู้เดือดร้อนโดยตรง “เราลืมไปว่า ตัวเราช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่าคนอื่น” กำนันเชน กาฬษร กล่าวทิ้งท้าย การปิดหมู่บ้านจึงเป็นนวัตกรรมความสำเร็จจากโครงสร้างการกระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
กำนันเชน กาฬษร
ปีที่ผ่านมามีการจัดสนทนากลุ่ม focus group ในช่วงสถาการณ์ โควิด-19 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อมูลที่ได้ย่อมมีความแตกต่างจาการลงพื้นที่จริง ปัจจุบัน โครงการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลต้นแบบนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง ปี 2565 ทีมงานนักวิชาการ 5 ภาค กำลังเร่งจัดเก็บข้อมูล นอกจากข้อมูลที่ได้แล้ว สิ่งสำคัญ คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน เจ้าหน้าที่พอช. นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เขียนและเรียบเรียงโดยนางสาวสมจิตร จันทร์เพ็ญ
เจ้าหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้อาวุโส
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร