ชาวชุมชนเขาคูบายื่นหนังสือข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมฯ
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนางสาวรังสิมา รอดรัศมี ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ชุมชนเขาคูบา ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เพื่อรับฟังปัญหาของชาวชุมชนเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อยู่อาศัย ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การขอทะเบียนบ้าน การขอใช้ไฟฟ้า ขาดโอกาสในการรับงบประมาณพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น
การลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการฯ ครั้งนี้ มีชาวชุมชนกว่า 250 คนเข้าร่วมให้ข้อมูลและร้องเรียนปัญหา พร้อมทั้งหน่วยงานภาคีในจังหวัดเข้ารับฟัง ได้แก่ เทศบาลเมืองสระบุรี ที่ดินจังหวัดสระบุรี นายอำเภอเมืองสระบุรี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปลัดจังหวัดสระบุรี เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระบุรี และผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคกลางและตะวันตก
นายชูเดช เณรสุวรรณ ผู้แทนชุมชนเขาคูบา
นายชูเดช เณรสุวรรณ ผู้แทนชุมชนเขาคูบา ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า ชุมชนเขาคูบาประกอบไปด้วยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย จำนวน 731 หลังเรือน ผู้อยู่อาศัยประมาณ 2,529 คน เนื้อที่ชุมชนประมาณ 253 ไร่เศษ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ ชุมชนเขาคูบา 1 เนื้อที่ 154 ไร่ และชุมชนเขาคูบา 2 เนื้อที่ 99 ไร่เศษ
เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2482 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามในท้องที่ตำบลปากเพรียว เพื่อใช้ประโยชน์แก่ราชการของ “กรมรถไฟ” ในการผลิตศิลา
เหตุการณ์สำคัญครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2502 ได้มีการประกาศใช้เนื้อที่ จำนวน 99 ไร่เศษ ในชุมชนเขาคูบา เพื่อเป็นที่สำหรับใช้ในราชการกระทรวงคมนาคม (ที่หมวดทำศิลาของ “การรถไฟ”)
เหตุการณ์สำคัญครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดิน แปลงเขาคูบา 1 จำนวน 154 ไร่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 การรถไฟฯ ให้บริษัทเอกชนทำสัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งชุมชนสงสัยว่าเมื่อไม่มีการทำศิลาตั้งแต่ปี 2521 แต่ทำไมที่ดินยังคงเป็นของการรถไฟฯ ชาวบ้านในชุมชนเขาคูบาจึงรวมตัวไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานในจังหวัด
ในปี พ.ศ. 2558 ได้มีหนังสือจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรชุมชนเขาคูบาไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อให้ถอนสภาพที่ดิน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้การติดต่อชี้แจงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2565 ผู้เดือดร้อนในชุมชนเขาคูบาได้รวมตัวกันออกแบบการอยู่อาศัย โดยจะปรับปรุงบ้านเรือนให้มีความมั่นคง พัฒนาระบบสาธารณูปโภค และมีแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) แต่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากยังติดขัดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว
ทั้งนี้ผู้แทนชุมชนเขาคูบาได้ยื่นหนังสือข้อเสนอของชุมชน 2 เรื่อง ดังนี้ คือ 1. ให้มีการถอนสภาพที่ดิน เลขที่ 466/2502 เนื้อที่ประมาณ 99 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวา เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน
- ที่ดินแปลงพื้นที่เขตพระราชกฤษฎีกำหนดเขตหวงห้ามสัมปทานที่ดินเพื่อทำศิลา ในท้องที่ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2482 และ พรฎ.ถอนสภาพ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2521 เนื้อที่ประมาณ 154 ไร่เศษ กรมที่ดินต้องจัดให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย มีเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อมาเวลา 10.45 น. คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดสระบุรีเพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด โดยมีธนารักษ์พื้นที่สระบุรี และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระบุรีร่วมประชุมด้วย เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือและทางออกในการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสระบุรี ดังนี้
- ให้การรถไฟไปหารือแนวทางปลดล็อกที่ดิน 99 ไร่ ให้เหมือนกับแปลง 154 ไร่ ว่าจะทำได้อย่างไร
- ให้การรถไฟคืนพื้นที่ 99 ไร่ เพราะเดิมเป็นที่ดินของจังหวัดสระบุรีที่ยกให้การรถไฟประกอบกิจการศิลาเหมือง ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการแล้ว จึงเสนอให้คืนเพื่อให้จังหวัดจัดการที่ดินต่อไป
- ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ ระหว่างการอยู่อาศัยของชาวบ้านกับการรถไฟฯ ว่าใครอยู่ในพื้นที่ก่อนกัน ถ้าชาวบ้านอยู่ก่อนต้องคืนพื้นที่ให้กับชาวบ้าน
- ให้การรถไฟฯ ตอบหนังสือทวงถามความคืบหน้าของจังหวัดสระบุรีที่ส่งไปถึง 4 ครั้ง เพื่อให้ชัดเจนเรื่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ต่อไป
การประชุมครั้งนี้ดำเนินไปถึงเวลา 12.30 น. โดยคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมหารือเรื่องข้อเสนอของชุมชนในคณะกรรมาธิการฯ และจะส่งผลการพูดคุยมายังจังหวัดสระบุรีต่อไป
เรื่องและภาพโดย : นายพงศกร ศรทรง ปฏิบัติการชุมชน สำนักงานภาคกลางและตะวันตก