ราชบุรี : วันที่ 10 มิถุนายน 2565 สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก จัดเวที ‘พัฒนาศักยภาพคณะทำงานสวัสดิการชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี)’ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 50 คน ประกอบด้วย เครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั้ง 3 จังหวัด และผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพกองทุนสวัสดิการชุมนระดับตำบล ส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของคณะทำงานสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด และพัฒนาข้อเสนอการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนระดับนโยบายเพื่อเสนอต่อภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
นางสาวเรืองลักษณ์ ทิพย์ทอง ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี กล่าวต้อนรับ พร้อมให้กำลังใจ พี่น้องเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนในพื้นที่
นายธนพล ศรีใส ผู้แทนคณะทำงานสวัสดิการชุมชนภาคกลางตะวันตก ชี้แจงวัตถุประสงค์ พร้อมรายงานผลการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก ซึ่งจากกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตกจำนวน 741 กองทุน มีจำนวนสมาชิก 516,400 คน และเงินกองทุนสะสมรวมทั้งสิ้น 1,558,553,312.75 บาท โดยที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนมีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกจำนวน 323,439 ครั้ง งบประมาณรวม 675,283,745 บาท รวมทั้งการขับเคลื่อนงานในปีที่ผ่านมา การจัดเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก ปี พ.ศ. 2564
นายสิน สื่อสวน ที่ที่ปรึกษาเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของสวัสดิการชุมชน หลายเรื่องที่เป็นงานพัฒนาในพื้นที่แล้วหยุดดำเนินการไป แต่สวัสดิการชุมชนสามารถดำเนินการได้โดยการขับเคลื่อนงานโดยชาวบ้าน จุดเริ่มต้น ในปี พ.ศ. 2546 มีการจัดงานใหญ่ของภาคประชาชน “มหกรรมวิถีพลังไทย” โดยชาวบ้านองค์กรชุมชนหารือในสิ่งที่ต้องการดำเนินการในแนวทางที่คล้ายกัน เป็นเรื่องที่ดีและเกิดประโยชน์กับชาวบ้าน เกิดแนวคิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของสังคมไทยมาเป็นงานพัฒนา เกิดการสร้างกองทุนที่เปรียบเสมือนการทำบุญ ซึ่งเป็นการเสียสละเงินวันละบาทสร้างเป็นกองบุญ โดยกองทุนฯ สะท้อนแนวคิดการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือกันในชุมชน รวมไปถึงการช่วยเหลือสังคม โดยยึดหลักการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” จากนั้นจึงมีการส่งเสริมเรื่องการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานในการหนุนเสริม ซึ่งในปี 2548 เครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้มีการผลักดันจนสามารถบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อนงาน และต่อมาในปี 2551 สมัยรัฐบาลนายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศนโยบายการสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนจนเกิดมาเป็น ‘สวัสดิการ 3 ขา’ โดยเป็นดึงเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ปัจจุบันเครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้ผลักดันให้มีการกำหนดสิทธิเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 (4)
การจัดทำแผนพัฒนาการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนระยะ 5 ปี มีเป้าหมายสำคัญ คือ สวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้คนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดย มีภารกิจ 2 เรื่อง ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการสนับสนุนคนในพื้นที่ และการผลักดันให้สวัสดิการชุมชนเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งมีมาตราการในการดำเนินการ 5 มาตราการ 1. สร้างบทบาทและความสามารถกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในพื้นที่ โดยการทำให้กองทุนเข้าถึงคนในพื้นที่ และการพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเปราะบาง 2. สร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน 3. สร้างความเข้มแข็งของกลไกเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 4. สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ 5. การผลักดันเชิงนโยบาย พร้อมย้ำให้เครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั้ง 3 จังหวัด พัฒนาฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนที่อยู่ในเกณฑ์ C D และการค้นหาสาเหตุของกองทุนสวัสดิการที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่ดี เป็นต้นทุนของสังคมไทยในการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันให้ดำรงค์อยู่ได้ในสังคมตลอดไป
ต่อมา นายกฤษดา สมประสงค์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวทักทายผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวถึง หลักคิดสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมคือการพึ่งตนเอง โดยประชาชนเป็นเจ้าของการพัฒนาขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนโดยรัฐเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในภายหลัง ในปี พ.ศ. 2553 การเติมเต็มช่องโหว่สวัสดิการชุมชน โดยการมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อเติมเต็มการดูแลพี่น้องประชาชน เพราะยังมีช่องว่างที่ประชาชนควรได้รับแต่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นที่มาของมติรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่ให้ประชาชนสมทบเงินกองทุนสวัสดิการชุมชน 1 ส่วน รัฐบาลสมทบ 1 ส่วน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ส่วน จึงแนวทางของกระทรวงมหาดไทยในการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบทในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาร่วมกันกับพี่น้องประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 เกิดการกำหนดเป็นตัวชี้วัดของสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัด ให้ส่งเสริมการจัดตั้งและการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเกิดการขยายตัวเรื่อยมาจนปัจจุบัน แต่ยังมีพี่น้องหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับโอกาส โดยเงินที่รัฐบาลและท้องถิ่นสมทบให้กองทุนฯ ล้วนเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น
“กองทุนสวัสดิการชุมชนทั้ง 3 จังหวัด ที่มีการจัดเกณฑ์ความเข้มแข็งอยู่ในระดับ C D และกองทุนที่หยุดดำเนินการ เป็นสิ่งที่พี่น้องเครือข่ายจะต้องออกแบบฟื้นฟูกองทุนฯ เหล่านั้น เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเป็นกองทุนที่อยู่ในระดับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีความเข้มแข็งในอนาคต การสนับสนุนและการสมทบของท้องถิ่นในปัจจุบันเป็นะเบียบของกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่สามารถสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณอุดหนุนเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนฯ นอกจากนี้แล้วในขณะนี้กำลังหารือในเรื่องของการสมทบกองทุนขาที่ 4 คือ ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนที่ทำงานและต้องเสียภาษี โดยการบริจาคเงินให้กับกองทุนและสามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยหลักการในเบื้องต้นองค์กรที่จะสามารถรับเงินได้จะต้องเป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวพันธ์กับกฏหมาย หรืออีกแนวทาง คือ การบริจาคผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพราะฉะนั้นทิศทางเดินไปข้างหน้า จำเป็นที่จะต้องพัฒนายกระดับกองทุน C D และกองทุนที่หยุดดำเนินการ โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายกฤษฎากล่าว
ต่อมามีการแบ่งกลุ่มย่อยระดับจังหวัด เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การขับเคลื่อนงานสวัสดิการในจังหวัด (คน/งาน/งบประมาณ) และกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล กระบวนการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน ระดับ C, D และกองทุนสวัสดิการชุมชนที่หยุดดำเนินการ ซึ่งได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน และข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนงาน โดยมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างจังหวัด
ช่วงท้ายนายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก ตอกย้ำทิศทางการเคลื่อนงานสวัสดิการภาคกลางตะวันตก ความว่า ชุมชนท้องถิ่นการจัดการตนเองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยการมุ่งเป้าช่วยเหลือคนที่อยู่ระดับล่างให้ได้มากที่สุด ซึ่งกองทุนสวัสดิการชุมชนมีเป้าหมาย คือ การให้คนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน ได้รับการดูแล เกิดความร่วมมือของขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ในการหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน เพื่อให้กองทุนสวัสดิการชุมชนที่กำลังดำเนินงานเกิดความเข้มแข็งยกระดับการพัฒนา และกองทุนที่กำลังจะหยุดดำเนินการเกิดการฟื้นฟูให้กลับมาสามารถจัดการตนเองได้ กองทุนสวัสดิการชุมชนจะเกิดความยิ่งใหญ่หากพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนรวมตัวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งกองทุนฯที่มีความเข้มแข็ง และกองทุนฯที่ไม่เข้มแข็ง