สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน / กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีต รมต.สำนักนายกฯ ร่วมเวที “เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และขบวนองค์กรชุมชน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)” ชี้ชุมชนมาถูกทางแล้ว อนาคตอยู่ในมือของเรา พอช.เป็นศูนย์กลางของผู้นำชุมชน ที่จะกำหนดอนาคตของชุมชนทั่วประเทศไทย
วันนี้ 9 มิถุนายน 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และขบวนองค์กรชุมชน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) เพื่อออกแบบวางเป้า ระดมความคิด สร้างฐานชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อคุณภาพชีวติที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ให้ชุมชนเข้มแข็งจากฐานราก โดยจัดทั้งระบบ Onsite และ Online ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 180 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บริเวณลานชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)
การจัดทำแผนพัฒนา ชุมชนท้องถิ่น เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยเริ่มจากการกระตุ้นจิตสำนึก และความรับผิดชอบของประชาชน/ชุมชนให้มีจิตสาธารณะและร่วมกันคิด ร่วมกันจัดทำ ร่วมกันเรียนรู้ วิเคราะห์ เพื่อให้รู้และเข้าใจตนโดยใช้การสำรวจข้อมูลและปัญหาศักยภาพของชุมชน การวิเคราะห์สาเหตุ แนวทางการแก้ไขไปสู่การกำหนดอนาคตและทิศทางการพัฒนาตนเองและชุมชน ออกมาเป็นกิจกรรมโครงการที่จะแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชน ในลักษณะจากชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนของชุมชน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ บรรยายพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ และแนวโน้ม ชุมชนไทยในระยะ 5 ปี ข้างหน้าภาพชุมชนไทยในอนาคต’ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า
ประเทศไทยมีโอกาส ชุมชนคือคำตอบ
อนาคต พี่น้องผู้นำชุมชนเราเข้มแข็ง เห็นพัฒนาการการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีโครงการดีๆ ขึ้นมากมาย ที่ร่วมกันคิดค้น “อนาคต-เราสร้างอนาคตของชุมชนของเราได้” คือ อนาคตอยู่ในมือของเรา อยู่ที่ว่าเราจะทำอะไร พอช. เป็นศูนย์กลางของพี่น้องขบวนองค์กรชุมชน ที่จะกำหนดอนาคตของพวกเราเอง ทำอย่างไรเราจะกลับมาสู่การพัฒนาที่แท้จริง
ร.9 ได้พระราชดำรัสไว้ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 “ขอให้ทุกคนมีความสำเร็จพอสมควร เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศไทได้ดี ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จพอเพียง เพื่อให้บ้านเมืองบรรลุ ความสำเร็จที่แท้จริง” และมีแนวทางการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป” สิ่งที่จะทำให้บังเกิดคือการสร้างจากฐานที่แหล่ะ รัฐบาลที่ผ่านมามองและคุยกันเพียงยอด กล่าวคือ การพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของฐานรากนั้นสำคัญ ที่เรามาคุยกันวันนี้เป็นการวางและสร้างเสาเข็มของประเทศไทย
6 มิติของการพัฒนา “เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ทุกพื้นที่
การสร้างผู้นำชุมชน รวมทั้ง สร้างรุ่นต่อไป ผู้นำชุมชนถือเป็นหัวใจที่สำคัญในงานพัฒนา ต้องมาออกแบบร่วมกันถึงวิธีการสร้างโรงเรียนของผู้นำชุมชน และส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น เพื่อความเข้มแข็งที่ยั่งยืนของชุมชน สิ่งที่สังเกตุเห็นคือ ที่ไหนผู้นำเข้มแข็ง ชุมชนนั้นก็จะเจริญไปด้วย
การทำโครงการร่วมกัน สานพลังเล็กๆ ให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เรามีผู้นำชุมชนแต่ละพื้นที่ ถ้าแยกกันทำมันก็พอได้ แต่จะไม่เป็นหลังที่ยิ่งใหญ่ ทำยังไงที่จะมีโครงการที่จะทำร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ ทำทุกพื้นที่ทั่วไทย เช่น สถาบันการเงิน การสร้างศูนย์เด็กเล็กในชุมชน ยกตัวเช่น การจัดการขยะในแม่น้ำ ถ้าเราร่วมกับเอกชน ยกตัวอย่างสัก 30 ที่ ที่ทำเรื่องขจัดขยะในแม่น้ำ มาออกแบบร่วมกัน ก็จะเกิดเป็นการสานพลัง การกำจัดขยะก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีกว่าแยกกันกันทำ ถ้าเรารวมพลังกัน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้
การสร้างโครงข่ายชุมชน 4.0 เพื่อเพิ่มความร่วมมือ ณ ยุคปัจจุบันเป็นยุคออนไลน์ เราสามารติดต่อกันได้รวดเร็วกว่าแต่ก่อนมาก สร้างโครงข่ายชุมชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประหยัดทั้งเงินและเวลา สร้างทำเนียบปราชญ์ชาวบ้าน แหล่งความรู้ชุมชน เช่นความรู้ด้านการเกษตร การททำสินค้าแปรรูป หรือความรู้ในชุมชนด้านต่างๆ ถ้าเราสามารถนำความรู้ทุกคน ระดมสมองทุกคนมาทำให้เกิดเป็นพื้นที่เดียวกัน ให้เด็กๆและคนในชุมชนได้เรียนรู้ จะสามารถทำห้ชุมชนเราก้าวหน้าไปได้อีกเยอะ
การยกระดับการหาเงิน งบประมาณ ให้กับชุมชน งบประมาณ ณ ปัจจุบัน มีงบประมาณเพื่อชุมขนมากมายหลายอย่าง แต่ชุมชนยังเข้าไม่ถึง อยากให้ พอช. เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการของบประมาณต่างๆ เพื่อชุมชน เช่น งบจาก พม. มศว. และเพิ่มคนติดตามเรื่องนี้ ถ้าชุมชนเป็นคนหาเองติดตามเองชุมชนก็จะเจอกับภาวะที่เรียกว่าเหนื่อยใจ เราควรจะสร้างฐานตรงกลางคอยดูแลเรื่องเหล่านี้ให้กับชุมชน และในระยะยาวเราต้องสร้าง กองทุนพัฒนาชุมชนและสังคม ให้ได้ ใช้เงินนิดเดียวแต่สร้างผู้นำชุมชนได้จำนวนมาก
การแก้ไขกฎหมาย และการนำกฎหมายที่แก้แล้วมาใช้ กฎหมายบางฉบับที่แก้แล้ว เราก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ให้สูงสุด อยากชวนทำกฎหมายใหม่ และแก้กฎหมายเดิม อย่างเช่นเรื่องป่าชุมชน ถ้าเราทำโครงการร่วมกัน หาหน่วยงานใน พอช. เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนในการขอพื้นที่ป่าชุมชนทั่วไทย เป็นเรื่องที่อยากจะชวนทุกคนคิดว่าจะทำอย่างไรถึงได้ป่าเต็มพื้นที่ให้ได้
การร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆ การร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆ เราต้องคิดว่าถ้าอยากให้สำเร็จ เราจะทำคนเดียวไม่ได้ มองถึงการร่วมระดมความร่วมมือเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ขยะ มีโครงการและผลักดันให้ส่วนต่างๆ มาร่วม ทั้ง กพร. รัฐบาล เอกชน ชุมชน เป็นต้น ประเทศไทยต้องหาระบบใหม่ อย่างเอกชนที่อยากทำงานกับชุมชน ที่อยากจับมือและเดินหน้าไปด้วยกัน เราจะไม่ผลิตแล้วเสี่ยงดวงว่าเราจะขายได้ เราต้องหาตลาดก่อน หาผู้เชี่ยวชาญมาร่วมมาช่วย แม้กระทั่งกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ อย่าง อว. ทำหลักสูตรกับชุมชน ในระยะยาวต้องดึงมหาวิทยาลัยมาช่วยสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีกับชุมชน รวมไปถึงฑูตประเทศต่างๆ อยากทำงานกับประเทศไทย
6 มิติที่กล่าวมานั้น เป็นการพัฒนา เพื่อมาสู่ชุมชนเข้มแข็งทุกพื้นที่ ให้ทุกคนมีพลังในอนาคต ทั้งหมดจะเกิดขึ้น ถ้าผู้นำมีการทำโครงการร่วมกันเพื่อสร้างความยั่งยืน สมัยนี้ต้อง “เข้มแข็งหรือแข็งแรงจากฐานราก” มีโครงการของชุมชนที่เข้มแข็ง เช่น สวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจชุมชน ปราชญ์ชุมชน สภาชุมชน ป่าชุมชน ผู้นำชุมชน พยายามทำและขยายองค์ประกอบให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง
“โครงการแผ่นดินทอง” เป็นโครงการที่จะหนุนเสริมความเข้มแข็งจากฐานราก เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ สมาร์ทซิตี้ ธนาคารต้นไม้ ธนาคารปูม้า ธนาคารโค ท่องเที่ยวชุมชน โซลาชุมชน ฝายมีชีวิต เป็นการแก้ทุกข์แก้ปัญหาจากข้างล่าง
ทั้งหมดเป็นคำตอบในพื้นที่ เป็นมิติที่ชุมชนทำหลากหลายในพื้นที่ เก่งเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น และมีกระบวนการแลกเปลี่ยนกัน อย่างเรื่อง วิสาหกิจชุมชน เราทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการตลาดถาวร ควรทำให้เป็นระบบ ต่อยอด รวมกลุ่มยกระดับผลิตภัณฑ์และการตลาด เพิ่มมูลค่า
บนแนวคิด…เราทำได้ ทำในสิ่งที่เราทำได้ ทำแล้วสำเร็จ แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน สุดท้าย เราก็ทำได้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
ต่อมาภายในเวที ได้แบ่งกลุ่มย่อยการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาชุมชนท้งถิ่นและขบวนองค์กรชุมชนระยะ 5 ปี” (พ.ศ.2566-2570) โดยแบ่งเป็นประเด็นยุทธศาตร์ทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้
1.การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถื่น มีระบบพัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง
2.การจัดระบบความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบาย
3.การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนและองค์กรชุมชน
4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กร
โดยการแบ่งกลุ่มย่อยดังกล่าวจัดทั้งในระบบ Onsite และ Online โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. ขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภาค ร่วมออกแบบและระดมความคิด ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและขบวนองค์กรชุมชนระยะ 5 ปี นี้ด้วย
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เชื่อมั่นว่า การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นฯ จะเป็นเครื่องมือที่ก่อเกิดประโยชน์ให้กับชุมชน และประชาชนในชุมชนได้