สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน / วันนี้ 6 มิถุนายน 2565 ประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ณ ห้องประชุม 301 – 302 ชั้น 3 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีผู้แทนหน่วยงาน นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ฯ เข้าพบปรึกษาหารือแนวทางการทำงานระหว่างหน่วยงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยนางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ เป็นผู้แทนสถาบัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน และเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมประชุม ฯ ในครั้งนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์การพูดคุยเพื่อหารือในการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันในระดับตำบลและจังหวัด ในปีงบประมาณ 2565
นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ “ กล่าวต้อนรับผู้แทนหน่วยงานจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ และกล่าวถึงที่มาที่ไปของความร่วมมือนี้ ว่าจากการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ปี 2563 ซึ่งได้มีบันทึกความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่มีความร่วมมือเพื่อสร้างแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันในปี 2563 บูรณาการแผนพัฒนาเกษตรกรรมชุมชน โดยมีความคาดหวังในการดำเนินการร่วมกันต่อไปนับจากนี้ ”
นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ “ทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และให้เกิดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธกส. สสส. กรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ สำหรับการปรึกษาหารือในวันนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานร่วมกัน และสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนงาน โดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไป ”
นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ “ เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานของตำบลนั้นมีความสำคัญต่อการดำเนินการ ซึ่งเป็นฐานรากของสังคม และควรให้ความสำคัญของการสื่อสารกับสภาเกษตรกรในระดับจังหวัด รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกันของหน่วยงานในปีงบประมาณ 2566 และชักจูงหน่วยงานความร่วมมือร่วมดำเนินการ สร้างเครื่องมือปฏิบัติการร่วมกันในพื้นที่ ต่อไปได้ ”
จากการปรึกษาหารือ พูดคุยในครั้งนี้ ได้เกิดข้อเสนอแนะและแนวทางที่สำคัญ นำไปสู่การดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งสรุปแนวทางร่วมกัน ดังนี้
- ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนมีข้อคิดเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกัน ได้ให้ความเห็นว่า ในระดับจังหวัด ควรใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนจังหวัด เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการทำงาน หรือสร้างกิจกรรมร่วมในพื้นที่ มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนที่เห็นถึงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน , ควรมีการบูรณาการงานเดิมที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน และในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ ส่งเสริมให้มีทีมปฏิบัติการ โดยมีพื้นที่ร่วมปฏิบัติการตามเกณฑ์เงื่อนไขตามหน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดการออกแบบสนับสนุนผ่านกลไกในระดับจังหวัดหนุนเสริมการขับเคลื่อนงาน , และนำประเด็นข้อเสนอ
เชิงนโยบายของที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน ปี 2564 ที่เกี่ยวข้องกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้แก่ ประเด็นป่าไม้และที่ดินที่อยู่อาศัย การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร CPTPP พัฒนาระบบการผลิตของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อใช้เป็นแนวทางผลักดันในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่สู่ระดับนโยบายต่อไป - แนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน ซึ่งเกิดข้อเสนอ และแนวทางการขับเคลื่อนงาน ดังนี้
- การผลักดันนโยบายในระดับพื้นที่ให้เกิดขึ้นจริง และดำเนินการขับเคลื่อนงานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่นำร่อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหา สามารถจัดการตนเองได้ในด้านการเกษตร
- การมีแผนพัฒนาตำบล จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน และบูรณาการระดับตำบล ซึ่งที่
ผ่านมาได้มีแนวทางในการจัดทำฐานข้อมูล มีแผนการขับเคลื่อนทั้งในระดับจังหวัดและในระดับภาค และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกัน โดยมีความจำเป็นที่ต้องคัดเลืกพื้นที่ปฏิบัติการร่วม พร้อมทั้งให้มีกลไกคณะทำงานร่วมกัน จึงเห็นควรให้มีการผลักดันการปฏิบัติการให้เกิดขึ้นจริงในแต่ละแผนงาน - ด้านแผนพัฒนาเกษตรกรรมในระดับตำบล ที่ได้ดำเนินการในปี 2559 ซึ่งเห็นควรให้เป็นเครื่องมือของสภาองค์กรชุมชน และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้บูรณาการขับเคลื่อนเกษตรกรรมในพื้นที่ จึงเสนอให้มีแนวทางปฏิบัติการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม , การลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่ต้นแบบนำร่องปฏิบัติการภาคการเกษตร ที่มีการเชื่อมโยงในการจัดการทางสังคม เศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมรายได้ และเป็นพื้นที่ที่สอดคล้องกับภารกิจของทั้ง 2 หน่วยงาน และสามารถนำเสนอปัญหาเชิงนโยบายทางการเกษตร เสนอต่อรัฐบาลให้สนับสนุนแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรไทยได้
- ทั้งนี้ เสนอให้มีพื้นที่ปฏิบัติการจังหวัดนำร่อง พร้อมให้มีการผลักดันภารกิจร่วมกันระหว่างหน่วยงาน โดยมีแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มีการเสนอพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง จำนวน 23 ตำบล) โดยได้มีการออกแบบให้มีการจัดตั้งทีมทำงานร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายนี้ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงาน ออกแบบการทำงาน หนุนเสริมปฏิบัติการร่วมกันต่อไป
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (กลางภาพ)
ในช่วงท้ายสุดของการปรึกษาหารือนี้ นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน “ ได้กล่าวขอบคุณผู้แทนหน่วยงานจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ได้มาหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และสภาองค์กรชุมชน ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญนำไปสู่การสร้างแผนปฏิบัติการ และได้พื้นที่นำร่องปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ทุกมิติ โดยประชาชนเป็นตัวตั้ง พื้นที่เป็นแกนหลัก รวมถึงการใช้ยุทธศาสตร์จังหวัดเป็นเครื่องมือ และพร้อมผลักดันให้เกิดการปฏิบัติการจริง พร้อมให้เกิดการเรียนรู้การทำงาน และสร้างวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรร่วมกัน ต่อไป ”