คณะผู้บริหาร พอช.เข้าพบหารือนายอนุกูล อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
กระทรวง พม. / เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมคณะ เข้าพบ นายอนุกูล ปิดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายกิตติ อินทรกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ นางสาวนงลักษณ์ ยะสูงเนิน ผู้อำนวยการกองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานโครการตามพระราชประสงค์ป่าเด็งฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อหารือการดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ความเป็นมาของ ‘ป่าเด็ง’ และเป้าหมายการพัฒนา
“ตำบลป่าเด็ง” อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อก่อนมีป่าเต็งรังขึ้นทั่วไป ราษฎรพื้นที่ดั้งเดิมเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง เรียกบริเวณนี้ว่า “ป่าเต็ง” แต่ออกเสียงภาษาไทยไม่ชัด เมื่อทางราชการสอบถามข้อมูลจึงออกเสียงเป็น “ป่าเด็ง”
ตำบลป่าเด็งมีเนื้อที่ทั้งหมด 328,125 ไร่ มีพื้นที่อยู่อาศัย – พื้นที่ทำกิน 78,125 ไร่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นรวม 7,016 คน และมีพื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 250,000 ไร่ สภาพเป็นป่าดงดิบมีภูเขาและต้นไม้สมบูรณ์ ปัจจุบันมีช้างป่าฝูงใหญ่ประมาณ 80 ตัวเดินวนเวียนหากิน
ลักษณะภูมิประเทศ ทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ราบเชิงเขาแถบเทือกเขาตะนาวศรี และทางทิศตะวันออกจดเทือกเขาสามร้อยยอด พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังและไหลลงสู่ทะเล ลักษณะเนื้อดินเป็นดินปนทราย ทำนาข้าวได้เป็นบางส่วนและปลูกพืชทนแล้งได้
สภาองค์กรชุมชนตำบลป่าเด็ง ได้ร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากร การพัฒนาอาชีพการเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรฯ และดำเนินการตามกิจการสภาองค์กรชุมชน
เนื่องจากพื้นที่ตำบลป่าเด็งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในที่ดินหลายประเภท จึงได้ใช้เรื่องของความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการปฎิบัติงานหรือการอนุรักษ์ บำรุง รักษา ฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และ พอช. ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MoU.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการพัฒนาองค์กรชุมชนและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการและหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ
โดยมีเป้าหมายคือ “คนตำบลป่าเด็งที่อยู่อาศัยมั่นคง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ มีรายได้มั่งคั่ง มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”
จากหลักคิดสู่การปฏิบัติ
เริ่มจากกระบวนการออกแบบผังชุมชน/ผังตำบล การออกแบบที่อยู่อาศัย (การปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน การออกแบบบ้าน/การสร้างใหม่) การทำความเข้าใจ การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน การวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต/การสร้างกลไกคณะทำงานเมือง การออกแบบ/การวางแผนบริหารจัดการงานก่อสร้าง การรวบรวมข้อมูล/เสนอโครงการ การเบิกจ่ายงบประมาณ การปฏิบัติการตามแผนงาน
จากการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย พบว่า มีผู้เดือดร้อน จำนวน 518 ครัวเรือน มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านมั่นคงชนบทตำบลป่าเด็ง สมาชิก 232 ราย คณะทำงาน 15 คน (10 หมู่บ้าน) โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ กติกา ระเบียบกองทุน โดยการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างยั่งยืน สร้างทุนภายในร่วมกัน ด้านที่ดินที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตให้กับสมาชิก บริหารจัดการดูแลกันเองในตำบล ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยมี ‘คณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตตำบลป่าเด็ง’ เป็นกลไกขับเคลื่อนงาน
ส่วนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดลำดับความเดือดร้อนและการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เดือดร้อนร่วมกับหน่วยงานและผู้นำชุมชน ซึ่งจากการดำเนินการได้คัดกรองและรับรองเบื้องต้นของชุมชนภายใต้หลักเกณฑ์/ข้อตกลงในการซ่อมแซม/ปรับปรุง/สร้างบ้าน มีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 215 ครัวเรือน และได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน พอช. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ได้รับการอนุมัติงบประมาณรวม 9,466,880 บาท
แยกเป็นงบพัฒนากระบวนการชนบท 500,000 บาท งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านกายภาพ 966,880 บาท งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 8,000,000 บาท แยกเป็นผู้เดือดร้อนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จำนวน 104 ครอบครัว
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ จำนวน 11 ครอบครัว พื้นทีโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ป่าเด็ง หุบกะพง ดอนขุนห้วย กลัดหลวง จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 99 ครอบครัว และพื้นที่ชลประทาน 1 ครอบครัว
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลที่ดินแต่ละประเภทให้ร่วมดำเนินการโดยมีเป้าหมายการทำงานด้วยการใช้ “พื้นที่เป็นตัวตั้ง” มีการตรวจสอบฐานข้อมูลการถือครองการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ยางน้ำกลัดใต้ และโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ป่าเด็ง หุบกะพง ดอนขุนห้วย กลัดหลวง จังหวัดเพชรบุรี
จากการปฏิบัติการร่วมดังกล่าว พบว่า ยังมีหลายเรื่องที่ทุกส่วนต้องมามองภาพรวมพื้นที่ร่วมกัน โดยเริ่มจากโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลป่าเด็ง ซึ่งจากกระบวนการสำรวจทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชน และหน่วยงาน โดยการเดินสำรวจข้อมูลที่ตั้งที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ส่วนพื้นที่ป่าสงวน ป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ยางน้ำกลัดใต้ และศูนย์ประสานฯ ได้ตรวจสอบฐานข้อมูลการครอบครองการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการหาแนวทางในการแก้ไขความเดือดร้อนในด้านที่ดินที่อยู่อาศัยในอนาคตที่ต้องมีการประชุมปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกันของทุกภาคส่วน
‘ป่าเด็งโมเดล’ เริ่มจากบ้านสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ
จากการที่นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช. พร้อมคณะ เข้าพบ นายอนุกูล ปิดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมดังกล่าว
นายอนุกูล อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (กลาง)
นายอนุกูล ปิดแก้ว ได้กล่าวให้ข้อคิดเห็นว่า จากการหารือโดยสายตามองที่ประชาชนในพื้นที่ที่ว่า เมื่อทำงานแล้ว สุดท้ายประชาชนได้อะไร? หน่วยงานต่าง ๆ จะมาร่วมมือ เชื่อมโยงกันอย่างไร ? วันนี้ไม่ได้มองเฉพาะการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ของโครงการตามพระราชประสงค์ฯ แต่จะมองภาพรวมของตำบล การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ‘ป่าแก่งกระจาน’ พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรของกระทรวง พม.ไปพร้อมกัน ซึ่งต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ ทำความเข้าใจ ทำข้อตกลงร่วมกันกับประชาชน คนอยู่กับป่า
“ป่าเด็งจะเป็น San Box เป็นรั้วป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่ม เริ่มจาก ‘บ้าน’ ไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เริ่มจากบ้าน แล้วชวนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน พัฒนาประชาชนและองค์กรชุมชน ทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม ตั้งแต่เป็นผู้ผลิต แปรรูป และจำหน่าย หากดำเนินการไปด้วยดี พื้นที่ตำบลป่าเด็งจะเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปรายงาน หรือตอบโจทย์ในภารกิจงานของตนได้ ทั้งนี้หัวใจหลักคือ ชุมชนต้องเป็นผู้ตัดสินใจ” นายอนุกูลกล่าว
นอกจากนี้นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า ตนยินดีลงนามการอนุญาตให้ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลป่าเด็ง ที่ราษฎรอาศัยและใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการตามพระราชประสงค์ป่าเด็งฯ ที่มีรายชื่อตรงตามฐานข้อมูล และการตรวจสอบความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ที่มีความยินยอมให้อยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับการจัดสรร รวมจำนวน 88 ครอบครัว จากจำนวน 99 ครอบครัว ที่ชุมชนได้คัดกรองตามหลักเกณฑ์ ส่วนอีก 11 ครอบครัว ให้มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ ผู้เดือดร้อน และผู้นำชุมชน ในการหาทางออกร่วมกันต่อไป
“นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำงานร่วมกันในภาพรวมของทั้งตำบลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์ฯ เท่านั้น ซึ่งในอนาคต อาจจะมีการแต่งตั้ง ‘คณะขับเคลื่อนฯ ระดับอำเภอ’ โดยเฉพาะหน่วยงานระดับกรมของกระทรวง พม. เพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป” นายอนุกูล ปิดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกล่าวในตอนท้าย
เขียนโดย วัชรา สงมา
ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก