
พอช.จับมือหน่วยงานภาคี แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย 300 ครัวเรือน หนุนงบประมาณ 70,880,400 บาท ภาคเอกชน ก.ร.อ.บ้านไผ่ ร่วมสมทบ 3 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเฟสแรก 40 หลัง ให้โครงการบ้านมั่นคง คือกระบวนการอิสระของคนจนสู่ความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

ขอนแก่น / 15 พฤษภาคม 2565 สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด ร่วมกับเทศบาลเมืองบ้านไผ่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) คณะกรรมการร่วมพัฒนาภาครัฐและเอกชน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ก.ร.อ.) “จัดพิธียกเสาเอกโครงการบ้านมั่นคง 4 ชุมชนเมืองไผ่ และ Workshop กระบวนการบริหารจัดการโครงการฯ” ณ โครงการบ้านมั่นคง 4 ชุมชนเมืองไผ่ ตำบลหนองน้ำใส อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และห้องประชุมเทศบาลเมืองบ้านไผ่ โดยมี นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และมีนายประเสริฐ พงษ์ธีรมิตร นายเทศมนตรีเทศบาลเมืองบ้านไผ่ พร้อมคณะผู้บริหาร นายปิติ ติยาเดชาชัย ประธาน ก.ร.อ.บ้านไผ่ ภาคธุรกิจ นายสุภวัฒน์ หนูพริก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. เครือข่ายบ้านมั่นคง 4 ภาค สมาชิกสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง 4 ชุมชนเมืองไผ่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช. เข้าร่วมงาน

โดยพิธียกเสาเอกโครงการบ้านมั่นคง 4 ชุมชนเมืองไผ่ มีการยกเสาเอกจำนวน 3 หลัง ประกอบด้วยบ้านเดี่ยวชั้นเดียวขนาด 4*6 ของนางสาวณัฐวดี อุ่ยอู่ทิพย์ บ้านเดี่ยวชั้นเดียวขนาด 6*6 ของนางสุพรรณ์ หล่าจันทึก และบ้านเดี่ยวชั้นเดียวขนาด 6*8 ของนางสาวกานต์สินี หนุนจันทร์ นับเป็นการเริ่มต้นการก่อสร้างบ้านในเฟสแรกจำนวน 40 หลังคาเรือน
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวแสดงความยินดีกับชุมชน และกล่าวถึงหลักคิดการพัฒนาความมั่นคงที่ดินที่อยู่อาศัยโดยระบุว่า ที่เรามาร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนี้ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราได้ทำการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการที่จะมีผู้อยู่อาศัย 300 กว่าหลังคาเรือน ซึ่งไม่ใช่เป็นโครงการแรกแต่เป็นโครงการที่ 12 โครงการบ้านมั่นคงที่นี่ คือเป็นโครงการที่เรียกว่าทำกันทั้งเมือง เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ที่ชุมชนพระธรรมสาร โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ก้าวหน้าที่สุดในเวลานี้ของโครงการบ้านมั่นคง ก้าวหน้าที่สุด ในแง่ของการที่เราพยายามแก้ปัญหาคนจน แก้ปัญหาด้วยการร่วมมือร่วมใจของทุกๆหน่วยงานตั้งแต่อำเภอ เทศบาล ที่ช่วยกรุณาแก้ปัญหา และที่สำคัญที่สุดก็คือนี่เป็นโครงการที่ภาคเอกชนมาร่วมอย่างเต็มที่ โปรแกรมความร่วมมือเกิดจากทุกฝ่าย ราชการ ท้องถิ่น เราก็จะเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นคุณค่าใหม่เป็นโครงการแนวใหม่ เป็นความหวังใหม่ของการพัฒนาท้องถิ่นพัฒนาเมืองและการพัฒนาประเทศด้วย

ถ้าหากว่าปัญหาใหญ่ของคนจน ต้องมาร่วมมือร่วมใจพยายามจะแก้ปัญหาได้หมด แล้วก็ไม่ใช่แก้เฉพาะบ้านอย่างเดียวแต่บ้านเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดชุมชนให้เข้มแข็ง มีชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี มีความเท่าเทียม มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง วันนี้เราเพิ่งวางเสาเอก ก็เป็นการเริ่มต้นของการสร้างระบบใหม่ เป็นสัญลักษณ์ของโครงการ เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือร่วมใจเพื่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของพี่น้องคนจนเมืองต่อไป ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง กล่าวในตอนท้าย

อย่างไรก็ตามก่อนจะมาเป็นโครงการบ้านมั่นคง 4 ชุมชนเมืองไผ่ ชุมชนได้มีการก่อตั้งชุมชนตั้งแต่เมื่อปี 2508 โดยแต่ก่อนยังพื้นที่ยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่า ชาวบ้านได้เข้ามาถางพื้นที่เพื่อทำการเกษตร อยู่อาศัยเฝ้าผลผลิตทางการเกษตร ต่อมาก็ได้สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยถาวรและมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชน เมื่อความเจริญเข้ามาถึงเทศบาลก็ได้ขยายขอบเขต ผู้คนได้เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากินในชุมชนเพิ่มมาขึ้น จนมาทราบทีหลังว่าเป็นพื้นที่ตนเองอยู่อาศัยเป็นที่ดินที่มีเจ้าของคือการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่พี่น้องก็ยังได้เดินจากที่ต่าง ๆ อยู่เข้ามาอาศัยอย่างเนื่อง เพื่อประกอบอาชีพค้าขาย ทำพวงมาลัยขายตามแยกไฟแดงมิตรภาพ และเก็บของเก่า รับจ้างทั่วไป
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตามฤดูน้ำหลากและผลกระทบเรื่องความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยที่มีสภาพทรุดโทรมไม่มีความมั่นคงแข็งแรง และเมื่อปี 2547 เคยได้รับการช่วยเหลือเรื่องในพัฒนาทางด้านที่อยู่อาศัย และในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 อิทธิฝนของพายุ “โพดุล” ทำให้ฝนฟ้ากระหน่ำตกหนักอย่างต่อเนื่อง ต้นไม้หักโค่น น้ำป่าไหลหลาก ถนนถูกตัดขาดหลายสาย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันเป็นวงกว้างหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในเขตอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ที่ประชาชนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ทรัพย์สิน บ้านเรือนของพี่น้องประชาชนถูกคลื่นยักษ์มวลน้ำมหาศาลพัดหายไปทั้งหลังจำนวน 10 ครัวเรือน ในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง จึงเกิดการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ได้รวมตัวกันในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย เมื่อปี 2562

แต่พื้นที่ในการอยู่อาศัยไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง จึงมีการประสานหน่วยงานภาคีหลายภาคส่วนในการบูรณาการแก้ไขปัญหาโดยเริ่มหาแนวทางในการเสนอแผนในการขอเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย การประชุมสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบออกแบบหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จนได้ข้อสรุปในการเสนอแก้ไขปัญหาในการเสนอแผนพัฒนาเมืองบ้านอย่างเป็นระบบในการพัฒนาทั้งเมือง ดังนั้นในส่วนของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบก็เกิดการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ทั้งหมด 4 กลุ่มและจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อเช่าที่ดินรถไฟ ทำให้เกิดความชัดเจนและมั่นคงในการอยู่อาศัยของผู้ที่เดือดร้อนได้รับการแก้ไขปัญหา โดยมีภาพรวมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเมือง ผู้เดือดร้อนทั้งหมด 12 ชุมชน 1,259 ครัวเรือน

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา พอช.ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับท้องที่ท้องถิ่น ภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม และวางแผนการทำงาน โดยวิเคราะห์สภาพปัญหาของเมือง พบว่า เมืองบ้านไผ่ มีสัดส่วนการอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ไม่มีความมั่นคงและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ด้านบ้านที่อาศัย บ้านทรุดโทรม ไม่มั่นคงแข็งแรง ด้านระบบสาธารณูปโภค ถนน และรางระบายน้ำภายในชุมชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยแล้ง ไม่มีที่ทิ้งขยะแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาอุปสรรค ในการขอใช้ที่ดินของเทศบาล และที่ดินของการรถไฟฯ ที่ไม่สามารถขอใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากมีการพัฒนาเมืองและมีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่จากการพัฒนาของเมือง โดยการอยู่อาศัยของประชาชนเป็นศูนย์กลางพื้นที่ที่จะได้รับการพัฒนาพื้นที่ระบบรางในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นพื้นที่จะขยายตัวทางระบบเศรษฐกิจการค้าการลงทุน

ในส่วนการพัฒนาพื้นที่ที่ชุมชนอยู่อาศัย จะมีหน่วยงานและภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ได้ให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนเกิดกระบวนการวิเคราะห์ และยกระดับการแก้ไขปัญหา ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จสู่การพัฒนาและผ่านช่วงภัยพิบัตินำไปสู่ความยั่งยืนในการอยู่อาศัย โดยได้มีการตั้งกองทุนระดมทุนการช่วยเหลือเป็นกองทุน จำนวน 3,000,000 บาท เพื่อสมทบในการก่อสร้างบ้านและซื้อที่ดินเพื่อดำเนินโครงการบ้านมั่นคง บริเวณบ้านหนองน้ำใส ต.หนองน้ำใส อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อดำเนินโครงการบ้านมั่นคง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการถมดินและเตรียมก่อสร้างที่อยู่อาศัยเฟสที่ 1 โดยพอช.สนับสนุนงบประมาณจำนวน 70,880,400 บาท แบ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนนระบบสาธารณูปโภค 13,500,000 บาท งบประมาณอุดหนุนสร้างบ้าน 9,000,000 บาท งบสินเชื่อที่ดิน 18,000,000 บาท และงบสินเชื่อบ้าน 26,424,980 บาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากพิธียกเสาเอกแล้ว ในภาคบ่าย พอช.ได้จัดกิจกรรม Workshop กระบวนการบริหารจัดการโครงการบ้านมั่นคง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน สร้างความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ให้เกิดการมีส่วนร่วม ความรู้สึกเป็นเจ้าของการพัฒนา ที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนบ้านมั่นคงให้มีความเข้มแข็งอย่างมั่นคงต่อไป



