วันที่ 29 เมษายน 2565 มีการจัดเวทีสรุปบทเรียนผลการดำเนินงานโครงการสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร ณ สวนพุทธชาติ ตำบลบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมจำวน 50 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะ สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน อาสาสมัครสาธารณะสุข (อสม.) จาก 7 อำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่พอช. และผู้ที่สนใจ
“ขุดทองจากกองขยะ = ปฏิวัติสิ่งแวดล้อม” คำขวัญ สั้น ง่าย จำได้ไม่ยาก ปรากฎอยู่ทั่วบริเวณสวนพุทธชาติ ต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น อาคารโล่งโปร่งสบาย ช่วงบ่ายมีพัดลมระบายความร้อน นางสาวพีรดา ปฏิทัศน์ ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้บริหารจัดการขยะฯ เล่าถึงวันที่เสนอขอรับงบประมาณโครงการฯ มีคณะกรรมการพิจารณาหลายท่าน ตนเองเขียนและนำเสนอข้อมูลโครงการเน้นตอบคำถามจากการปฏิบัติจริง โชคดีที่วันนั้นนายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการพอช. อยู่ร่วมด้วย เมื่อมีข้อสงสัย ได้มีการโทรศัพท์ประสานงาน กับคุณวิภาศศิ ช้างทอง ประธานที่ประชุมสภา จังหวัดสุพรรณบุรี ทันที
นางสาวพีรดา ปฏิทัศน์ (ซ้ายมือ) และทีมงาน เล่าให้ฟังเรื่องการบริการจัดการโครงการฯ กับเจ้าหน้าที่พอช.
หลังจากดำเนินโครงการฯ แม้มีประสบการณ์การทำงานวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี พบว่า “คาดเข็มขัดผิด” ไปหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการบริหารคน งาน เงิน แต่ด้วยทีมงานที่มีจิตอาสา ทำงานติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยผ่านแก้ไขปัญหาทันที ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการ มีดำเนินการล่าช้าบ้างในบางพื้นที่ ด้วยอยู่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
7 อำเภอ 7 สภาองค์กรชุมชน(เทศบาล) ตำบลต้นแบบ ประกอบด้วย 1) อำเภอบางปลาม้า ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะ สุพรรณบุรี 2) อำเภอเมือง สภาองค์กรชุมชนตำบลสนามชัย บ้านมั่นคง 3) อำเภอศรีประจันนต์ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลศรีประจันต์ 4) อำเภอสามชุก สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลสามชุก บ้านมั่นคง 5) อำเภออู่ทอง สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลท้าวอู่ทอง 6) อำเภอเดิมบางนางบวช สภาองค์กรชุมชนตำบลหัวเชา 7) อำเภอดอนเจดีย์ บ้านมั่นคง สภาองค์กรชุนตำบลดอนเจดีย์ และสุดท้ายอำเภอสองพี่น้อง ทำงานผ่านกลไก อาสาสมัครสาธารณะสุข (อสม.)
“พลังมด” นางสาวพยอม น้ำแก้ว เลขากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช กล่าวเปรียบเทียบทีมงานจิตอาสาการบริหารจัดการขยะต้นทาง นำเสนอการทำงานบนฐานข้อมูล ดำเนินกิจกรรมบ้าน วัด โรงเรียน ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ แก่ครู นักเรียน ชาวบ้าน เดิน ปั่น จักรยาน รณรงค์การคัดแยกขยะ จากตัวเลขค่าใช้จ่ายการจัดเก็บขยะมูลฝอย อบต.หัวเขา ปีงบประมาณ 2563 รวมจำนวน 152,688.64 บาท ต่อปี การทุ่มเททำงานของ “พลังมด” ตลอดระยะเวลาตุลาคม 64 – มีนาคม 65 รวม 6 เดือน จัดเก็บขยะได้จำนวน 2,627 กิโลกรัม ขายเป็นเงินจำนวน 10,203 บาท ได้นำเงินดังกล่าวไปเป็นกองทุนหมุนเวียนในการซ่อมแซมบ้านให้สมาชิกที่เดือดร้อนในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการขยะทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากการคัดแยกขยะวันละ 300 บาท เป้าหมายสำคัญการจัดการขยะ คือ การรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหัวเขา ซึ่งปัจจุบันสมาชิกจำนวน 2,203 คน ดำเนินการแยกขยะภายในครัวเรือน ขยะสด ขยะเปียกในครัวเรือน เหนือสิ่งอื่นใด คือ สามารถลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะได้
ขุดทองจากกองขยะ = ปฏิวัติสิ่งแวดล้อม สามารถทำให้เป็นจริงได้ และยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจของ สภาองค์กรชุมชน(เทศบาล) ตำบลต้นแบบ ภายใต้การดำเนินงานโครงการสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร โปรดติดตามตอนต่อไป
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร