ประจวบคีรีขันธ์ / วันที่ 28 เมษายน 2565 เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดเวทีสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชน (Big Rock) ในโซนพื้นที่อำเภอบางสะพาน มีภาคประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วม อาทิ ผู้แทนท้องที่ ผู้แทนกลุ่ม/องค์กร ผู้บริหารท้องถิ่น รพ.สต. โรงเรียน กศน. พัฒนาชุมชน สภ.ชัยเกษม ฯลฯ รวมประมาณ 40 คน
การจัดเวทีดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชน (Big Rock) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.รับผิดชอบหลัก ดำเนินงานร่วมกับ ปปช. และ ปปท.
ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการจัดเวทีที่ 2 ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดเวทีเรียนรู้ในโซนอำเภอเมืองและอำเภอทับสะแก และในครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจสร้างการเรียนรู้ในกลุ่มโซนอำเภอบางสะพาน และบางสะพานน้อย และบางพื้นที่ตำบลจากอำเภอสามร้อยยอดเข้าร่วม เกี่ยวกับแนวคิด ที่มาของโครงการ กรอบแนวทางการทำงาน รวมถึงการจัดกลไกการทำงาน และแผนงานของตำบล เพื่อให้พื้นที่สามารถนำไปขยับในพื้นที่ตำบลของตัวเองได้ต่อไป ซึ่งมีแผนดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมนี้
นายกิตติพงษ์ สวนสมศรี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส กล่าวว่า พอช.เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนงานร่วมกับกลไกต่างๆ เช่น สภาองค์กรชุมชน เป็นเวทีกลางในการให้พี่น้องในตำบลมาพูดคุยการแก้ไขปัญหา หารือแนวทางการพัฒนาในตำบล รวมถึงเป็นเวทีกลางในการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีต่างๆ มาร่วมกันแก้ไขปัญหา พัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มีการสนับสนุนเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับพี่น้องในตำบล อีกเรื่องหนึ่งที่ตำบลชัยเกษมขับเคลื่อนมาจนถึงปัจจุบัน คือ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านพอเพียง มาวันนี้มีโครงการต่อต้านการทุจริตโดยพี่น้องประชาชน ได้มีการเชิญหน่วยงานภาคีในระดับตำบลมาร่วมพูดคุย ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ ด้านที่ 11 ว่าด้วยเรื่องการป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่ง มติ ครม.มอบหมายให้ พอช. เป็นหน่วยงานหลักในการเข้ามาขับเคลื่อนงานในเรื่องนี้ เนื่องด้วยมีพื้นที่การทำงาน มีองค์กรภาคประชาชนอยู่ทั่วประเทศ
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พอช. ไม่ใช่หน่วยงานขับเคลื่อน ซึ่งผู้ขับเคลื่อนหลักคือสภาองค์กรชุมชนแต่ละตำบล มาเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของภาษีที่รัฐนำไปพัฒนาประเทศ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องป้องกันการทุจริตมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงหลายหน่วยงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ปปช. ปปท. ซึ่งจะเป็นเชิงการปราบปราม ในส่วนของ พอช. มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้พี่น้องมีความตระหนักในเรื่องการป้องกันกันทุจริต ซึ่งเป็นที่มาของโครงการในครั้งนี้ และถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเป็นปีที่ 2 โดยในปี 2564 มีการขับเคลื่อนนำร่อง 5 จังหวัดใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ อำนาจเจริญ ตาก และสระบุรี สำหรับในปี 2565 มีการดำเนินการใน 17 จังหวัด 172 ตำบล/เทศบาล ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นหนึ่งใน 17 จังหวัด และมีการขับเคลื่อนงานทั้งหมด 24 ตำบล ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดของจังหวัดที่เข้าร่วม ทั้งนี้ การคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมนั้น มาจากพื้นที่มีองค์กรภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง มีผลงานการขับเคลื่อนงาน และพื้นที่ตำบลอาสาเข้ามาขับเคลื่อนงานในเรื่องนี้ ในส่วนของอำเภอบางสะพาน มีตำบลที่ขับเคลื่อนมากที่สุดในจังหวัด รวม 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลร่อนทอง เทศบาลตำบลร่อนทอง ตำบลทองมงคล ตำบลพงศ์ประศาสน์ ตำบลกำเนิดนพคุณ และตำบลชัยเกษม” นายกิตติพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ นายกิตติพงษ์ ได้เน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ไม่ได้มีหน้าที่ในการปราบปรามเพราะมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอยู่แล้ว โดยเป้าหมายของโครงการ คือ ให้ประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจถึงปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบ การดำเนินงานจะมีกลุ่มองค์กรและหน่วยงานราชการมาให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น จัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึก การจัดทำสื่อต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่การต่อต้านทุจริต เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการทุจริต รวมถึงมีเวทีติดตามความก้าวหน้า การสร้างช่องทางในการรับเรื่องราวการทุจริต ให้ประชาชนในพื้นที่แจ้งเบาะแส ร้องเรียนการทุจริตในพื้นที่ เป็นต้น โดยผลลัพธ์สุดท้ายจะส่งผลให้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตในตำบลชัยเกษม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งทั้ง 24 ตำบล เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่
ผลจากการจัดเวทีดังกล่าว ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตตำบลชัยเกษม ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ ผู้บริหารท้องถิ่น โรงเรียน รพ.สต. สภ.ธงชัย พัฒนาชุมชน และผู้แทนกลุ่ม/องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน และมีแผนการขับเคลื่อนงานในระยะต่อไป ได้แก่ การอบรมพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ผลกระทบในพื้นที่และทำแผน วางแนวทางแก้ปัญหา การเฝ้าระวังโครงการในระดับพื้นที่ตำบลชัยเกษม อาทิ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ของอบต.ชัยเกษม โครงการก่อสร้าง ซ่อมอ่างเก็บน้ำมรสวบ การสร้างช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริต เช่น ตู้ขาวรับเรื่อง สร้างเพจ ตั้งกลุ่มไลน์ และจัดทำสื่อรณรงค์การต่อต้านการทุจริต เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ และแผ่นพับ เป็นต้น
รายงานโดย นางสาวเรวดี อุลิต หัวหน้างานวิชาการภาคกลางและตะวันตก