ประจวบคีรีขันธ์ / วันที่ 26 เมษายน 2565 สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาล้าน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีสร้างความเข้าใจโครงการป้องกันและต่อต้านทุจริตโดยภาคประชาชน (Big Rock) โดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลที่ได้รับงบประมาณ ปี 2565 ในพื้นที่อำเภอทับสะแกและอำเภอเมืองเข้าร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวางแผนขับเคลื่อนงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายสำนวน ทองศรี นายอำเภอทับสะแกให้เกียรติเป็นประธาน
นายผดุงศักดิ์ อิ่มทั่ว ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาล้าน
นายผดุงศักดิ์ อิ่มทั่ว กำนันตำบลเขาล้านในฐานะ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาล้าน กล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ใน 17 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Big Rock) โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานโดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 8 อำเภอ 24 ตำบล โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต สร้างระบบพื้นที่เปิดเผยและโปร่งใสให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการการใช้งบประมาณ สร้างธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน และการปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่เน้นบทบาทการเฝ้าระวัง ป้องกัน และต่อต้านการทุจริต
“ตำบลเขาล้าน เป็น 1 ใน 24 ตำบล ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่มีการขับเคลื่อนโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชน (Big Rock) ตามนโยบายของรัฐบาล การจัดเวทีในวันนี้ จึงเป็นความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ตำบลเขาล้าน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การสร้างสังคมสุจริต และต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาล้านกล่าว
นายสำนวน ทองศรี นายอำเภอทับสะแก
นายสำนวน ทองศรี นายอำเภอทับสะแก กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มาร่วมเปิดเวทีฯ ในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของภาคประชาชนที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลผ่านหน่วยงานต่างๆ เป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน ทั้งยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มีสำนึกพลเมืองเพื่อสร้างการต่อต้านทุริตทุกรูปแบบ ซึ่งตำบลเขาล้านเป็นหนึ่งใน 24 ตำบลที่มีการขับเคลื่อนการต่อต้านทุจริตโดยภาคประชาชน โดยความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาล้าน วันนี้นับเป็นโอกาสและวันที่ดีที่ได้มาร่วมเวทีที่เป็นการส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชนในการเดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนปฏิรูปประเทศ ขอให้การดำเนินเวทีประสบผลสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
นายกิตติพงษ์ สวนสมศรี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส พอช.
นายกิตติพงษ์ สวนสมศรี เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส พอช.กล่าวว่า พอช.ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 6 การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบริหารจัดการภาครัฐ ตามแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านที่ 11 การป้องกันการทุจริต และประพฤติมิชอบ ผ่านการขับเคลื่อน ทั้ง 5 Big Rock ได้แก่ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีทุจริต ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใสไร้ผลประโยชน์ และพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรชุมชน โดยมีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมดำเนินการ คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
นายกิติพงษ์กล่าวต่อว่า พอช.ขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นปีที่ 2 เมื่อปี 2564 มีการขับเคลื่อนไปทั้งหมด 5 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ ตราด สระบุรี และจังหวัดภูเก็ต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรชุมชนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามทุจริตในการสร้างธรรมาภิบาลการบริหารจัดการที่ดี ในปีนี้มีการขยายขับเคลื่อน 17 จังหวัด 172 ตำบล/เทศบาล โดยภาคกลางและตะวันตกมีการดำเนินการ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยคัดเลือกจากพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและประชาชนอาสาเข้ามามีส่วนร่วม
“ในปีนี้มีเป้าหมาย 4 เรื่องใหญ่ เพื่อให้ทั้ง 24 ตำบลในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นำไปวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อต้านทุจริตในพื้นที่ คือ สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงการป้องกันต่อต้านการทุจริต การสร้างระบบพื้นที่เปิดเผยและโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตาม ตรวจสอบ ให้ความเห็นที่เกี่ยวกับโครงการ งบประมาณของรัฐ ให้สามารถใช้งบประมาณได้ตามกฎหมายและคุ้มค่า ภาคประชาชนไม่ได้เป็นผู้ปราบปราม แต่มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น ติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงการสร้างระบบธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดีของภาคประชาชน เป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานและกลุ่มองค์กรอื่นๆ และสุดท้ายคือ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ เน้นบทบาทการเฝ้าระวังและต่อต้าน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณตำบลละ 51,000 บาท ในการขับเคลื่อนงานเพื่อไปสู่เป้าหมายข้างต้น” นายกิตติพงษ์ กล่าว
นายทวีศักดิ์ จุลเนียม ผู้ประสานงานโครงการฯ พื้นที่ตำบลทับสะแก
ต่อมานายทวีศักดิ์ จุลเนียม ผู้ประสานงานโครงการฯ พื้นที่ตำบลทับสะแก ได้นำเสนอกลไกการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ตำบลทับสะแก ประกอบด้วย ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน สภาเด็กและเยาวชน ชมรม STRONG กำนันตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีสถาบันการศึกษา กลุ่มองค์กรภาคประชาชนในตำบล ปลัดอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันนำไปสู่การจัดทำแผนการขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการป้องกันและการต่อต้านการทุจริตตำบลเขาล้าน โดยมีแผนงานที่สำคัญ คือ อบรมพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน/วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ผลกระทบในพื้นที่และทำแผน วางแนวทางแก้ปัญหา การเฝ้าระวังโครงการในระดับพื้นที่ตำบลเขาล้าน และสร้างช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริต
รายงานโดย นางสาวเรวดี อุลิต ภาคกลางและตะวันตก