กาญจนบุรี : วันที่ 8 – 9 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุม ออโรร่า รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน และสำนักงานภาคกลางและตะวันตก โดยคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต คณะทำงานที่อยู่อาศัยและที่ดิน คณะพิจารณาโครงการ คณะอนุกรรมการภาคกลางและตะวันตก จัดเวทีเรียนรู้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปี 2565 โดยมีโครงการที่นำเสนอเพื่อร่วมเรียนรู้จาก 13 จังหวัด รวม 102 โครงการ ภายใต้กรอบงบประมาณ 9.6 ล้านบาท
ดร.จรรยา กลัดล้อม คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตภาคกลางและตะวันตก กล่าวว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทให้มีระบบการช่วยเหลือทางสังคมในการดูแลสมาชิกและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ในการพัฒนาชุมชนเมืองและชนบทให้มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการพัฒนาท้องถิ่นโดยชุมชนเป็นแกนหลัก ตลอดจนพัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชนในการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระหว่างชุมชนกับหน่วยงานและภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาภาคกลางและตะวันตกได้มีการพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ระดับตำบล/เมือง จังหวัด และกลุ่มจังหวัด ซึ่งในครั้งนี้เป็นเวทีเรียนรู้ร่วมกันระดับภาค มีโครงการเข้าร่วมเรียนรู้ 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง 1 และภาคกลางตอนล่าง 2 จำนวน 13 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 102 ตำบล/เมือง ซึ่งจากการจัดกลุ่มประเภทโครงการที่นำเสนอสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เศรษฐกิจ/การส่งเสริมอาชีพรายได้และยกระดับสินค้าชุมชน การเกษตร/สร้างความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมสนัสนุนวัฒนธรรมประเพณี การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในตำบล/เมือง
“โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ เกิดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในระดับตำบล/เมือง มีรูปธรรมการพัฒนาตามศักยภาพหรือบริบทของพื้นที่ ความต้องการ นำไปสู่ความสามารถในการจัดการตนเองได้จริง เกิดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด มีการเชื่อมโยงขบวนการพัฒนา หนุนเสริมถ่ายเทความรู้การพัฒนาในระดับกลุ่มจังหวัด และเกิดการเชื่อมโยงขบวนการเรียนรู้เชิงประเด็นหรือย่านพื้นที่ เกิดภาพรวมประเด็นการพัฒนาร่วมกันในระดับภูมินิเวศน์” ผู้แทนคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตภาคกลางและตะวันตกกล่าว
นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง ทำหน้าที่ประธานเวทีเรียนรู้ช่วงการนำเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน (สวมแมสสีฟ้า)
นายพิพัฒน์ แก้วจิตคงทอง คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดทุ่มเทกันหนักมากในการช่วยกันพัฒนาและกลั่นกรองโครงการ ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานครั้งสำคัญที่จะทำให้พื้นที่ใช้ข้อมูลของตัวเองในการกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต หากโครงการนี้สำเร็จไปด้วยดี และ พอช.สนับสนุนอย่างต่อเนื่องจะทำให้ขบวนองค์กรชุมชนจัดการตนเองได้ โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการของพื้นที่ หากเขาสามารถดำเนินการได้ลุล่วง เชื่อว่าโครงการนี้จะบรรลุได้ตามเป้าหมาย
คณะทำงานในส่วนของนักวิชาการ และผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน
ทั้งนี้ ในเวทีเรียนรู้ดังกล่าว นอกจากเจ้าหน้าที่และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่เป็นคณะทำงานชุดต่างๆ และผู้แทนพื้นที่นำเสนอโครงการแล้ว ยังมีผู้แทนหน่วยงานที่เป็นคณะทำงานฯ และภาคีเข้าร่วมด้วย อาทิ นางสาววันจันทร์ ทองศรีพงศ์ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 3 จังหวัดนครปฐม นายบรรณรัตน์ เก่งกสิกิจ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกาญจนบุรี นายพิทักษ์ สุพรรณวรรษา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี นางสาวสุภาภรณ์ ดำรงพันธ์ ผู้แทนสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ นายจักรกฤษ์ โพธิ์แพงพุ่ม นักวิชาการอิสระ นายชัยวัฒน์ รักอู่ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นายพนัส ชัยรัมย์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นางภารณี สวัสดิรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านผังเมือง และนายปิยะ พวงสำลี ผู้แทนภาคประชาสังคม เป็นต้น โดยคณะทำงานชุดต่างๆ พร้อมทั้งหน่วยงาน ภาคีดังกล่าวได้ร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการเพื่อให้มีรายละเอียดชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น พร้อมทั้งได้เสนอช่องทางในการประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงาน ภาคีในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน และเป็นแนวทางให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับแก้เอกสารโครงการให้มีความสมบูรณ์และนำเสนอต่อคณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับชาติพิจารณาเป็นลำดับต่อไป
นายจักรกฤษ์ โพธิ์แพงพุ่ม และนายไฟซ้อล บุญรอด ประธานเวทีเรียนรู้กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 และภาคกลางตอนล่าง 1
นางสาววันจันทร์ ทองศรีพงศ์ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 3 จังหวัดนครปฐม นายบรรณรัตน์ เก่งกสิกิจ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกาญจนบุรี
นายพิทักษ์ สุพรรณวรรษา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี