พลังงานทดแทนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอกบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยาจังหวัดพะเยา คือการนำวัสดุที่หาได้ในหมู่บ้านมาใช้เป็นเชื้อเพลิงใช้ในครัวเรือน วัสดุที่ใช้คือแกลบที่เหลือจากการสีข้าว นำมาใช้ในเตาชีวมวลที่สร้างขึ้นเองและยังขายทำรายได้อีกด้วย
นายปรีชา ใจบาล
นายปรีชา ใจบาล อายุ 44 ปี ชาวบ้านตำบลบ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนเองและพ่อของตน คือนายเสาร์แก้ว ใจบาล ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการสร้างเตาประหยัดพลังงานกับสำนักงานพลังงานจังหวัดพะเยา กระทรวงพลังงาน และได้นำความรู้นั้นมาพัฒนาและต่อยอดเป็นเตาแก๊สชีวมวลที่ใช้พลังงานจากแกลบที่ได้จากโรงสีข้าว สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่วิธีการผลิตเตาให้กับคนในหมู่บ้านเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
เตาแก๊สพลังงานชีวมวลผลงานของนายปรีชาและนายเสาร์แก้ว ใจบาล
นายปรีชา แกนนำกลุ่มพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงบ้านดอกบัว เล่าต่อไปว่า แกลบที่เหลือจากโรงสีข้าว ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปในชุมชน ทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่าการใช้เตาแก๊สทั่วไป เปลวไฟมีลักษณะเหมือนแก๊สแอลพีจีแต่มีความแรงกว่าถึง 3 เท่า สามารถให้พลังงานความร้อนสูงประมาณ 600-700 องศา และให้พลังงานนานกว่า 30-45 นาทีต่อการเติมแกลบ 1 ครั้ง และถ้าใส่เศษถ่านก็จะทำให้ใช้งานได้นานประมาณ1-2 ชั่วโมง
เตาชีวมวล
พ่อเสาร์แก้ว ใจบาล บอกว่า เตาพลังงานนี้สามารถลดกลิ่นลดควันได้และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการใช้ก๊าซแอลพีจีมาก โดยครอบครัวของตนช่วยกันผลิตเตาชีวมวลใช้และขายมานานกว่า 10 ปี เตาที่ผลิตมี 3 ขนาด ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,500-3,000บาท นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดเป็นเตาเผาขยะและเตาเผาถ่าน และยังได้สร้างอุปกรณ์พิเศษขึ้นมาเพื่อเพิ่มอุณหภูมิหรือลดอุณหภูมิได้ กินไฟฟ้าสูงสุด 26 วัตต์ เสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 10 บาทเศษ
พัดลมอุปกรณ์พิเศษของนายปรีชา ใจบาล
ทั้งนี้นายปรีชาได้อธิบายหลักการของเตาเผาขยะว่า สามารถลดมลพิษทางอากาศได้ ลดกลิ่นได้สามารถเผาขยะในเตาได้ประมาณ 3 – 4กิโลกรัม ใช้เวลาในการเผาครั้งหนึ่งประมาณ 30 นาที จะผลิตตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามา ราคาขายเตาละ 1,500บาท
เตาเผาขยะ
ส่วนเตาเผาถ่านมีความจุประมาณ 10 ลิตร สามารถเผาถ่านได้ประมาณครั้งละ 2 กระสอบ ใช้เวลาในการเผา 2 ชั่วโมง สามารถนำถ่านมาใช้ได้เลย หากเป็นการเผาถ่านแบบสมัยก่อนจะต้องใช้เวลาในการเผานานประมาณ 3-7วัน และต้องรอให้ถ่านเย็นลงอีก1-2 วันจึงจะนำมาใช้ได้
เตาเผาขยะ
เตาชีวมวลประหยัดพลังงานชนิดต่างๆ ที่นายปรีชาและลุงเสาร์แก้วผลิตนี้ ปัจจุบันได้รับความสนใจจากคนทั่วไป ทั้งชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา มาศึกษาดูงานการทำเตาแก๊สชีวมวลเพื่อนำไปใช้ ทำให้ประหยัดพลังงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อแก๊สแอลพีจีได้ รวมทั้งยังสร้างรายได้จากการขายเตาชีวมวลให้แก่ครอบครัวของนายปรีชาด้วย
เตาชีวมวล
ผลงานจากการอบรมของนักสื่อสารชุมชนจังหวัดพะเยา
นาย อภิรักษ์ บุญมา
นาย ศุภชัย เตชะยอด
นาย วุฒิพงศ์ ลือวงศ์