ชัยภูมิ / เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 เครือข่ายองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมพิจารณากลั่นกรองโครงการกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ครั้งที่ 2/2565 4 หมวดโครงการ โครงการบ้านพอเพียง โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรชุมชน โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ
โดยได้รับเกียรติจากนายอนันต์ ดนตรี ผู้ตรวจการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และมอบโล่เชิดชูเกียรติของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสำราญ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้รับคัดเลือกเป็น Best Practice “พื้นที่บูรณาการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ประจำปี 2564 โดยมีนายสงวน สุธรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ, นายไชยา พลขาง ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค พอช., นางพเยาว์ แสนเภา หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไปสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ, นายณัฐวุฒิ ธิสา หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ, นายกฤตเมธ นิติวัฒนะ รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ, นางจันทร์ทิพ วงศ์ฮาด ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ, นายประวัติ กองเมืองปัก คณะทำงานภาค, ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และเจ้าหน้าที่ พอช.ภาคอีสาน เข้าร่วมการประชุม
นายอนันต์ ดนตรี ผู้ตรวจการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า พอช.ทำภาระกิจหลายเรื่องของกระทรวง พม. โดย พอช.และการเคหะ รับผิดชอบหลักในเรื่องการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งต้องมีการบูรณาการกับบ้านผู้สูงอายุ บ้านผู้พิการ ส่วนบ้านมั่นคงเดิมมีแต่ในเมือง เดิมบ้านมั่นคงนั้นเริ่มที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แก้ปัญหาเรื่องบ้านและที่ดินใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ วันนี้ พอช.ขยายงานไปด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตในสถานการณ์โควิด นอกจากนั้นการทำงานของ พอช.เป็นฐานการทำงานให้กับกระทรวงได้อย่างดี เพราะเข้าถึงพี่น้องประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะในเรื่องศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ที่เราจะจับมือร่วมกันทำงานต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็น 4 หมวดโครงการ คือ 1) โครงการบ้านพอเพียง 2) โครงการสวัสดิการชุมชน 3) โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน และ 4) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
โครงการบ้านพอเพียงปี 2565 เสนอเพิ่มเติมในรอบ 2 รวม 20 ตำบล 198 ครัวเรือน รวมงบประมาณ 4,207,500 บาท แบ่งเป็น 1) จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 6 ตำบล 59 ครัวเรือน งบประมาณ 1,209,500 บาท งบประมาณเครือข่าย 35,400 บาท งบประมาณระดับจังหวัด 8,850 บาท รวม 1,253,750 บาท 2) จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 12 ตำบล 123 ครัวเรือน งบประมาณ 2,521,500 บาท งบประมาณเครือข่าย 73,800 บาท งบประมาณจังหวัด 18,450 บาท รวม 2,613,750 บาท และ 3) จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 2 ตำบล 16 ครัวเรือน งบประมาณ 328,000 บาท งบระดับจังหวัด 2,400 บาท สนับสนุนกลไกระดับเครือข่าย 9,600 บาท รวม 340,000 บาท
โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรชุมชนปี 2565 รวม 3 จังหวัด 212 ตำบล รวมงบประมาณจำนวน 2,395,260 บาท แบ่งเป็น 1) จังหวัดนครราชสีมา งบประมาณ 1,132,720 บาท 2) จังหวัดบุรีรัมย์ งบประมาณ 673,620 บาท 3) จังหวัดสุรินทร์ งบประมาณ 588,920 บาท เพื่อสนับสนุนกลไกเครือข่ายโซน การติดตามขับเคลื่อนงานตำบล การพัฒนาคุณภาพสภาองค์กรชุมชนตำบล และแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล
โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดปี 2565 4 จังหวัด รวมงบประมาณจำนวน 1,050,000 บาท แบ่งเป็น 1) โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดนครราชสีมา งบประมาณ 150,000 บาท, พัฒนากองทุน 15 กองทุน งบประมาณ 225,000 บาท 2) โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดบุรีรัมย์ งบประมาณ 150,000 บาท, พัฒนา 7 กองทุน 105,000 บาท 3) โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดชัยภูมิ งบประมาณ 120,000 บาท, พัฒนา 1 กองทุน งบประมาณ 15,000 บาท และ 4) โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัดสุรินทร์ 150,000 บาท พัฒนา 9 ตำบล 135,000 บาท ทั้งนี้การสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ มีเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 160 กองทุน แบ่งเป็น จังหวัดนครราชสีมา เสนอรับสมทบ 49 กองทุน, จังหวัดบุรีรัมย์ เสนอรับสมทบ 43 กองทุน, จังหวัดชัยภูมิ เสนอรับสมทบ 31 กองทุน และจังหวัดสุรินทร์ เสนอรับสมทบ 37 กองทุน ซึ่งจะมีการเฉลี่ยงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการในระดับภาคอีกชั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ตามในส่วน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ 1 โครงการ งบประมาณ 520,000 บาท ที่ประชุมได้ร่วมหารือถึงวัตถุประสงค์ แผนงานกิจกรรม วิธีการและกระบวนการ การพัฒนากลไกระดับกลุ่มจังหวัดเพื่อหนุนเสริมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ตำบลต่อไป