กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมจำนวนกว่า 150 คน
พอช. / เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 สำนักเลขานุการยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มเเข็ง จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ร่วมกับพื้นที่เป้าหมายจังหวัดและตำบล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุม 303 ชั้น 3 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมจำนวนกว่า 150 คน ประกอบด้วย คณะทำงานดำเนินงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ผู้แทนพื้นที่เป้าหมาย ปีงบประมาณ 2565 ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับตำบล ที่ปรึกษาโครงการฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร พอช.
โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ ฯ และการปฏิบัติการป้องกัน ต่อต้านการทุจริต ซึ่งพื้นที่ได้รับแนวทางที่สำคัญจาก ดร.อุทิศ ขาวเธียร คณะกรรมการปฏิรูป ฯ และนายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาโครงการ ฯ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนงานป้องกันและต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ ด้วยกัน 5 ประการสำคัญ ได้แก่ 1) การส่งเสริมกระบวนการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ในพื้นที่ และมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 2) การปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิด ให้เห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และลดช่องว่างทางการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมทั้ง ลดปัญหาด้านการทุจริตในสังคมให้น้อยลง พร้อมทั้งสร้างความมั่นคง สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น 3) การสร้างกระบวนการโดยภาคประชาชน เชื่อมประสานเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต 4) ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการป้องกันการทุจริต และ 5) ภาคประชาชนจำเป็นต้องแสดงพลังในการต่อต้านการทุจริต ร่วมกันต่อต้าน และแสดงออกถึงพลังทางสังคมให้มากที่สุด เพื่อปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ให้เป็นไปด้วยพลังของประชาชนซึ่งเป็นฐานรากของสังคม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมานั้นพื้นที่เป้าหมายนำร่องปฏิบัติการ ในปี 2564 ได้เกิดผลในการขับเคลื่อนงานเป็นรูปธรรมที่เห็นผลเชิงปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรชุมชน หน่วยงานท้องที่ท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนปฏิบัติการโครงการ ฯ , เกิดพลังในการประสานงาน ขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริต สร้างระบบสังคมสุจริต/สร้างสังคมคนดี , เกิดผู้ก่อการดีในระดับจังหวัด ที่จะเป็นแกนนำหนุนเสริมในการขับเคลื่อนงาน หรือมีการแจ้งเบาะแสกับภาคหน่วยงานรัฐ ภาคท้องถิ่น และขยายผลไปยังระดับตำบลให้มีความเข้มแข็ง / และในช่วงท้ายของการสัมมนา ฯ นี้ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยพื้นที่เป้าหมายในระดับจังหวัดและในระดับตำบล แบ่งตามระดับภาค เพื่อแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการปฏิบัติการ และสร้างแนวทางในการขับเคลื่อนงานในโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตร่วมกัน
ซึ่งมีแนวทางสำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ กำหนดการวางแผนจังหวะก้าวในการขับเคลื่อนงาน ในปีงบประมาณ 2565 ดังนี้ 1) การสรุปบทเรียนในปี 2564 เพื่อออกแบบการทำงานในปี 2565 2) สร้างความเข้าใจและปฏิบัติการร่วมกับผู้แทนเครือข่ายประเด็น เช่น สภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายต่าง ๆ 3) ส่งเสริมกระบวนการสร้างการรับรู้ และพัฒนางานด้านสื่อ รวมถึงอบรมการให้ความรู้ในการจัดทำสื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ เผยแพร่สื่อสารผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ 4) ส่งเสริมกระบวนการเชื่อมโยง สร้างกลไกการมีส่วนร่วมกับภาคีพัฒนา หรือประสานภาคีเครือข่ายร่วมในการส่งเสริมการทำงาน 5) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงาน และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแกนนำในพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ป.ป.ท. ในระดับเขต หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอให้มีกลไกในระดับภาค เพื่อวางแผนออกแบบ ให้การสนับสนุนการจัดเวที และการจัดกระบวนต่าง ๆ ในระดับพื้นที่เป้าหมายของโครงการ ฯ พร้อมด้วยให้มีการส่งเสริมการสร้างขบวนการกลาง โดยทำหน้าที่ประสานกลไกการเชื่อมโยงประสานงานไปยังสำนักงานภาคและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และให้ความสำคัญกำกับให้มีระบบการติดตามและสนับสุนนการทำงานของพื้นที่เป้าหมายโครงการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ปี 2565 และในปีต่อไปๆ