ร้อยเอ็ด/ ระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม 2565 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และการประชุมผ่านระบบอิเล็คทรอนิก ZOOM MEETTING ซึ่งมีแกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนภาภคอีสาน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชมุ โดยนายชาตรี ชาปะวัง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะผู้บริหาร ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับ
นายสุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การพูดคุยหารือถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน จากสถานการณ์ที่มากระทบ พอช.จะใช้โครงการเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนความเข้มแข็งองค์กรชุมชน ทิศทาง แนวทางจะไปอย่างไร การทำงานในระดับพื้นที่จะออกแบบร่วมกันอย่างไร เมื่อเกิดความเข้าใจร่วมกันแล้ว แต่ละจังหวัดก็ไปค้นหาสร้างพื้นที่รูปธรรมที่เป็นต้นแบบ
การเสนอในปีนี้เน้นการสนับสนุนในเชิงพื้นที่ ใช้พื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้งในการสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องให้ดีขึ้นจะสร้างรูปธรรมที่เข้มข้นเป็นต้นแบบอย่างไร สร้างแรงกระเพื่อม ชี้ทิศโดยองค์กรชุมชนและภาคีการพัฒนาในพื้นที่ เสนอรูปแบบการพัฒนาชีวิตคนจนเป็นโมเดลสร้างแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อยอดในปี 2566
นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า โดยองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ไปถึงผู้เปราะบางในระดับครัวเรือน เป็นทิศใหญ่ของประเทศในการแก้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เราจะรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งในขณะที่เรามีต้นทุนองค์กรชุมชน เครือข่ายระดับอำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ต้นทุนเหล่านี้จะบูรณาการรวมพลังได้อย่างไร ให้เกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จที่ลงลึกถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมมือสำคัญ ให้มีรูปแบบที่หลากหลายในระดับตำบล พัฒนาต่อยอด สร้างพื้นที่เรียนรู้ สื่อสาร ขยายผลต่อสาธารณะ
ทั้งหมดจะโยงไปสู่เรื่องความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ชุมชนสามารถพึ่งพาสามารถจัดการตนเองได้ ทำให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ร่วมกันออกแบบ กำหนดทิศทาง ใช้โครงการนี้ในการขับเคลื่อน
ด้านนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน กล่าวถึง เป้าหมายและหลักการสำคัญการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติเมืองและชนบท โดยระบุว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น จุดเน้นสำคัญที่แตกต่างจากโครงการที่ผ่านมา โครงการนี้เป็นเครื่องมือสนับสนุนชุมชน สร้างขบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างปูพรมทั่วประเทศ การออกแบบภายใต้โควิดคลื่นลูกที่ 4 ชุมชนจะออกแบบอย่างไร ชุมชนหลังโควิดน้ำหนักที่จะไปข้างหน้าอย่างไรที่มีแรงต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งชาวบ้าน และหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินโครงการอย่างมีมรรคผล ในการแก้ปัญหาหลังโควิด
ชุมชนต้องคิดค้นหาวิธีการที่ต่อโยงกับนโยบาย งบประมาณมาถึงชุมชนให้มากขึ้น ด้วยวิธีการอย่างไร โดยใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมือ ความเข้มแข็งของขบวนจังหวัดมีจริงหรือไม่ อยากใช้โครงการนี้จัดปรับให้ชุมชนเข้มแข็งเข้มข้นมากขึ้น ให้เสียงชาวบ้านมีน้ำหนัก นั้นมาจากขบวนที่เข้มแข็งจริง มีน้ำหนักร่วมจากล่างสู่จังหวัดและภาค ไม่ใช่โครงการที่กระจายเพียงงบประมาณ และการตัดสินใจที่กระจุกตัวไม่กี่คนในจังหวัด เราต้องส่งโอกาสให้กว้างขวางในการสร้างขบวน เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงการใส่เงินงบประมาณ แต่ต้องเป็นการใช้เงินที่ฉลาด สร้างความเคลื่อนไหว สร้างน้ำหนักการต่อรอง เป็นโครงการยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเครื่องมือของขบวนในการเปลี่ยนโครงสร้างที่สัมพันธ์ต่อยอดกับคนรุ่นใหม่ ให้ลูกหลานมีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
โดยการจัดให้กระจายการทำงานที่กลุ่มจังหวัด ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายจังหวัด แต่ละจังหวัดจัดขบวนให้ถึงข้างล่าง จะสร้างเครื่องมือให้ชาวบ้านหลังโควิดอย่างไร โดยใช้ทุนคน ทุนความคิด ความรู้ และใช้ทุนเงินทำใหเกิดการเคลื่อนตัวให้ระบบอื่นๆมาสอดคล้อง แต่ละจังหวัดต้องคิดค้นและชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของขบวน แต่ละจังหวัดต้องมาดูภาพรวมด้วยกัน ตั้งจากจังหวัด สู่กลุ่มจังหวัดและจัดสรรทรัพยากรกันอย่างไร เรื่องร่วมกันเรื่องอะไร เลี้ยงชีวิตโครงการให้ยาว ไปสู่การแก้ปัญหา และผลกระทบของโควิด ตัวอย่างเช่นส่งเสริมการสร้างอาหารและผักสมุนไพรชุมชน 100 พื้นที่ ๆ ละ 3,000 บาท เชื่อมโยงให้เกิดระบบกลาง ใช้เงินเป็นเชื้อให้ติดไฟใหญ่
ที่สำคัญคือการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์กิจกรรม ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นพลังของคนในพื้นที่ ทำจากคนในชุมชน ทำโครงการเพื่อแก้ปัญหา ทุกโครงการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำล่างโยงบน กลไกของจังหวัดจะจัดกันอย่างไร โดยเอางบประมาณไปไว้ที่กลุ่มจังหวัด และร่วมกันวิเคราะห์เนื้อหา และออกแบบจากล่างขึ้นบน และตั้งเป็นภาพรวมจังหวัด ทำให้เกิดการเชื่อมโยง เชื่อมั่น เป็นโครงการที่ชาวบ้านได้แสดงฝีมือ ทำให้การนำแบบยอดเจดีย์กับฐานให้แบนลง และแท่งทั้งหลายคลายตัวลง ที่ปรึกษาสถาบันฯ กล่าวในตอนท้าย
อย่างไรก็ตามที่ประชุม ได้แลกเปลี่ยนแนวทาง กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติเมืองและชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยร่วมกำหนดนิยามความหมายของคำว่า คุณภาพชีวิต ลักษณะพื้นที่เป้าหมาย กลไกการสนับสนุน จังหวัด กลุ่มจังหวัด กลุ่มตำบล เครือข่ายภูมินิเวศ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณ
โดยความหมายคุณภาพชีวิตของคนอีสาน คือ “ความอยู่ดีมีสุข” เป็น “การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคน ชุมชน การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลโดยใช้ทุนภายในของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความมั่นคงต่อการดำรงชีพ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในทุกมิติ คำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ภายใต้ความหลากหลายตามบริบทของแต่ละชุมชน ตามวิถีการกินการอยู่ตามสภาพแวดล้อม การทำมาหากิน การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ สร้างรายได้ ตามวิถีแบบองค์รวม สร้างคุณค่าและความหมายตามวิถีคนอีสาน เป็นการสร้างพื้นที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ที่มากกว่าปัจจัย 4 อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และไม่ใช่เชิงปัจเจก แต่เป็นขบวนเครือข่าย เป็นความสุขมวลรวมของคนอีสาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมวางกรอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต หนุนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท งบประมาณรวมทั้งสิ้น 19,080,000 ล้านบาท (สิบเก้าล้านแปดหมื่นบาทถ้วน) โดยแบ่งกรอบงบประมาณ สนับสนุนพื้นที่ตำบล/เมือง จำนวน 16 ล้านบาท สนับสนุนการทำงานในระดับภาคงบประมาณ 480,000 บาท สนับสนุนการทำงานในระดับกลุ่มจังหวัด ฐานคิดจังหวัดละ 130,000 บาทx20 จังหวัด งบประมาณ 2,600,000 บาท โดยกำหนดให้เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคอีสานเสนอโครงการระดับตำบล/เมือง เข้าสู่การพิจารณาระดับภาค วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความอยู่ดีมีสุขต่อไป