สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำ ‘โครงการสำรวจความพึงพอใจและพัฒนาการให้บริการ ประจำปีงบประมาณ 2564 ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)’ โดยใช้วิธีการสำรวจแบบผสานวิธี คือ ใช้การสำรวจเชิงปริมาณ (ใช้แบบสอบถาม) จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับบริการหรือกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. จำนวน 1,000 คน มีความพึงพอใจต่อการให้บริการของ พอช. ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.35 (คิดเป็นร้อยละ 86.75) และคณะอนุกรรมการ พอช. จำนวน 103 คน มีความพึงพอใจต่อการให้บริการของ พอช. ในระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.15 (คิดเป็นร้อยละ 85.75) และสำหรับในเชิงคุณภาพ กลุ่มเป้าหมายเป็นคณะอนุกรรมการที่ให้สัมภาษณ์เชิงลึกรวม 30 คน มีแนวคำถามที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การศึกษาเป็นเครื่องมือหลัก การเก็บรวบรวมข้อมูลทำในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 และเนื่องจากการดำเนินงานของ พอช. ในช่วงปี 2564 อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 จึงมีเนื้อหาการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการในสถานการณ์ในสถานการณ์ดังกล่าวด้วย
นายปฏิภาณ จุมผา รักษาการผู้อำนวยการ พอช. ระบุว่า การสำรวจความพึงพอใจของ พอช. ในปี 2564 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ พอช. ที่ดำเนินการสำรวจข้อมูลความคาดหวังและความต้องการจากผู้รับบริการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายจากผู้รับบริการภายใต้โครงการต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. ในปี 2564 รวมถึงคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำกับ ติดตามและขับเคลื่อนงานทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคีเครือข่าย หน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคประชาสังคม รวม 16 คณะ ซึ่งผลที่ได้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบทิศทางและการปฏิบัติงานขององค์กร รวมถึงกลไกที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกับ พอช. เพื่อปรับปรุงพัฒนาการให้บริการให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
โครงการสำรวจครั้งนี้มี ดร.สุรางรัตน์ จำเนียรพล จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยนักวิจัยและผู้ช่วยจำนวน 4 คน ขณะนี้โครงการสำรวจดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้ว พบว่าความพึงพอใจของผู้รับบริการในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา แต่ยังมีข้อเสนอแนะจากการสำรวจความพึงพอใจในปีงบประมาณ 2564 นี้ ที่มุ่งให้ พอช. ปรับแนวคิด ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในบริบทพลวัตและความท้าทายใหม่ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น การรักษาแนวทางการดำเนินงานที่เป็นจุดเด่นขององค์กรคือการพัฒนาโดยมีชุมชนเป็นแกนหลัก การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีกับพัฒนาให้กว้างขวางขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน การผลักดันให้เกิดการวัดผล (ตัวชี้วัด) แบบมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับภารกิจ พอช. การพัฒนาผลการดำเนินงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การเชื่อมโยงการทำงานในลักษณะ Project-based กับเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กร การขยายภาคีและเครือข่ายการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน การสานพลังเชิงนโยบายให้มากขึ้น เพื่อรับตอบสนองและขยายผลของการเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน การทบทวน/ศึกษาวิจัยความเปลี่ยนแปลงของชุมชนสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาแนวทางการดำเนินงานในอนาคต การถอดบทเรียน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและจัดการความรู้ในการดำเนินงาน รวมถึงการให้ความสำคัญกับเชื่อมโยงและพัฒนาศักยภาพกับบุคลากร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในทุกระดับ
สำหรับผลการประเมินความพึงพอใจเป็นรายด้านทั้ง 3 ด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงที่สุดทั้งในกลุ่มผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ คือ ด้านเจ้าหน้าที่/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.56 และ 4.20 ตามลำดับ รองลงมา ผู้รับบริการประเมินความพึงพอใจให้กับด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการของ พอช. (ประสิทธิภาพ) ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.29 ในขณะที่ฝั่งคณะอนุกรรมการ กลับประเมินความพึงพอใจในด้านนี้เพียงระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.07 ส่วนด้านสุดท้าย คือ ด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. (ประสิทธิผล) ผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการประเมินความพึงพอใจในระดับมากเช่นกัน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.20 และ 4.17
เมื่อพิจารณาผลการประเมินความพึงพอใจด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. (ประสิทธิผล) พบว่า กลุ่มผู้รับบริการมีความพึงพอใจในบทบาทของ พอช. ในมิติการพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชน/ขบวนชุมชนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมในระดับมากที่สุด โดยเฉพาะการสนับสนุนจาก พอช. สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนและช่วยให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (ค่าเฉลี่ย 4.40) การสนับสนุนจาก พอช. ทำให้องค์กรชุมชน/ขบวนชุมชนได้รับการยอมรับเกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น (ค่าเฉลี่ย 4.36) องค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชนสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาช่วยเหลือคนในชุมชนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ค่าเฉลี่ย 4.35)
สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงโควิด-19 ผู้รับบริการมีความเห็นว่า การที่ พอช. ดำเนินการพักชำระหนี้โครงการบ้านมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ช่วยบรรเทาปัญหา/ความเดือดร้อนให้กับชุมชนในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 (ค่าเฉลี่ย 3.75) การสนับสนุนจาก พอช. ทำให้องค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชนสามารถประสานทรัพยากร งบประมาณ และสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.99) โครงการและงบประมาณที่ พอช. สนับสนุนสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ และเชื่อมโยงทรัพยากรหรือหน่วยงานภายนอกได้ (ค่าเฉลี่ย 4.09) ในส่วนของคณะอนุกรรมการมองเห็นว่าการดำเนินงานของ พอช. ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนจาก พอช. เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชน/ขบวนชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองและแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ และการสนับสนุนจาก พอช. ทำให้องค์กรชุมชน/ขบวนชุมชนได้รับการยอมรับเกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น ระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.42)
ความพึงพอใจต่อกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการของ พอช. (ประสิทธิภาพ) ผลการศึกษาจากกลุ่มผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยในภาพรวมผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.43) ในขณะที่คณะอนุกรรมการมีความพึงพอใจในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.19) อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเด็นที่ใช้ในการประเมินมีความแตกต่างกัน ผู้วิจัยจึงนำเสนอแยกส่วนกัน ดังนี้ ประเด็นที่ผู้รับบริการ มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ มีความชัดเจนในเนื้อหา/สาระ โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนและกระบวนการการให้บริการ (ค่าเฉลี่ย 4.43) มีการให้ข้อมูลแนวทางการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่ชัดเจน เปิดเผย เข้าถึงง่าย เป็นที่รับรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง (ค่าเฉลี่ย 4.42) มีความเหมาะสมของระบบการติดตามและประเมินผลโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. (ค่าเฉลี่ย 4.40) สำหรับประเด็นที่ผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับมาก (น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ) 3 อันดับสุดท้ายคือ มีการพัฒนาและเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการขบวนองค์กรชุมชน/กองเลขาจังหวัดและกองเลขางานประเด็นต่าง ๆ และจัดทำเครื่องมือสนับสนุน เช่น พัฒนาทักษะการใช้โปรแกรมคู่มือการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ (ค่าเฉลี่ย 4.12) มีความเหมาะสมของเอกสารประกอบการเสนอโครงการ (ไม่มากหรือน้อยเกินไป) ในทุกขั้นตอนและกระบวนการให้บริการ (ค่าเฉลี่ย 4.16) มีการพัฒนา/ปรับปรุงระบบข้อมูลองค์กรชุมชน/ข้อมูลงานพัฒนาในพื้นที่ให้มีความทันสมัยและพร้อมใช้งาน (ค่าเฉลี่ย 4.18) สำหรับคณะอนุกรรมการ ผลการศึกษาพบว่า ประเด็นที่คณะอนุกรรมการมีความพึงพอใจมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจ วัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่อนุกรรมการ/คณะทำงาน และ มีการสนับสนุนข้อมูล/เอกสาร/ข่าวสารอย่างเพียงพอในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ (ค่าเฉลี่ย 4.19) มีการสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนชุมชนในระดับตำบล จังหวัด และกลุ่มจังหวัดให้มี “แผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” (ค่าเฉลี่ย 4.18) มีการสนับสนุนให้คณะอนุกรรมการได้รับรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะอนุกรรมการ และภารกิจของ พอช. และ มีการพัฒนาและเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการขบวนองค์กรชุมชน/กองเลขาจังหวัดและกองเลขางานประเด็นต่าง ๆ และจัดทำเครื่องมือสนับสนุน เช่น พัฒนาทักษะการใช้โปรแกรม คู่มือการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ (ค่าเฉลี่ย 4.17)
แม้ว่าประเด็นการประเมินของผู้รับบริการกับคณะอนุกรรมการจะมีความแตกต่างกัน แต่จะเห็นได้ว่ามีประเด็นร่วมบางประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยเฉพาะเรื่องความคล่องตัว รวดเร็วและยืดหยุ่นในขั้นตอนและกระบวนการให้บริการของ พอช. ซึ่งแม้จะได้รับผลการสำรวจความพึงพอใจเป็นระดับมาก แต่จากข้อเสนอแนะของทุกฝ่าย พบว่า ความล่าช้าและขั้นตอนในการดำเนินงานของ พอช. เป็นสิ่งที่ผู้รับบริการต้องการให้มีการปรับปรุง
ด้านความพึงพอใจด้านเจ้าหน้าที่/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาของผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ เมื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาความพึงพอใจด้านเจ้าหน้าที่/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาของผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ พบว่า แม้ว่าในภาพรวมทั้งสองฝ่ายจะมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.68 และ 4.53 ตามลำดับ) แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมากกว่าคณะอนุกรรมการ ในทุกด้าน โดยผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดในทุกด้าน ประเด็นที่ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ มีบุคลิกภาพเหมาะสมกับการเป็นผู้ให้บริการ มีความพร้อมในการให้บริการด้วยความกระตือรือร้น เอาใจใส่ และเรียนรู้ (ค่าเฉลี่ย 4.68) มีคุณธรรม-จริยธรรมในการให้บริการ เช่น ยึดมั่นในระเบียบวินัย ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ฯไม่ขอสิ่งตอบแทน (ค่าเฉลี่ย 4.67) มีบุคลิกภาพเหมาะสมกับการเป็นผู้ให้บริการ มีอัธยาศัยไมตรีในการให้บริการ เช่น ยิ้มแย้ม แจ่มใส วาจาไพเราะ สุภาพ (ค่าเฉลี่ย 4.62) โดยในส่วนของความพึงพอใจด้านเจ้าหน้าที่/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนา ทั้งผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการพึงพอใจคุณลักษณะส่วนตัวของบุคลากร ทั้งในด้านบุคลิกภาพ คุณธรรมและจริยธรรมในการให้บริการ แต่มีความพึงพอใจศักยภาพและความสามารถในการดำเนินงานน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความร่วมมือในการทำงาน การออกแบบการทำงานและความสามารถในการคลี่คลายปัญหา
ความพึงพอใจจำแนกตามพื้นที่ดำเนินงาน จำแนกรายพื้นที่ (ภาค) พบว่า ผู้รับบริการในทุกพื้นที่ (ภาค) มีความพึงพอใจในภาพรวมในระดับเดียวกัน คือ มากที่สุด โดยภาคกลางและตะวันตก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.55 ภาคเหนือ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.38 ภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.31ภาคใต้ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.26 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.25 ตามลำดับ
สำหรับผลการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการ จำแนกตามโครงการที่รับผิดชอบ พบว่าในภาพรวม มีการให้คะแนนความพึงพอใจกับ 4 โครงการหลักของ พอช. คือ โครงการเสริมสร้างความสามารถของชุมชน โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน โครงการพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจชุมชนและโครงการบ้านพอเพียงชนบท ในระดับมากที่สุดในทุกโครงการ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน คือ ด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และเจ้าหน้าที่/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาของ พอช. ก็พบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ อยู่ในระดับที่มีความพึงพอใจมากที่สุด
ผลการสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผลการประเมินความพึงพอใจจากความเห็นของผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ประสิทธิผล) ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิด 19 ในระดับมากที่สุด ในเรื่อง การสนับสนุนจาก พอช. เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชน/ขบวนชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองและแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ ในขณะที่โครงการและงบประมาณที่ พอช. สนับสนุนสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ และเชื่อมโยงทรัพยากรหรือหน่วยงานภายนอกได้ และ การที่ พอช. ดำเนินการพักชำระหนี้โครงการบ้านมั่นคง มีผลการประเมินความพึงพอใจในระดับมาก สำหรับด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิด 19 โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมให้เหมาะสมและสอดคล้อง ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เช่น ประชุมออนไลน์ สามารถขับเคลื่อนการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลคะแนนการประเมินอยู่ระดับมาก เช่นเดียวกับด้านเจ้าหน้าที่/ ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิด 19 โดยสามารถออกแบบการทำงาน นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้ โดยสรุป การดำเนินงานของ พอช. ตามตัวชี้วัดที่กำหนดในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด เป็นที่น่าพอใจ
ความรู้สึกผูกพันและเชื่อมโยงกับ พอช. ในภาพรวมของผู้กลุ่มผู้รับบริการ และกลุ่มคณะอนุกรรมการรู้สึกผูกพันกับ พอช. โดยระดับความรู้สึกผูกพันมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มผู้รับบริการ และกลุ่มคณะอนุกรรมการ กล่าวคือ กลุ่มผู้รับบริการ ประมาณร้อยละ 40.30 รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ พอช. รองลงมา คือ แค่รู้จักในฐานะแหล่งทุน (ร้อยละ 27.60) และรู้สึกผูกพันกับ พอช. ในฐานะเพื่อนร่วมงาน (ร้อยละ 27.40) สำหรับกลุ่มคณะอนุกรรมการ มีความรู้สึกผูกพันกับ พอช. มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยประมาณร้อยละ 62.14 รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ พอช. และรู้สึกผูกพันกับ พอช. ในฐานะเพื่อนร่วมงานประมาณร้อยละ 30.10
ทั้งนี้ผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการทั้ง 30 ท่าน ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพในการบริหารจัดการองค์กรของ พอช. ตามแนวทาง PMQA ในหมวดที่ 3 และหมวดที่ 7 ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- ความสามารถในการตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของกลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ พอช. นั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่สำคัญคือ การถูกประเมินด้วยตัวชี้วัดของ กพร. และถูกตรวจสอบและควบคุมโดยระบบงบประมาณของ สตง. ทำให้ถูกจำกัดกรอบการทำงานที่มุ่งตอบตัวชี้วัดเชิงปริมาณและใช้งบประมาณตามที่กำหนดเท่านั้น ขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถปรับการดำเนินงานเพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ตัวอย่างเช่นในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด แม้จะมีบางพื้นที่ที่อนุโลมให้มีการปรับกิจกรรมและการใช้งบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ได้ แต่อีกหลายองค์กรชุมชนที่ไม่สามารถใช้งบประมาณจาก พอช. หรือได้รับการสนับสนุนจาก พอช. เพื่อรับมือกับปัญหาโควิดได้อย่างทันท่วงที
- การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลผลการดำเนินงานของ พอช. ที่มีมากกว่า 2 ทศวรรษ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนบนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence-based movement) และสามารถออกแบบกระบวนการทำงานที่ส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในฐานะผู้รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความก้าวหน้าในการพัฒนาตัวชี้วัดในระดับพื้นที่ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะทำให้เป้าหมายการทำงานของ พอช. กับขบวนชาวบ้าน (ภาคประชาชน) เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น รวมถึงสามารถติดตามสถานะความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ โดยขบวนของชาวบ้านได้อย่างสอดรับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผลการประเมินจากตัวชี้วัดที่พัฒนาร่วมกันจะกลายเป็นข้อมูลย้อนกลับ (feedback) ที่สำคัญนการวางแผนขับเคลื่อนงานของ พอช. ต่อไปในอนาคต
สำหรับผลการศึกษามุมมองของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเกี่ยวกับบทบาทการสนับสนุน ผลลัพธ์/ผลกระทบที่สำคัญ อุปสรรค ปัจจัยสนับสนุน และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต ทีมวิจัยอาศัยการพิจารณาร่วมกับการดำเนินงานภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงาน ผลลัพธ์/ผลกระทบ และข้อจำกัดที่เกี่ยวเนื่องกันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง (2) การจัดระบบความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องสู่ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบาย (3) การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน และ (4) การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กร โดยมีเสียงสะท้อนบางส่วนที่เสนอต่อการให้บริการและการพัฒนาระบบของ พอช. ในบางประเด็น คือ
ตัวแทนคณะอนุกรรมการประชาสังคมพัฒนางานวิชาการ ระบุว่า “พอช. มีแนวคิดที่ดีเพราะเป็นไปในลักษณะ “ล่างขึ้นบน” (bottom-up) ที่นำไปสู่ชุมชนจัดการตนเอง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการกระจายอำนาจสู่ชุมชน ที่ให้อำนาจแก่ชุมชนในการแก้ไขปัญหา แนวคิดชุมชนจัดการตนเองที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะจากล่างขึ้นบน ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารองค์กรค่อนข้างสูง มีฐานการทำงานที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ถ้ามองในมุมมองชาวบ้าน พอช. จึงเป็น “ข้อต่อ” ที่สำคัญระหว่างรัฐกับชุมชน นอกจากนี้ โครงสร้างองค์กรของ พอช. ที่เป็น “องค์กรกึ่งรัฐ” ยังเปรียบเสมือนเป็นพื้นที่แห่งการเจรจาต่อรองระหว่างชาวบ้านและรัฐ เป็นเวทีที่ให้โอกาสชาวบ้านได้ขึ้นแสดงตัว สามารถปรับให้เป็นพื้นที่ ที่ทำให้ชาวบ้านสามารถนำเสนอต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้โดยตรง และยังเป็นพื้นที่ที่ลดแรงเสียดทานไม่ให้เกิดการเมืองบนท้องถนน…”
ตัวแทนคณะอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่จะขับเคลื่อนองค์กรชุมชนได้ดีกว่า เพราะคนรุ่นใหม่จะมีข้อมูลที่มากกว่า สิ่งที่ทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรชุมชน งบอบรมเป็นเพียงเครื่องมือในการจุดประกายการสร้างผู้นำ แต่ในเชิงปริมาณ เราได้คนที่มีภาวะผู้นำและเป็นคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ และสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถ้าผู้นำยุคใหม่เคยร่วมต่อสู้กับผู้นำรุ่นเก่าในประเด็นสังคมต่าง ๆ เช่น การต่อสู้เรื่องผืนป่าเขาจะมีประสบการณ์ และมีภาพของการต่อสู้ ขบวนชุมชนก็สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วม ก็จะขับเคลื่อนขบวนชุมชนลำบาก”
ตัวแทนคณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่า พอช. เติบโตอย่างมีพลวัตและต่อเนื่อง และนำไปสู่การทำงานที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น แต่นัยหนึ่งก็สะท้อนว่า การเติบโตดังกล่าวคือ การพัฒนาองค์กรให้มีความเป็นระบบราชการ “ที่แข็งตัว และมีความแข็งทื่อ”
อย่างไรก็ตามสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นข้อต่อสำคัญระหว่างภาคราชการ กับภาคประชาสังคมและชุมชน ความท้าทายที่สำคัญของสถาบันจึงเป็นการสร้างการสมดุลระหว่างการทำงานกับภาคราชการและภาคชุมชน ด้านหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องรักษามาตรฐานการดำเนินงานตามตัวชี้วัด และการตรวจสอบการใช้งบประมาณในระบบราชการ กับอีกด้านหนึ่งที่จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและทำงานเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับภาคีในระดับต่างๆ โดยมีกลไกสำคัญคือกลไกระดับภาค และบุคลากรในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ผู้รับบริการหลายระดับ ก็มีความคาดหวังกับสถาบันในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับองค์กรระดับชุมชนที่ไม่มีทรัพยากรการดำเนินงานของตนเอง ก็คาดหวังการสนับสนุนจากสถาบันทั้งในด้านงบประมาณ การสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ และการเชื่อมโยงกับภาคีส่วนอื่นๆ จึงคาดหวังว่าสถาบันจะสามารถเพิ่มบุคลากรและเพิ่มงบประมาณโดยตรงให้พื้นที่ ในขณะที่เครือข่ายในภาคประชาสังคมก็คาดหวังให้สถาบันมีบทบาทในการหนุนเสริมการเคลื่อนไหวของเครือข่ายในประเด็นปัญหาที่พื้นที่เผชิญอยู่ให้มากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าผลการประเมินพึงพอใจในภาพรวมของสถาบันจะมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา สำหรับข้อเสนอแนะจากการสำรวจความพึงพอใจในปีงบประมาณ 2564 นี้ มุ่งให้ พอช. ปรับแนวคิด ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในบริบทพลวัตและความท้าทายใหม่ๆ ในสังคมในหลากหลายด้านและหลากหลายมิติ