การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2563 ผ่านระบบ Zoom มีผู้เข้าร่วมประมาณ 600 คน
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล / พี่น้องภาคีเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ 600 คน ร่วมประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ นำข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ประเด็น เช่น การจัดการโควิด ภัยพิบัติ ปัญหาที่ดิน กลุ่มชาติพันธุ์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐธรรมนูญประชาชน ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ เสนอกระทรวง พม.และ ครม.พิจารณาสั่งการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 และเสนอตั้ง ‘กลไก 5 ฝ่าย’ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของประชาชนให้เป็นจริง-สร้างสังคมที่เป็นธรรม ด้าน รมว.พม. ฝากแนวทางการทำงาน 7 ข้อ
สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศ และเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรง เพราะตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถนำปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาในตำบลมาประชุม ปรึกษาหารือ เสนอแนวทางพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้
ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ 7,795 แห่ง ทุกปีจะมี ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อ “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” (พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 (3))
ภาคประชาชน 600 คนร่วมประชุมระดับชาติ
โดยในวันนี้ (10 กันยายน) มีการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2564 ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. โดยประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meetings ตามมาตรการป้องกันโควิด มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ผู้แทนภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ฯลฯ ทั่วประเทศ นายสมชาติ ภาะสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผู้บริหารสถาบันฯ เข้าร่วมประชุม รวมทั้งหมดประมาณ 600 คน พร้อมทั้งผู้แทนองค์กรต่างๆ ร่วมปาฐกถาและแสดงความคิดเห็น โดยมีนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรี พม.รับมอบข้อเสนอจากผู้แทนสภาองค์กรชุมชน และมอบนโยบายให้แก่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ
ศ.วุฒิสาร ตันไชย
ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ความท้าทายของภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในสถานการณ์ปัจจุบัน’ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในทางทฤษฎี การสร้างวาระทางนโยบาย เช่น วาระการประชุม ถ้าไม่อยู่ในวาระจะไม่ได้รับการพิจารณา การสร้างวาระทางนโยบายคือการผลักดันให้เรื่องบางเรื่อง หรือผลักดันปัญหาให้รัฐหรือประชาสังคมให้ความสนใจ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางนโยบาย
ทั้งนี้การผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้หน่วยงานรัฐสนใจจะต้องทำให้ 1. เป็นปัญหาที่มีนัยยะต่อสังคม 2.ต้องมีข้อเสนอที่ดี มีทางออก ไม่ใช่มีแต่ตำหนิ และต้องเป็นทางออกที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ จะต้องเข้าใจตัวเองว่ามีข้อจำกัดอะไร กรอบกฎหมายมีข้อจำกัดอะไร 3.ต้องมีการสนับสนุน ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องมีการสนับสนุนทางการเมือง
นอกจากนี้การผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้สำเร็จในวันเดียว ต้องเข้าใจเป้าหมายของตัวเอง บางเรื่องอาจไปต่อได้ บางเรื่องต้องปรับปรุง ต้องลดความเป็นตัวตน สร้างความเข้าใจเพื่อการทำงานร่วมกัน การผลักดันเรื่องต่างๆ เชิงนโยบายจึงจะดีขึ้น
13 ปีสภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งแล้ว 7,795 แห่งทั่วประเทศ
นายวิรัตน์ พรมสอน ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล (เกษตรกรจากจังหวัดเชียราย)รายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนว่า ปัจจุบันได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว รวม 7,795 แห่ง (ร้อยละ 99.62 ของจำนวนพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล ประกอบด้วยผู้แทนชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 254,944 คน มีกลุ่มหรือองค์กรชุมชน หรือเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จดแจ้ง จำนวน 156,280 องค์กร
วิรัตน์ พรมสอน
ทั้งนี้ในช่วงปี 2564 ได้มีการสอบทานคุณภาพของสภาองค์กรชุมชนตำบลผ่านระบบ google form จำนวน 7,061 แห่ง แบ่งระดับความเข้มแข็งจาก A-C ดังนี้ ระดับความเข้มแข็ง A จำนวน 1,816 แห่ง (คิดเป็น 25.72%) ระดับความเข้มแข็ง B จำนวน 1,951 แห่ง (คิดเป็น 27.63%) ระดับความเข้มแข็ง C จำนวน 1,006 แห่ง (คิดเป็น 14.25%) ระดับความเข้มแข็ง D จำนวน 2,288 แห่ง (คิดเป็น 32.40%)
จากการรวบรวมผลงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศพบว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ในด้านต่างๆ รวม 12 ด้าน เช่น บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวม 3,016 แห่ง คุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2,872 แห่ง เสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขให้ อปท.นำไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น 3,215 แห่ง ส่งเสริมให้องค์กรชุมชน สมาชิกสภา และประชาชนทั่วไป มีความเข้มแข็ง 2,913 แห่งฯลฯ
นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนยังทำงานร่วมกับภาคเครือข่ายต่างๆ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพานิชย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่ต้นแบบในการควบคุมก่อนปลดล็อกพืชกระท่อม) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานการประสานสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย
ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนร่วมประชุมกับ ป.ป.ส. เพื่อใช้พื้นที่สภาฯ เป็นต้นแบบในการควบคุมพืชกระท่อม
รวบรวม 9 ประเด็นปัญหาจากทั่วประเทศสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย
การเตรียมจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในปี 2564 นี้ มีการจัดเวทีทั่วภูมิภาค เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนประสบนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอ นอกจากนี้ยังมีการจัดสมัชชาเชิงประเด็นเพื่อนำมาสังเคราะห์รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอเพื่อนำเข้าสู่การประชุมในระดับชาติฯ ในวันนี้ (10 กันยายน) ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1 การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด มีข้อเสนอ เช่น รัฐบาลควรประกาศให้โรคระบาดโควิด – 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ในมนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และให้ทุกจังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ทุกมิติ ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดูแล ป้องกัน รักษาตัวเองได้ เร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ กระจายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม กำหนดให้มีสถานที่จำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์สู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของเภสัชกร ฯลฯ
ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการเงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีข้อเสนอ เช่น รัฐบาลควรการกำหนดรูปแบบ/วิธีการใช้งบประมาณในลักษณะ “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากระดับตำบล” โดยจัดให้มีกลไกใหม่ในการบริหารกองทุนแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน กำหนดระเบียบวิธีการใช้งบประมาณแบบพิเศษ ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ฯลฯ
ประเด็นที่ 3 การแก้ไขปัญหาที่ดิน–ที่ทำกิน–ที่อยู่อาศัย มีข้อเสนอ เช่น 1.ข้อเสนอเร่งด่วน ให้มีกระบวนการการปรับแก้เนื้อหาในกฎหมายลำดับรอง ประกอบ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่จำกัดสิทธิชุมชน จำกัดสิทธิการทำกินตามวิถีวัฒนธรรม และสิทธิชุมชนในการถือครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยชะลอการประกาศออกไปจนกว่ากระบวนการปรับแก้จะแล้วเสร็จ
2.ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ปรับแก้/ผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับประชาชนเข้าชื่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ยกเลิกคำสั่ง ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้มิติความมั่นคงมาจัดการทรัพยากร ผลักดัน “สิทธิชุมชน” ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เสนอ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์เพื่อการยอมรับสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นที่ 4 การสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ มีข้อเสนอ เช่น ให้มีการเยียวยากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพออกจากชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและจัดให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอกับความต้องการที่จำเป็น ให้เร่งดำเนินการศึกษาและออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ดั้งเดิมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ให้เกิดความมั่นคงในการดำรงวิถีชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีศักดิ์ศรี ให้มีการนิรโทษกรรมหรือยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง ฯลฯ
เสนอทบทวนพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ประเด็นที่ 5 การทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้างระบบเศรษฐกิจเกื้อกูลโดยใช้การจัดการทางธุรกิจเป็นแกนกลางระดับตำบล มีข้อเสนอ เช่น (1) เขตเศรษฐกิจพิเศษ เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 โดยเร่งด่วนที่สุด เสนอให้ยกเลิกผังเมือง EEC และให้กลับไปใช้ผังเมืองรวมจังหวัดแต่ละจังหวัดตัวเดิม จนกว่าจะมีการร่วมกันออกแบบผังเมือง EEC ร่วมกันผ่านเครื่องมือ SEA และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน คือ ร่วมออกแบบ ร่วมกำหนด การพัฒนา และร่วมตัดสินใจ
- ข้อเสนอเชิงนโยบายระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล เช่น ตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษานโยบายและกฎหมายด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรเพื่อสร้างการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎหมายแก่ประชาชน จัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจเกื้อกูลระดับภาคหรืออนุภาค เพื่อสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจในการเชื่อมโยงทั้งด้านการผลิตและการตลาดระหว่างกัน รวมทั้งการจัดทำแผนเศรษฐกิจทั้งในระดับภาค อนุภาค และ จังหวัด
(3)ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการทางธุรกิจเป็นแกนกลางระดับตำบล เช่น รัฐ ต้องกำหนดมาตรการงดเว้น ยกเลิกการจัดเก็บภาษีให้กับองค์กรที่มีการดำเนินการตามแนวทาง Community Business Model Canvas : CBMC
ข้อเสนอต่อชุมชน จัดตั้งโครงข่ายธุรกิจชุมชน จากธุรกิจระบบจุลภาคสู่มหภาคของของชุมชน สร้าง Modern Trade ของชุมชนมีการขับเคลื่อนในทุกระดับทั้งโครงสร้าง มาตรการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดสถาบันทางเศรษฐกิจภาคประชาชนร่วมกัน รัฐกำหนดมาตรการสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน
ขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ประเด็นที่ 6 กฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชน กรณีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และกรณี ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้และกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …...มีข้อเสนอ เช่น (1) กรณีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญ (ฉบับประชาชน) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เคารพสิทธิของประชาชนเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยใช้กลไก สสร. หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
ออกแบบให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) และองค์กรอิสระมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และไม่ควรมีอำนาจหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจ และสิทธิของประชาชนกลุ่มต่างๆให้มีความชัดเจนขึ้น
- กรณี ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้และกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …… มีข้อเสนอ เช่น ให้มีการทบทวนการออกกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. …….. สร้างพื้นที่การสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้เห็นถึงข้อจำกัดของกฎหมายดังกล่าว และเพื่อจะได้ช่วยกันส่งเสียงให้รัฐบาลทบทวนยกเลิกต่อไป
ประเด็นที่ 7 ความมั่นคงทางอาหาร มีข้อเสนอ เช่น คณะรัฐมนตรีต้องการทบทวนการเข้าร่วม Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และหันมาวางพื้นฐานการพัฒนาระบบการผลิตของเศรษฐกิจฐานล่างให้มีความเข้มแข็ง และวางพื้นฐานให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคาม รวมถึงภัยอุบัติใหม่ ให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันทางด้านความมั่นคงทางอาหารของพลเมืองอย่างเพียงพอ
รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการจัดการที่ดินแนวใหม่เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มั่นคงต่อการผลิตอาหารตั้งแต่ในระดับชุมชน โดยให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีบทบาทสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง จากการบูรณาการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินทุกระดับโดยมีชุมชนเป็นแกนหลัก เร่งรัดให้มีการจัดสิทธิที่ดินโดยกลุ่ม/ชุมชน แทนการจัดการแบบปัจเจก ทำให้คนจนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นการยึดโยงให้ที่ดินทำกินยังคงเป็นของชุมชน ฯลฯ
เสนอยกเลิกโครงการผันน้ำยวม-นิคมอุตสาหกรรมจะนะ
ประเด็นที่ 8 กรณีปัญหาเชิงพื้นที่ มีกรณีดังนี้ 1.กรณีโครงการผันน้ำยวม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก มีข้อเสนอดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลยุติโครงการฯ หรือต้องมีกระบวนการตรวจสอบและยกเลิกการทำอีไอเอ (EIA) โครงการผันน้ำยวม 2.ให้สนับสนุนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) ต่อกิจการโครงการผันน้ำยวมแบบมีส่วนร่วม
2.กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีข้อเสนอดังนี้ 1.ยุติการกระบวนการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่อำเภอจะนะจากสีเขียวเป็นสีม่วง เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม 2.ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พ.ค.2562 และ 21 ม.ค. 2563 ว่าด้วยเรื่องการเห็นชอบโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ” ให้มีการพัฒนาพื้นที่อำเภอจะนะเป็นแห่งผลิตอาหารของจังหวัดสงขลา
- กรณีโครงการสัมปทานเหมืองแร่หินเขาโต๊ะกรัง จังหวัดสตูล มีข้อเสนอให้ทบทวนการประกาศแหล่งหินจังหวัดสตูลทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องและไม่กระทบกับความเป็นเมืองอุทยานธรณีโลก โดยต้องคำนึงถือข้อเท็จจริงตามแนวทางของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ยกเลิกการคำขอประทานบัตรที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเขาโต๊ะกรัง พัฒนาพื้นที่แหล่งเขาโต๊ะกรัง และเขาใกล้เคียงกันให้สอดรับกับโครงการประตูสู่เมืองธรณีโลก เพื่อเสริมศักยภาพของการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล
4.กรณีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อเสนอ ให้ทบทวนและยกเลิกรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในโครงการโรงไฟฟ้านาบอน ให้พิจารณายกเลิกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและขยะแปรรูปของโรงไฟฟ้านาบอน โดยให้พิจารณาการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ฯลฯ
ตั้งกลไก 5 ฝ่ายขับเคลื่อนแก้ปัญหาให้เป็นจริง
ประเด็นที่ 9 ข้อเสนอการจัดตั้งกลไกเพื่อการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายสาธารณะ เสนอให้มีการจัดตั้งกลไก 5 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง (รัฐบาล) เจ้าหน้าที่รัฐระดับกระทรวงฯ ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน คณะทำงานระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล และผู้แทนประเด็นปัญหา ในรูปของ “คณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอตามมติที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล” (ระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) และให้มีการกำหนดบาทบาทหน้าที่ เพื่อให้กลไกดังกล่าวมีการขับเคลื่อนและติดตามข้อเสนอต่างๆ ให้บรรลุผล หรือมีความก้าวหน้าตามข้อเท็จจริงต่อไป
ทั้งนี้ข้อเสนอทั้งหมด 9 ประเด็นนี้ ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลจะนำเสนอไปยังรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 (3) เพื่อ “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” ต่อไป
‘รมว.พม.’ แนะแนวทางการทำงาน 7 ข้อ
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้แทนนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรี พม. กล่าวมอบนโยบายแทนรัฐมนตรี ซึ่งมี 7 ข้อว่า 1.วันนี้โลกเปลี่ยน เราต้องปรับเปลี่ยนให้เข้มแข็งกว่าเดิม เพราะหากเราไม่เปลี่ยน เราจะถูกทิ้งไปอยู่ข้างหลัง แม้กระบวนชุมชนของเราเข้มแข็ง แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 เราจะนำพาไปด้วยกันอย่างไร ?
นางพัชรี อาระยะกุล
2.วันนี้ พอช.ไม่ได้ทำงานคนเดียว หัวใจคือการบูรณาการความสำเร็จขององค์กร บูรณาการคือความสำเร็จของบุคคล กระทรวง พม.ไม่สามารถทำงานอยู่เพียงโดดเดี่ยว พอช.ต้องจับมือกับทุกกรมในสังกัดของกระทรวง พม. วันนี้สภาองค์กรชุมชนจับมือกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ถือว่ามาถูกทางแล้ว ต้องจับมือกับหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมให้หลากหลายมากขึ้น หากเดินคนเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จ
3.โรคระบาดโควิดบังคับให้ประเทศไทยและคนทั้งโลกต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรมพื้นฐาน เพื่อให้อยู่รอด พึ่งพาตัวเองได้ 4. เราต้องไปด้วยกัน ทำงานร่วมกัน ทำงานด้วยกัน เราไม่ใช่แค่สภาองค์กรชุมชน พอช. ฯลฯ เราจะต้องไปด้วยกัน ถ้าเราจะไปด้วยกัน เราจะทำงานร่วมกัน จะทำอย่างไร ? เราต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มคิด
5.เราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบอย่างรุนแรง โลกมีความเปราะบาง มีความเสี่ยง สลับซับซ้อน ไม่มีความชัดเจน การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จและการอยู่รอด กระบวนการที่จะมาทำงานร่วมกัน ทำอย่างไรที่จะเกิดความมั่นใจ ไว้วางใจกัน ?
6.อาชีพใหม่ อะไรที่เหมาะสมกับประชาชนในชุมชน อาชีพใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรืออาชีพใหม่แต่เปลี่ยนวิธี เช่น ขายของ online เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ในการทำงานสนับสนุนเครือข่าย และหากมีโอกาสใหม่ ๆ ให้ดึงเข้ามาช่วยชุมชน เช่น การปลูกกัญชา การปลูกกัญชง อย่าทำงานเป็นคนเดียว ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ หากทำงานแบบเดิมเราจะไปไม่รอด เราทุกคนต้องปรับตัวต้องเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ และ 7.คำถามที่ต้องตอบให้ได้ เช่น เราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือไม่ เราเชื่อมั่นในองค์กรหรือไม่ เราพัฒนาตนเองหรือไม่ ฯลฯ