ชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง กทม. ใช้ศูนย์เด็กเล็กนำร่องทำศูนย์พักคอยในชุมชน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เตรียมสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเพิ่มอีก 32 ล้านบาท จากเดิมที่สนับสนุนไปแล้ว 30 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการต่างๆ ลดผลกระทบจากโควิด เช่น ศูนย์พักคอยรองรับผู้ติดเชื้อในชุมชน ทำครัวชุมชน ซื้ออาหารจากชนบทสู่เมืองช่วยชุมชน ช่วยสวัสดิการอาสาสมัคร ฯลฯ โดยอนุมัติโครงการไปแล้ว 67 เมือง 761 ชุมชน ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ 179,127 ครัวเรือน
วันนี้ (3 กันยายน) คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.จัดประชุมผ่านระบบ Zoom Meetings โดยมีนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน เป็นประธานการประชุม มีผู้บริหาร พอช. และคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงฯ ประมาณ 40 คนร่วมประชุม มีวาระสำคัญคือการพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณ ‘โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการ 1.โครงการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน (วัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง-ซ่อมแซม เครื่องมือป้องกันการติดเชื้อ ฯลฯ) โดยมี 8 ชุมชนที่เสนอโครงการ ประกอบด้วย 1.ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ กทม. ปรับปรุง CI เดิมให้ได้มาตรฐาน รองรับผู้ติดเชื้อได้ 10 เตียง งบประมาณ 147,394 บาท 2.ชุมชนสุภัทรภิบาล เขตภาษีเจริญ ปรับปรุง CI (ศูนย์พักรอ) เดิมให้ได้มาตรฐาน รองรับผู้ติดเชื้อได้ 7 เตียง งบประมาณ 45,254 บาท 3.ชุมชนเขตจตุจักร กทม. ก่อสร้างศูนย์พักคอย/ศูนย์พักรอ (ใช้เต๊นท์หรือตู้คอนเทรนเนอร์ บริเวณลานกีฬาใต้ทางด่วน) รองรับชาวชุมชนในเขตจตุจักรได้ 32 เตียง งบประมาณ 510,700 บาท
ชุมชนพัฒนาหัวรถจักรตึกแดง เขตบางซื่อ ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเป็น CI รองรับ 3 ชุมชน รวม 44 เตียง งบประมาณ 150,000 บาท 5.ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว ปรับปรุงศูนย์ชุมชนเป็นศูนย์ประสานงาน รองรับได้ 6 เตียง งบประมาณ 158,010 บาท 6.ชุมชนบ้านครัว เขตราชเทวี ปรับปรุงศูนย์ประสานงานและพักฟื้น รองรับได้ 10 เตียง งบประมาณ 162,000 บาท 7.ชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี ปรับปรุงลานซ้อมมวยเป็นศูนย์พักรอ รองรับได้ 4 เตียง งบประมาณ 150,000 บาท และ 8.ชุมชนเหล่านาดี 12 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ใช้ตู้คอนเทรนเนอร์ 4 ตู้ ปรับปรุงเป็นศูนย์แยกกักและพักฟื้น รองรับผู้กลับคืนถิ่นได้ 15 เตียง ใช้งบประมาณ 80,000 บาท รวมงบประมาณที่อนุมัติ 1,403,358 บาท
ทั้งนี้งบประมาณที่จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนโดย พอช. มีทั้งหมด 5 ล้านบาท ขณะนี้ยังมีอีกหลายชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกำลังจัดเตรียมโครงการจัดตั้งศูนย์พักคอยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ลดลง ส่วนใหญ่เป็นศูนย์พักคอยขนาดเล็ก ใช้สถานที่ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ห้องประชุม ศูนย์ชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก ใช้วัสดุที่มีอยู่นำมาปรับปรุง หรือวัสดุมือสอง ทำให้ประหยัดงบประมาณ รองรับผู้ติดเชื้อได้ 5 เตียงขึ้นไป (ตามขนาดของสถานที่รองรับในชุมชน) เพื่อนำผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มากหรืออยู่ในสถานะสีเขียวมารักษา ไม่ให้แพร่เชื้อในครอบครัวหรือชุมชน
ผู้นำชุมชนเขตวังทองหลาง กทม. มอบสิ่งของและอาหารช่วยเหลือครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด
โดยชุมชนจะมีคณะกรรมการคอยดูแลและประสานงานกับ สปสช.หรือศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาและการติดตามอาการจากแพทย์ หากอาการรุนแรงขึ้นผู้ติดเชื้อจะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลที่มีเตียงว่าง ขณะเดียวกันศูนย์พักคอยในชุมชนก็จะเป็นที่พักฟื้นหรือรองรับผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วก่อนกลับสู่ครอบครัว ทำให้ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และภาวะเตียงล้น
นอกจากการอนุมัติโครงการศูนย์พักคอยทั้ง 8 แห่ง (วงเงิน 5 ล้านบาท) แล้ว คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงฯ พอช. ยังอนุมัติงบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อข้าวสาร อาหาร ผัก ผลไม้ สมุนไพรจากชนบท เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวชุมชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สนับสนุนการจัดทำครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหาร งบประมาณ 4 ล้านบาท สนับสนุนสวัสดิการช่วยเหลือผู้นำชุมชน อาสาสมัครที่ติดเชื้อโควิด งบประมาณ 1 ล้านบาท รวมทั้งยังเตรียมสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆ จัดทำโครงการแก้ไขผลกระทบจากโควิดอีก 20 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมด 32 ล้านบาท ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564
อาหารจากชนบทส่งมาช่วยเหลือชาวชุมชนเมือง
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฏาคมเป็นต้นมา พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อยจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 เช่น สำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบางในชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน รณรงค์ป้องกัน แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกัน ทำอาหาร-สินค้าขายราคาถูก สร้างแหล่งอาหาร ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ รวมพื้นที่อนุมัติจนถึงปัจจุบัน 67 เมือง 761 ชุมชน ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ 179,127 ครัวเรือน