สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยนำตัวแทนชุมชน จนท.พอช.ดูพื้นที่จัดทำศูนย์พักคอยในโกดังสินค้า
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย–พอช.หนุนชุมชนทำศูนย์พักคอยรองรับผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในสถานะสีเขียว เพื่อลดภาวะเตียง–รพ.ล้น โดยใช้สถานที่และวัสดุอุปกรณ์ที่ชุมชนมีอยู่นำมาดัดแปลงใช้เพื่อประหยัดงบประมาณ ขณะนี้มีชุมชนในกรุงเทพฯ 4 ชุมชนจัดตั้งศูนย์แล้ว และเตรียมขยายเพิ่มอีก 4 แห่ง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันระบบการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมีขีดจำกัด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ส่งผลให้มีผู้ป่วยที่รอเตียงเพื่อการรักษาเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นระบบการดูแลผู้ป่วยในชุมชนที่มีอาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในสถานะสีเขียว โดยการจัดตั้ง ‘ศูนย์พักคอยในชุมชน’ หรือ ‘Community Isolation’ (CI) จึงช่วยแบ่งเบาภาระระบบสาธารณสุข สามารถดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในสถานะสีเขียวไม่ให้มีอาการรุนแรงได้ ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดตั้ง CI ขึ้นมา เช่น กรุงเทพมหานคร การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สถาบันการศึกษาต่างๆ ภาคเอกชน ฯลฯ
“CI เหมือนแก้มลิงที่ช่วยป้องกันน้ำท่วม”
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้จัดบรรยายผ่านระบบซูม (Zoom Meetings) ให้ความรู้เรื่อง ‘การทำศูนย์พักคอยในชุมชน’ หรือ ‘Community Isolation’ (CI) เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน โดยนายอดิเรก แสงใสแก้ว อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และทีมงานจิตอาสาที่มีบทบาทในการสนับสนุนการจัดวางระบบ CI เป็นผู้บรรยายให้ความรู้เรื่องการจัดทำ CI โดยมีผู้นำชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.ประมาณ 50 คนร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
นายอดิเรก แสงใสแก้ว ในฐานะตัวแทนกลุ่มจิตอาสาที่มีบทบาทสนับสนุนการจัดวางระบบ CI กล่าวว่า การจัดการปัญหาโควิดจะต้องจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ในขณะนี้สถานที่รักษาผู้ติดเชื้อโควิดทั้งโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมีเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ ดังนั้นศูนย์พักคอยในชุมชน หรือ CI จึงมีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในสถานะสีเขียว
“CI จึงเปรียบเสมือนกับโครงการแก้มลิงเพื่อพักคอยน้ำไม่ให้น้ำท่วม เพราะไม่งั้นจะมีผู้ป่วยสีเขียวที่ต้องเข้าไปรอการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามเป็นจำนวนมาก และถ้ารักษาช้าหรือรู้ตัวว่าติดเชื้อช้าก็จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น เชื้อก็จะแพร่กระจายได้มากขึ้น” นายอดิเรกเปรียบเทียบความสำคัญของ CI
เขาบอกด้วยว่า การจัดตั้ง CI จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การจัดตั้ง CI ที่เขตราษฎร์บูรณะของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมวางระบบ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน (ศรีไทยซุปเปอร์แวร์) ให้ใช้โกดังเก็บสินค้าที่ไม่ได้ใช้งานริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร มาปรับปรุงเป็น CI
CI ที่โกดังโรงงานศรีไทยฯ
โดยติดตั้งเตียงกระดาษ ระบบประปา ไฟฟ้า ระบบระบายอากาศ ระบบน้ำทิ้ง การจัดการขยะติดเชื้อ ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ติดตั้งระบบวงจรปิดดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งมีห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 10 วันจึงเปิดบริการได้ โดยมีโรงพยาบาลประชาพัฒน์ดูแลผู้ป่วย รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 300 เตียง และตั้งเป้าว่า CI แห่งนี้จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ประมาณ 10,000 คน
สมาคมอสังหาฯ – พอช.หนุนชุมชน 8 แห่งจัดตั้ง CI
นายอดิเรก สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกด้วยว่า การจัดตั้ง CI ในชุมชนนั้น ผู้นำชุมชนจะต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน และท้องถิ่น เพราะบางคนอาจกลัวว่า CI จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ทำให้เกิดการต่อต้าน และต้องมีการจัดวางระบบเพื่อความปลอดภัย ได้มาตรฐาน เช่น การวางเตียงควรเว้นระยะห่างกันประมาณ 2 เมตร เพื่อป้องกันการไอ จาม หรือสารคัดหลั่งที่อาจนำเชื้อมาติดกันอีก พื้นห้องควรทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีรอยแยกหรือแตกเพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อ โดยใช้เสื่อน้ำมันปูพื้นเพื่อความสะดวก ทำความสะอาดได้ง่าย
ต้องมีระบบระบายอากาศ ระบบพักน้ำก่อนทิ้ง การเติมคลอรีนลงในบ่อพักน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนระบายทิ้ง ห้องน้ำ ห้องสุขาควรแยกจากกัน จำนวน 1 ห้องต่อผู้ป่วย 10 คน ฯลฯ เน้นการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ชุมชนมีอยู่หรือสินค้ามือสองมาปรับปรุงเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อความประหยัด เช่น การทำห้องความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงออกจากผู้ป่วยสีเขียว โดยในห้องความดันลบจะมีเครื่องดูดอากาศจากในห้องมารวมกันเพื่อกำจัดเชื้อ ซึ่งหากเป็นระบบแบบโรงพยาบาลอาจใช้งบประมาณนับล้านบาท หากชุมชนทำเองอาจใช้เงินเพียง 8,000 บาท โดยสมาคมฯ พร้อมสนับสนุน และเชื่อว่าชุมชนสามารถทำเองได้
CI ขนาดเล็กในชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง
อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดตั้ง CI ที่เขตราษฎร์บูรณะดังกล่าวแล้ว สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยยังได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรฯ สนับสนุนการจัดตั้ง CI ในชุมชนต่างๆ โดยขณะนี้มีการจัดตั้งแล้วใน 4 ชุมชน เช่น ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว ชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง ฯลฯ ทั้งหมดเป็น CI ขนาดเล็กตามสภาพของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ที่ทำการชุมชนหรือศูนย์เด็กเล็กเป็น CI รองรับผู้ติดเชื้อในชุมชนได้ประมาณ 5-20 คน โดยขณะนี้ชุมชนเหล่านี้มีความต้องการที่จะปรับปรุง CI ให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียม CI อีก 4 แห่งในกรุงเทพฯ คือ 1.ชุมชนตึกแดง เขตบางซื่อ ใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนเป็น CI ขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับปรุง รองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 50 คน 2.ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาธร 3.บริเวณลานกีฬาใต้ทางด่วนชุมชนภักดี เขตจตุจักร รองรับ 7 ชุมชนโดยรอบ และ 4. ชุมชนนันทิศา เขตคลองสามวา
ทั้งนี้สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเป็นที่ปรึกษาในการวางระบบและให้ความรู้ กระบวนการ ขั้นตอน การออกแบบ และจัดทำ CI ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค การจัดทำครัวกลาง ฯลฯ
ขณะที่ชุมชนจะจัดเตรียมสถานที่ อาสาสมัครดูแลผู้ป่วย ประสานกับ สปสช.และศูนย์สาธารณสุข กทม.เพื่อจ่ายยา อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดอ๊อกซิเจนในเลือด ปรอทวัดไข้ และดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ telemedicine หรือให้คำแนะนำผ่านโทรศัพท์ หรือสื่อออนไลน์
รูป 5 บรรย
อาสาสมัครชุมชนเขตวังทองหลางให้คำแนะนำการวัดค่าอ๊อกซิเจนแก่ครอบครัวผู้ติดเชื้อ