สระแก้ว / อ.วังน้ำเย็น กับการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ตำบลตามหลังใน ตำบลทุ่งมหาเจริญ โดยทั้งสองตำบลเป็นที่ดินที่อยู่ภายใต้พื้นที่ปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) สืบเนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร และสถานการณ์ราคาพืชผลทางการผลิตตกต่ำ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาที่ดินเปลี่ยนมือ และทำให้ผู้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบันไม่สามารถได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นที่มาของความต้องการใช้แนวทาง และกระบวนการของบ้านมั่นคงชนบทเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นที่มาของการดำเนินโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนในครั้งนี้
ตำบล “ทุ่งมหาเจริญ” เต็มไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติหลากหลายชนิด เช่น ต้นตะแบก ต้นมะค่า ต้นซ่อ ต้นหวาย ต้นโมก ฯลฯ ตำบลทุ่งมหาเจริญมีพื้นที่ทั้งหมด 69,375 ไร่ แบ่งการใช้ประโยชน์โดยเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 46,038 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 14,568 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 369 ไร่ พื้นที่ของสถานศึกษา 1,387 ไร่ พื้นที่ใช้ประโยชน์ทางราชการ 2,081 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 4,635 ไร่
ตำบล ”ตาหลังใน” มีพื้นที่ทั้งหมด 60,442 ไร่ แบ่งการใช้ประโยชน์โดยเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 50,987 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 2,252 ไร่ พื้นที่ปศุสัตว์ 397 ไร่ พื้นที่ใช้ประโยชน์ของราชการ 602 ไร่ พื้นที่ป่า 4,702 ไร่ แหล่งน้ำ 1,340 ไร่ เป็นพื้นที่อื่นๆ 180 ไร่ โดยร้อยละ 90 ของพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ดินที่อยู่ภายใต้พื้นที่ปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าโซน C
โดยทั้งสองตำบลประสบปัญหาไม่มีความมั่นคงทางด้านที่ดิน และที่อยู่อาศัย ประสบปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินเนื่องจากการเปลี่ยนมือ และปัญหาทรัพยากรเพื่อการเกษตร
วันนี้ 11 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอวังน้ำเย็น ผู้แทนแทนเครือข่ายองค์กรชุมชม ตำบลตามหลังใน และตำบลทุ่งมหาเจริญ ยื่นข้อเสนอต่อ นางสาวนัยนา ทองบัว ปลัดอำเภอวังน้ำเย็น เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพื่อคนใน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ระหว่างสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระแก้ว นายอำเภอวังน้ำเย็นสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๙ สำนักงานชลประทานที่ ๙ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต ๙ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนตำบลตาหลังใน องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมหาเจริญ เครือข่ายองค์กรชุมชนขบวนจังหวัดสระแก้ว
นายละออง ดาว สีลาน้ำเที่ยง ประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลคลองหินปูน กล่าวว่า การจัดเวทีบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย มีนโยบายว่า คนไทยทุกคนที่มีอยู่อาศัยถ้วนหน้าและมีคุณภาพชีวิตที่ดี “Housing for all” ในปี 2579 ขบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนที่มีรายได้น้อย ทางชุมชนก็ต้องให้ความร่วมมือโดยการสำรวจในพื้นที่ของตน ว่ามีผู้ทุกข์ยากหรือมีผู้เดือดร้อน มีการใช้ที่ดินเท่าไหร่ และในชุมชนควรมีแกนนำให้การบริหารจัดการเรื่องนี้ และมีกลไกลระดับอำเภอเพื่อไปสู่การแก้ไขที่อยู่อาศัย กระบวนการเบื้องต้นก็เพื่อให้ทุกคนทราบปัญหาของตนเอง และลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เราจะทำอย่างไรให้หน่วยงานรับทราบถึงปัญหาของเรา เราจำเป็นจึงจะต้องมีหน่วยงานภาคีร่วมมือกับเราเพื่อเราจะได้ร่วมเรียนรู้และเข้าใจ ถึงบทกฏหมาย พรบ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน จะทำอย่างไรให้ชุมชนมีที่ดินอยู่มีที่ดินทำกิน
นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ภาคีหน่วยงานที่สำคัญนี้จะมีส่วนช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทุกเรื่องที่เรากำลังทำไม่ใช่แค่บ้านมั่นคง รวมทั้งเรื่องๆ เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องคุณภาพชีวิต รวมถึงเรื่องบ้านที่เป็นปัจจัยสำคัญ ทุกอย่างไม่ใช่เป้าหมายของคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง ทุกเรื่องเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพัฒนาชุมชน พัฒนาชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องพวกนี้ด้วยตัวเอง เพื่อไปร่วมกับหน่วยงาน ร่วมกับคนอื่นๆ และขยายเรื่องนี้ให้กว้างขวางขึ้น จังหวัดสระแก้วมีองค์กรชุมชนที่จดแจ้งเป็นสภาองค์กรชุมชน ร่วมถึงกลุ่มบ้านมั่งคงก็เป็นกลุ่มนึงที่สร้างความเข้มแข็งให้คนในพื้นที่ แนวทางนี้เป็นแนวทางสำคัญ ผมเองก็ได้เสนอเรื่องนี้กับทีมผู้บริหารจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่องค์กรชุมชนได้มีโอกาสดำเนินการและมีภาคีต่างๆมาช่วยกัน จะทำให้ชุมชนแข้มแข็ง ชุมชนจะเข้มแข็งจะต้องไม่เป็นผู้รอรับ รอให้ใครมาพัฒนา แต่ต้องเป็นผู้ร่วมพัฒนา ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบไปด้วยกัน โดยใช้เครื่องมือของทุกหน่วยงาน ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่ทำงานอย่างใกล้ชิดก็มีเรื่องของสวัสดิการ เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงของหน่วยงานอื่นๆ เราก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน ช่วงนี้ก็มีหลายหน่วยงาน ในนามของเครือข่ายองค์กรชุมชน
สุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก (พอช.) กล่าวว่า การแก้ไขเรื่องที่ดินทำกินเป็นเรื่องใหญ่ รวมทั้งเป็นประเด็นซับซ้อน แต่ในปัจจุบันก็มีนโยบายที่เอื้อ รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่จะลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน ตรงนี้เป็นกลไกที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม…
“เรื่องที่ดินกับที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน และยังสัมพันธ์กับเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย ใบบทบาทของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีบทบาทภารกิจที่จะหนุนเสริม เป็นภาคีร่วมที่จะพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน โดยผ่านประเด็น สำคัญๆ เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย ความมั่นคงเรื่องบ้าน เป็นประเด็นการพัฒนา พรบ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรขุมชน ที่เป็นกลไกของชุมชนในการโยงการจัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเครื่องมือของ พอช. ที่มาร่วมทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชุน โยงไปถึงเรื่องที่อยู่อาศัย พอช. มีบทบาทหน้าที่ ให้พี่น้องทั้งในภาคเมืองและภาคชนบท มีความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ”
นางสาวนัยนา ทองบัว ปลัดอำเภอกล่าวว่า “ตนมีรู้สึกมีความยินดี ที่หน่วยงานทุกท่านที่อยู่ที่นี่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน โชคดีที่ว่าเป็นคนที่ดูเรื่องของแผนพัฒนาอำเภอด้วย เลยทำให้มองเห็นการพัฒนาของพื้นที่วังน้ำเย็นว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญเรื่องนี้ ยินดีกับชาววังน้ำเย็นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอบคุณทุกๆ หน่วยงานมากๆ ค่ะ”
โดยเป้าหมายสำคัญในการจัดทำลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา การพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเขตอำเภอวังน้ำเย็น โดยมีการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการร่วมกันเพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเขตอำเภอวังน้ำเย็น ให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมชุมชนและสร้างสรรค์แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนในรูปแบบใหม่ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังคมพอเพียงและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนกลายเป็นแนวทางต้นแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเขตอำเภอวังน้ำเย็น“ที่มากกว่าคำว่าบ้าน” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ
๑. ร่วมกันสำรวจข้อมูลรายละเอียดผู้อยู่อาศัยในตำบลตาหลังใน และตำบลทุ่งมหาเจริญ และบูรณาการฐานข้อมูลจากหน่วยงานความร่วมมือที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยแบบบูรณาการร่วมกันทั้งจังหวัด
๒. สร้างความชัดเจนเรื่องที่ดินในการนำมาใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการทำกินให้ผู้เดือดร้อนบนพื้นฐานกฎเกณฑ์และความถูกต้อง
๓. เกิดขบวนการวางแผนจัดปรับผังที่อยู่อาศัยในการพัฒนาพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติเรื่องอาชีพสภาพแวดล้อม และคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง
๔. ประสานความร่วมมือในการร่วมกันสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตงบประมาณ กฎระเบียบ เพื่อให้เกิดการคลี่คลาย ที่มากกว่าคำว่าบ้าน มากกว่าที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมการพัฒนาและการดำเนินการ เช่น ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านประชาธิปไตยชุมชน การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น
๕. สร้างกลไกในการแก้ปัญหาทุกๆด้านเพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาด้านอื่นๆ ทุกเรื่องของจังหวัดสระแก้ว
๖. ร่วมกัน กำกับ ติดตาม ให้การแก้ไขปัญหาเกิดรูปธรรมเป็นไปตามเป้าหมายและแผนงานที่กำหนดไว้
โดยวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดเวทีบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนของพี่น้อง อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ต่อไป