หากเอ๋ยถึงตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารแล้วไม่มีใครบ้างที่ไม่รู้จัก แต่ในฐานะอะไรไม่อยากเอ่ยถึง ซึ่งในวันนี้จะขอเสนอเรื่องผู้ยากไร้ไม่มีทั้อยู่อาศัยได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ตามโครงการ บ้านพอเพียงชนบท
โครงการบ้านพอเพียงชนบท เกิดจากปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในชนบท และในกลุ่มนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยที่บ้านที่ก่อสร้างมานานแล้วมีสภาพทรุดโทรม ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง ไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในรูปแบบการซ่อมแซม ปรับปรุง หรือสร้างบ้านสำหรับครัวเรือนที่ยากจน ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการเพื่อให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงโดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนในพื้นที่ ตั้งแต่การสำรวจ กลั่นกรองข้อมูลผู้เดือดร้อน การคัดเลือก การรวมกลุ่มผู้เดือดร้อน จัดซื้อวัสดุและดำเนินการก่อสร้างร่วมกัน ซึ่งทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน การสมทบร่วมแรงก่อสร้างของผู้เดือดร้อนและคนในชุมชน นี่คือเป้าประสงค์ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เพื่อช่วยเหลือตามโครงการบ้านพอเพียงครั้งนี้
พ่อดาบประเภท กว้างสวาสดิ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เล่าย้อนอดีตไปว่า ที่ตำบลกกตูมเป็นชุมชนเล็กๆที่อยู่ในเทือกเขาภูพานสร้างบ้านสร้างที่อยู่อาศัยตามวิถีของเผ่าชนที่เรียกกันว่าชนเผ่าบรูไฮไทโซ่ เป็นคนที่อยู่เรียบง่าย อยู่กันตามวิถีอยู่กินตามธรรมชาติ ไม่มีความเชี่ยวชาญการทำเกษตรเท่าไหร่นัก อย่างมากก็ทำไร่ฝ้าย ปลูกข้าวไร่เลี้ยงชีพหรือไม่ก็ล่าสัตว์เป็นอาหาร ส่วนเรือนชานก็สร้างโดยไม้ไผ่ เสาเรือนก็ใช้ไม้กลมที่ตายแล้วมาทำเป็นเสาบ้าน มีการถกถางป่าออกไปทำสวนพริกเพื่อนำไปแลกข้าวที่เขาวงในอดีตเรื่อยมา
และที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากคือ หลังปี พ.ศ. 2525 ยิ่งเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนพอมีความเจริญผู้คนเริ่มเข้ามาจากต่างถิ่นเพื่อจับจองเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ทำให้คนดั่งเดิมและคนใหม่เริ่มกลืนกินวัฒนธรรมดั่งเดิมจึงเริ่มหายไป และพอมีนโยบายการสนับสนุนให้ชุมชนมีการปลูกยางพารา ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำร่ำรวยกันมากขึ้น
แต่ก็ยังมีบางครัวเรือนไม่มีที่ทำกินได้อาศัยการรับจ้างเพื่อเลี้ยงชีพ หาเช้ากินค่ำ ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มาจนถึงปัจจุบันนี้ การดำรงชีวิตยังหาของป่าขาย ไม่มีการพัฒนาตนเอง ขาดการกระตือรือร้นไม่มีที่เป็นของตนเอง
พ่อดาบประเภท เล่าต่อไปว่า อย่างไรก็ตามพอสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ได้มีโครงการบ้านพอเพียงชนบท เมื่อปี 2560 คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลกกตูมจึงได้เริ่มการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในตำบลกกตูม ซึ่งจากการสำรวจครั้งนั้นมีผู้เดือดร้อนทั้งหมด 68 ครัวเรือน จึงได้ขอรับงบประมาณสมบทจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เทศบาลตำบลกกตูม และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุษย์จังหวัดมุกดาหาร มีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปี พ.ศ. 2564 และมีผู้เดือดร้อนได้รับการซ่อมแซมด้านที่อยู่อาศัยไปแล้วทั้งสิ้น 41 หลังคาเรือนและยังคงเหลืออีก 17 ครัวเรือน โดยตำบลกกตูมได้รับงบประมาณตามโครงการบ้านพอเพียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จำนวน 6 ครัวเรือน ปี พ.ศ. 2563 จำนวน 13 ครัวเรือน และปี พ.ศ. 2564 จำนวน 9 ครัวเรือน ที่เหลือก็จะเป็น พมจ. มุกดาหารและ ทต. กกตูม ที่อนุมัติให้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
นายแช่ม ศรีบัวเทพ สรวัตรกำนันตำบลกกตูม อำเภอกกตูม จังหวัดมุกดาหาร เล่าว่า พอหลังจากที่มีการเสนอโครงการไปให้หน่วยงาน ทั้งทาง ทต.กกตูม พมจ.มุกดาหาร และ พอช. ก็ได้รับการสนับสนุนสมทบงบประมาณ จึงได้เปิดเวทีสภาองค์กรชุมชนสร้างความเข้าใจการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยการเรียกคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลกกตูมและผู้ได้รับผลประโยชน์มาทำความเข้าใจเพื่อให้เห็นตรงกัน และเมื่อลงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยก็มีชาวบ้านมาช่วยกันเอาแรงตั้งแต่ขุดหลุม ยกเสา ทำกับข้าว มากินกัน มองภาพแล้วก็ชื่นใจ เราทำกันจนเสร็จ ไม่เป็นญาติมิตรก็ถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน ผมบริจาคไม้ และช่วยนำรถไถไปปรับที่ให้โดยไม่ได้คิดค่าแรง ผมถึอว่าเขาก็มีส่วนในการพัฒนาบ้านของเรา
ด้านนางชวนพิศ อุทโท อายุ 65 ปี สมาชิกบ้านพอเพียง ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เล่าทั้งน้ำตาว่า ดีใจมาก ภูมิใจ ขอให้ร่ำให้รวย ผู้ที่มาสร้างบ้านให้ตน ก็ขอชอบคุณที่ยังมีความเมตตา บ้านหลังนี้อยู่กันทั้งหมด 5 คน อยู่กับลูกกับหลาน และตนมีที่ดินเป็นที่ดินเอกสารสิทธิ์ สปก.4-01 เนื้อที่ 11 ไร่ รวมทั้งที่ดินที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย มีรายได้เป็นปีเพราะปลูกมันสำปะหลัง ว่างจากไร่ก็รับจ้างทั่วไปตนก็ทำไม่ได้แล้วมีแต่ลูกๆ
ห่างออกไปไม่ไกลนักเป็นบ้านของนายสมอน มูลเสนา สมาชิกโครงการบ้านพอเพียงตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร บอกว่า ตนเป็นคนเผ่าบรูไฮไทโซ่ อยู่ที่นี่มาแต่เกิดก็อยู่กับพ่อแม่ แต่พอมีครอบครัวก็ออกเรือนสร้างบ้านตามวิถีคนเผ่าบรูไฮไทโซ่ ไม่มีที่ทำกินรับจ้างทั่วไป ตนก็เป็นคนหูหนวกต้องพูดดังๆจึงจะได้ยิน พิการหูมาแต่กำเนิดบ้านหลังนี้อยู่กันทั้งหมด 5 คน พ่อ แม่ ลูกอีก 3 คน ยังเหลือเทพื้นยังไม่เสร็จคิดว่าหลังจากนี้อีก 4-5 วัน ก็จะเทแล้ว มีความสะดวกมากขึ้นมีห้องน้ำในตัว มีความปลอดภัย ขอขอบคุณผู้ที่มีน้ำใจช่วยเหลือ พอมีบ้านแล้วต่อจากนี้ก็จะช่วยเหลือตนเองให้มากขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีของลูกๆ นายสมอนกล่าวทิ้งท้าย
ถึงที่สุดแล้วการจะมุ่งสร้างต้นทุนชีวิตของผู้ยากไร้ ด้วยบ้านพอเพียงชนบทที่ตำบลกกตูม ทุกภาคส่วนที่ได้หันหน้ามาหากันทำให้ชีวิตผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ก็มีบ้านที่พอเพียงชนบทได้อาศัยตามวิถีที่พอเพียงจนทุกวันนี้
ประพันธ์ สีดำ รายงาน