25 มี.ค. 64 (เวลา 14.00 น. ณ พอช. กทม.) นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนในนาม เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ผู้แทนหน่วยงานจากกระทรวงพม. การเคหะแห่งชาติ และฝ่ายพอช. นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันฯ และสำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน เข้าร่วม

นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวง พม.
ในการประชุม ผู้แทนพอช. กล่าวรายงานผลการสำรวจข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางของการรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม พบผู้เดือดร้อนใน 36 จังหวัด 394 ชุมชน 38,907 ครัวเรือน ซึ่งผู้เดือดร้อนที่กระจายอยู่เกือบครอบคลุมทั่วประเทศนั้น พอช.ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการโดยคัดเลือกจากพื้นที่จังหวัดที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วนต้องรีบแก้ไขปัญหา และชุมชนมีความพร้อมจะแก้ไขปัญหาในปี 2564 นั้น ที่จังหวัดพิษณุโลก ราชบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา กรุงเทพฯ สงขลา และสุราษฎร์ธานี พร้อมนำเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหา ได้แก่ ข้อเสนอเพื่อให้เกิดการแบ่งปันที่ดินในบริเวณเดิม การจัดสรรที่ดินใกล้บริเวณที่ตั้งชุมชนเดิม เพื่อไม่ให้กระทบต่อแหล่งงาน แหล่งการศึกษาของลูกหลาน และสภาพชีวิตความค้นชินเดิม โดยผู้แทนผู้เดือดร้อนกล่าวว่า “เราอยากพัฒนาไปพร้อมกับเมืองด้วย เพราะการที่เราต้องย้ายไปอยู่ในที่ใหม่ที่รัฐจัดให้ ทำให้เราไกลแหล่งงาน แหล่งที่เราทำกิน และตอนนี้ก็เกิดโควิดด้วย” โดยการให้คนย้ายไปที่ใหม่ เป็นเรื่องยากที่คนๆหนึ่งที่มีความยากจนจะตั้งตัว ใช้ชีวิตได้ พอไกลงาน ไกลความคุ้นชินเดิม บางคนก็ยอมกลับมาอยู่อย่างยากลำบากเพื่อให้ใกล้กับแหล่งงานเดิม มีรายได้ในการใช้ชีวิตไปต่อวัน เพราะบางคนก็มีอายุมากแล้วที่จะไปหางานใหม่” ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนกล่าวเสริม

หลังจากนั้นมีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และข้อเสนอในด้านงบประมาณ ที่ผู้เดือดร้อน เครือข่ายภาคประชาชน ได้สะท้อนถึงความต้องการให้รัฐบาลอุดหนุนงบฯกลางเพิ่มเติมให้กับการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง ในกรณีการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยกับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐเร่งด่วน ไม่ทันตั้งตัวในการออมทรัพย์เพื่อเสนอขอสินเชื่อในการแก้ไขปัญหาได้ และข้อเสนอในการร่วมกันผลักดันกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อขอให้กระทรวงคมนาคม มีแผนรองรับด้านที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดการสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบต่อไป สุดท้าย จากการประชุมครั้งนี้และการขับเคลื่อนเดินหน้าต่อนั้น ก็เพื่อมุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมาย “คืนพื้นที่สร้างราง สร้างบ้าน สร้างคน เพื่อสังคมยั่งยืน” อันหมายถึงการพัฒนาที่จะสำเร็จร่วมกันทุกฝ่ายตั้งแต่ คืนพื้นที่สร้างราง เพื่อบรรลุแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติก และดิจิทัล สร้างบ้าน เพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี สร้างคน เพื่อบรรลุแผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน ที่จะสนองต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs ข้อที่ 1,10 และ 11)
รายงานและภาพ สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน