กาฬสินธุ์ / วันที่ 9-10 มีนาคม 2564 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดสัมมนาคณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีคณะอนุกรรมการภาคผู้แทนองค์กรชุมชนจังหวัด เครือข่ายงานประเด็น ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบัน เข้าร่วมการประชุม โดยได้รับเกียรติจากดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นวิทยากร วิเคราะห์สถานการณ์ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานขบวนองค์กรชุมชน (เศรษฐกิจ สังคม การเมือง) และนายพลากร วงศ์กองแก้ว คณะทำงานปฏิรูป มาบรรยายหัวข้อการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเชิงอนาคต
“สร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานล่าง”
นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล ผู้อำนวยการภาค สำนักงานตะวันออกเฉียงเหนือ พอช. กล่าวกล่าวต้อนรับ ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาในครั้งนี้ โดยระบุว่า เป็นการสรุปบทเรียนการทำงานของคณะอนุกรรมการภาค ถึงบทบาทหน้าที่ แนวทางการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อสรุปผลการดำเนินงานพร้อมส่งมอบให้คณะอนุกรรมการภาคในชุดถัดไป
ความเชื่อในสมัย พชม. ก่อนมาเป็น พอช. เมื่อก่อนทำงานในพื้นที่ชุมชนแออัดในเมือง โดยมีแนวคิด ชุมชนเป็นแกนหลัก ชุมชนเป็นเจ้าของการพัฒนา ใช้การออมทรัพย์ ให้ชาวบ้านมีเงินของตนเอง จะมีพลังในการเจรจาต่อรองโดยใช้เงินเป็นเครื่องมือ ต่อมาจะขยายไปชนบทจะทำอย่างไร กระทั่งเกิด พอช.ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในคนจนคนเล็กคนน้อย เงินที่ผ่าน พอช. ลงไปถึงชุมชน ถึงกลุ่มออมทรัพย์ การทำเรื่องนี้ทำเป็นโครงการไม่ได้ ต้องให้ส่งผลสะเทือนทั่วประเทศ ซึ่งยังเชื่อชุมชนเป็นแกนหลัก การสร้างเครือข่ายชุมชน พัฒนากลไกระดับจังหวัด ผ่านงานภูมินิเวศ ที่อยู่อาศัย แผนจังหวัด ออมทรัพย์ เป็นการเรียนรู้ขององค์กรชุมชน
ผู้อำนวยการภาค กล่าวต่อว่า จนทุกวันนี้ความเชื่อของ พอช. เชื่อว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง โจทย์สำคัญ ขบวนพี่น้องจะเป็นเครื่องมือในการาเคลื่อนขบวนของพี่น้องได้อย่างไร โดยไม่เพียงตอบโจทย์ตัวชี้วัดเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นแผนที่ตอบโจทย์พี่น้อง ให้พี่น้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหา พอช.จะเป็นเครื่องมือกับองค์กรชุมชนอย่างไร ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง ที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน การพัฒนาที่ชุมชนเป็นแกนหลัก อนุกรรมการภาคจะกำกับทิศนี้อย่างไร จะใช้เครื่องมืองบประมาณรายแท่งในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างไร
จะทำอย่างไรให้สภาฯเล่นบทบาทนั้น ให้กองทุนสวัสดิการกำกับทิศให้มากกว่าการสมทบสวัสดิการชุมชน อนุกรรมการภาคจะเข้ามาร่วมบริหาร เคียงบ่าเคียงไหล่ ใช้เครื่องมือของ พอช.อย่างไร เป็นทีมเดียวกัน เราจะแปรวาทกรรมไปสู่รูปธรรมได้อย่างไร สำนักงานภาคในยุคนี้พร้อมที่จะมากำหนดทิศร่วมกัน จะเชื่อมโยงภาคีอย่างไร สิ่งที่เราเชื่อ องค์กรชุมชนโปร่งใสเปิดเผย พี่น้องใช้ประโยชน์ร่วม สร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน ไม่เหลือเพียงแค่แท่งไอติม
“การพัฒนาประเทศที่มีชุมชนเป็นแกนหลัก”
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อวิเคราะห์สถานการณ์ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานขบวนองค์กรชุมชน (เศรษฐกิจ สังคม การเมือง) โดยระบบุว่า “การพัฒนาประเทศที่มีชุมชนเป็นแกนหลัก” ที่ผ่านมาเราหลงทางไปไกล วันนี้เรามาถูกทาง การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ให้เราพึ่งพาตนเอง ให้ ชุมชนลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่ทิ้งคนไว้ข้างหลังในประเทศต่างๆ ถ้าเราไม่ระวังเราจะเดินไปผิดทาง ที่เราทำอยู่คือสิ่งที่ใช่ การแก้ไขต้องเริ่มจากต้นเหตุ หนี้นอกระบบ พ่อค้าคนกลาง การที่ชาวบ้านทำสิ่งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่าง สถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่าย ตัวอย่างของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การออม ถ้าเรามีสถาบันการเงินของเรา เงินเราเอง จ่ายดอกเราเอง กู้เงินเราเอง เลือดไม่ไหลออกไปที่คนอื่น และสามารถนำดอกผลมาอนุมัติสร้างในสิ่งที่ชุมชนอยากทำได้เอง ไม่ต้องไปขอใครไม่ต้องรอใคร เราสามารถทำเองได้เลย ประชาชนเลิกรอแล้ว จะเห็นได้จากธนาคารชุมชน ธนาคารปู ธนาคารต้นไม้ ธนาคารน้ำใต้ดิน ป่าชุมชน คันนาทองคำ กลุ่มเลี้ยงแพะ และหลายสิ่งมีวิธีทำให้ที่ดินเรางอกเงย และสิ่งที่จะต้องทำตามมาคือ การทำให้มีกฏหมายรองรับพี่น้องประชาชน เช่นการปกป้องเกษตรพันธะสัญญา ร้านค้าชุมชน โชว์ห่วย กับร้านค้าสะดวกซื้อ
จากประสบการณ์ในการเป็นรัฐมนตรีทำให้เห็นว่า กฏหมายไม่ได้รองรับประชาชน เช่นกฏหมายธนาคารพาณิชย์ ที่ปิดกั้นสถาบันการเงินชุมชนให้ไม่สามารถจัดตั้งธนาคารชุมชนได้ เพราะกฏหมายธนาคารระบุว่าต้องมีเงินทุน 5,000 ล้านถึงต้องธนาคารได้ เรื่องฝายมีชีวิต เมื่อชาวบ้านทำแล้ว แต่กฏหมายกลับไม่รองรับ ที่ผ่านมาเราทำกฏหมายเพื่อชุมชนหลายเรื่อง เช่นกฏหมายป่าชุมชน ที่ชาวบ้านสามารถเก็บของป่าได้ หรือสถาบันการเงินชุมชนมีกฏหมายรองรับ หรือกฏหมายเรื่องสิทธิชุมชน เป็นต้น
หมดยุคแจกเงินแล้ว รัฐบาลถังแตกเป็นหนี้กันทั่วหน้า หัวใจอย่างรอ เรารู้ว่ากล้ามเนื้อเราอยู่ตรงไหน โอกาสเราอยู่ตรงไหน เราสามารถทำได้ ลุกขึ้นมาทำเองคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง ถามว่า ทำไมเรายังไม่รวยสักที สิ่งที่เราปลูกขายไม่ได้ เป็นปัญหาเรื่องการตลาด เพราะมีคนชอบมาบอกให้เราทำ และคนที่ทำเขาตั้งใจทำเพื่ออาชีพการงาน สิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ใช่ และเป็นสิ่งที่เราต้องทำต่อไป เชื่อว่าชุมชนจัดการตนเองก็เกิดขึ้นได้
นี่เป็นจุดเริ่มต้น ขั้นต่อไปคิดเรื่องการตลาดให้เยอะขึ้น เป็นการเชื่อมโยงเอกชนมาร่วมทำงานกับชุมชน ให้แต่ละชุมชนผลิตให้ดี มีคนทำการตลาดให้ หาให้พบ ชวนมาช่วยชุมชนทำ หาทางทำสารพัดอย่าง เปลี่ยนเป็นแผ่นดินทอง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เราคือคำตอบ ไปค้นหาทองคำในพื้นที่ตนเอง ส่วนตนเองจะเสริมเรื่องการแก้กฏหมาย การเชื่อมโยงหน่วยงานในอนาคต
“แก้เหลื่อมล้ำยากจน สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่”
นายพลากร วงศ์กองแก้ว คณะทำงานปฏิรูป กล่าวแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเชิงอนาคต
Futures cone 5 ปีข้างหน้าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นอนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้ เราจะวาดหวังอนาคตอะไรในอนาคต 5 ปี ข้างหน้า พื้นที่จังหวัด เมือง ชนบท งานบ้านพอเพียง ฯลฯ จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ความท้าทายในการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ศักยภาพและระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยหลายด้านยังต่ำกว่าเป้าหมายและไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้
เราจะมองอนาคตที่จะไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ที่มีความหนาแน่นในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งชุมชนที่เข้มแข็งจะสามารถแก้ไขปัญหาและสนองตอบต่อความต้องการของชุมชน ธนาคารโลกชี้ว่า คนจนพุ่ง 6.7 ล้านคน ซึ่งสวนทางกับข้อมูลของสภาพัฒนฯ ซึ่งมีนิยามที่แตกต่างกัน นิยามเก่า ความยากจน เรื่องมิติรายได้ และด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่ใช่มิตินี้อย่างเดียว แต่เป็นมิติความเสี่ยงของชีวิต การเข้าไม่ถึงการบริการและทุนทางสังคมที่เชื่อมโยงกับประเด็นเศรษฐกิจ ในสถานการณ์โควิด ทำให้คนจนเพิ่มขึ้น 500 ล้านคน ตัวอย่างธุรกิจท่องเที่ยวที่เชียงใหม่ คนตกงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นั่นคือคนจนในนิยามใหม่เช่นกัน เราจำเป็นต้องคิดกันใหม่
ถ้าจะแก้ปัญหาความยากจนกับความเหลื่อมล้ำเราต้องคิดนิยามกันให้ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่กี่ยวข้อง แผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยใช้ข้อมูลจากระบบการบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า กับสถานการณ์การปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน แก้ไขกฏหมายจัดทำ 45 ฉบับ และแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ศจพ. กับเศรษฐกิจฐานราก คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ในแผนการพัฒนาคน ควรมีการทำความเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการดึงเงิน 400,000 ล้านมาที่นี่ 50,000 ล้าน โดยเสนอผ่าน ครม.ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ส่วนการพัฒนาคนที่ภาคเหนือ จะพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า มิติการพัฒนารุกการสร้างฐานรากเศรษฐกิจใหม่ๆ แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ระบบพื้นที่ ขบวน การบริหารจัดการ เครื่องมืออะไรที่เรามีความหมายการพัฒนาคน ภาคอีสาน ในแต่ละกลุ่มจังหวัด จังหวัด เขาคิดอย่างไร เป็นการวิเคราะห์เขา วิเคราะห์เรา และเรื่องสำคัญ คือเรื่องบันทึกความร่วมมือเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไปนี้พื้นที่ พอช.ไม่เน้นเมืองอย่างเดียวแล้ว เพราะพื้นที่ป่าสงวน 12.5 ล้านไร่ 1.2 ล้านครัวเรือน 12,000 ชุมชน พอช.จะไปยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่อุทยาน 4.7 ล้านไร่ 462,448 ครัวเรือน 3,973 ชุมชน 1.8 ล้านคน ในพื้นที่อีสานมีกี่พื้นที่ สถานการณ์เป็นอย่างไร
ขบวนองค์กรชุมชนจะต้องอยู่ให้ได้ในสถานการณ์ โอกาสและความท้าทายภายใต้สถานการณ์ใหม่ (New Normal) เราจะเดินอย่างไร ให้เน้นให้ตรงจุด และความร่วมมือกับหน่วยงานเราจะใช้สถานการณ์นี้อย่างไร ทำอย่างไรเราจะกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดการพัฒนาที่ยั่งยืน และเชื่อมโยงกันจากชุมชน ตำบล จังหวัด ภาค และประเทศ โดยเราจะสามารถยืนอยู่ได้ในท่ามกลางสถานการณ์ เน้นเศรษฐกิจฐานราก เป็นงานสำคัญ สร้างเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ต่อเชื่อมกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ นายพลากร กล่าวในตอนท้าย
“จัดความพันธ์ใหม่บนพื้นฐานสร้างการเปลี่ยนแปลง องค์กรเราจะเข้มแข็ง”
ด้านนายสุเมธ ปานจำลอง ประธานคณะทำงานพิจารณาโครงการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในมุมมองภาคีพัฒนา โดยกล่าวว่า กฏหมายองค์การมหาชนในอีก 20 ปีข้างหน้า งบประมาณน้อยลง เจ้าหน้าที่มีชุดยูนิฟอร์ม การได้กฏหมายนี้มาเราได้ พอช. คือความสำเร็จแล้วนั่นไม่ใช่ ความสำเร็จของการได้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบลมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ เราต้องจับตาแนวโน้มสังคมเราจะเป็นสังคมสูงวัย ถ้าสภาองค์กรชุมชนตำบล ออกแบบครอบครัวตนเองไม่ได้เจ๊งครับ ถ้าไม่จัดระบบตนเองอีก 5 ปีข้างหน้า ชุมชนเปลี่ยน ผู้สูงอายุ เกิดการเปลี่ยนความสัมพันธ์ในครอบครัวชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบลจะตั้งหลักอย่างไร
เรื่องความเหลื่อมล้ำ คนที่อยู่ในฐานะยากจนรายได้ที่ต่ำกว่า 6,500 บาทต่อเดือน เราจะก้าวพ้นเส้นความยากจนอย่างไร ในการแก้ปัญหาได้อย่างไร ลดความเหลื่อมล้ำ เดินให้ใกล้เส้นข้ามความยากจน โดยเราจะใช้ผลการสอบทานสภาฯ สอบทานสวัสดิการชุมชน “ผู้นำเราทำอะไรอยู่ การเดินต่อโดยไม่คำนึงถึงผลการสอบทานสภาองค์กรชุมชน 41 % อยู่ในระดับ C กองทุนสวัสดิการชุมชน มีที่แจ้งจอดหลายกองทุน หรือเพียงเพราะว่าเสพสังวาสกับการบริหารงบประมาณเพียงพอแล้ว”
ต้องคิดเรื่องนี้ให้ออก เราจะนำพาพี่น้องประชาชนไปทางไหน ปรับตัวอย่างไร และยังมองไม่เห็นการเชื่อมโยง สภาฯ สวัสดิการ บ้านพอเพียง และไม่เห็นคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาเสนอ ไม่เห็นคนรุ่นใหม่ แล้วจะคิดใหม่ได้อย่างไร แล้วสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการที่เป็นมรรคเป็นผล ตามมาตรา 21 อย่างไร แนวทางข้างหน้า อีสานหนึ่งเดียวเชื่อมอย่างไร เราต้องคิดให้แหลมคม การออกแบบชุมชนต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมออกแบบ จะฟื้นฟู ออกแบบชุมชนอย่างไร บนฐานที่มองว่าสภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ และสภาฯจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร ใช้เรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยครัวเรือนไม่ต้องจ่ายค่าอาหาร
เราพูดได้แค่กิจกรรม ไปไม่ถึงนโยบาย ยุคต่อไป งบประมาณ พอช.จะน้อยลง กลไกจังหวัดต้องพูดคุยกับหน่วยงานภาคีอื่นๆ ใช้ พอช.เป็นเครื่องมือที่ไปต่องบประมาณจากข้างนอก ออกแบบการเชื่อมโยงภายนอก ถ้าเราคิดไม่ได้เงินจาก พอช.จะน้อยลงเรื่อยๆ เรารู้ตัวหรือยัง เราต้องใช้บ้านพอเพียง สวัสดิการ ที่อยู่อาศัย สภาองค์กรชุมชน อนุกรรมการต้องกำกับทิศให้ได้ไม่งั้นการโน้มเข้ามาทำงานร่วมกันจะยาก
งานสวัสดิการต้องยกระดับการทำงาน จากการทำงานกลั่นกรองโครงการที่ผ่านมา การแบ่งสัดส่วนการกลั่นกรองระดับจังหวัด 70 ระดับกลุ่มจังหวัด 20 และในระดับภาค 10 เรื่องนี้ไม่เป็นจริง การพัฒนาโครงการต้องพัฒนามาจากข้างล่าง ไม่ใช่ทำตามแบบฟอร์มเสนอโครงการเท่านั้น ต้องออกแบบการกลั่นกรองใหม่ การเดินต่อคือการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ขบวนองค์กรชุมชน พอช. และคณะทำงานชุดต่างๆ ต้องสร้างความพันธ์บนพื้นฐานอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง องค์กรเราจะเข้มแข็ง งานปัญหาชุมชนใหญ่ขึ้น ไม่มีเฉพาะเรา เราจะจัดความสัมพันธ์กับองค์กรอื่นอย่างไร เราจะทำให้เพื่อรู้งานเรามากขึ้นได้อย่างไร เราต้องเปิดพื้นที่ให้เพื่อนเข้ามา นายสุเมธ กล่าวในตอนท้าย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนทบทวนเป้าหมายขบวนภาค ยุทธศาสตร์ภาคอีสาน สรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการภาค ฯ ปี 2563 ผลงานบทเรียน รูปธรรมความสำเร็จ การเชื่อมโยงการทำงาน ปัญหาอุปสรรค และบทเรียนสำคัญการจากการสัมมนาขบวนภาคปี 2563 และร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานในปี 2564 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองต่อไป