วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานภาคกลางและตะวันตกจัดประชุมคณะทำงานที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคกลางและตะวันตก ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร และการประชุมทางไกล ผ่านโปแกรม Zoom โดยในครั้งนี้ได้เชิญนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการที่อยู่อาศัยและที่ดินระดับชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนเติมเต็มแนวทางการทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัยในสถานการณ์ปัจจุบันร่วมกับคณะทำงานและเจ้าหน้าที่ภาคฯ
ในการประชุมดังกล่าว มีการหารือแผนและเป้าหมายพื้นที่ปี 2564 – 2565 การพิจารณาแผนการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดิน ในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค แผนการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ การเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ และโครงการไฟไหม้ไล่รื้อ
ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเติมแต็มแนวทางการทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัย นางสาวสมสุข กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงเป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชนในการเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของคนจน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้เดือดร้อนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดสิทธิ เกิดความเท่าเทียมกัน ผ่านกลไกและการเชื่อมโยงการทำงานของผู้เดือดร้อน เครือข่ายเมืองและหน่วยงานภาคี แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าการทำงานที่ผ่านมายังเป็นการแก้ไขปัญหาทีละโครงการ ทีละเรื่อง ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ยิ่งทำงานยิ่งมีความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวยเพิ่มมากขึ้น การไล่ที่ในชนบทมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ต้องพัฒนารูปแบบการทำงาน โดยเน้นการทำงานเป็นชุด เกิดกลไก เกิดข้อมูล และการทำร่วม รวมทั้งเกิดการขยายไปยังพื้นที่อื่น เป็นการแก้ปัญหาให้กับคนจนทุกคน ต้องมีการสร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้สามารถทำงานแก้ปัญหาของตนเองได้
“การพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคงที่เป็นมากกว่า 1 โครงการ 1 เมือง มีการเชื่อมโยงสู่เรื่องอื่นๆ ผู้มีรายได้น้อยได้รับโอกาส สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการเรียนรู้ร่วมกัน กลไกภาคีที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา แก้ไข และเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเข้าใจ จัดระบบการทำงานใหม่ ที่ไม่ใช่การสั่งการหรือกำหนดจากส่วนกลางหรือหน่วยงานภาครัฐ แต่เป็นการร่วมคิดร่วมทำระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน โดยใช้โครงการบ้านมั่นคงมุ่งเน้นการเปลี่ยนโครงสร้างในการอยู่ร่วมกันชุมชน สร้างระบบร่วมระหว่างชุมชน ระบบร่วมกับกลไก/หน่วยงาน ส่งผลต่อการขยับความสัมพันธ์ของผู้มีรายได้น้อยกับชนชั้นทางสังคมอื่นๆ ในสังคม หรือสร้างระบบเศรษฐกิจจากฐานรากที่มาจากการร่วมคิดร่วมทำของภาคประชาชน การพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคงจึงเสมือนเป็นฐานหรือเป็นเครื่องมือในการสร้างระบบในทุกมิติ”
นอกจากนี้ โครงการบ้านมั่นคงยังเป็นการสร้างระบบ สร้างมนุษย์ สร้างวิถีชีวิต ภายใต้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งเมือง เป็นหลักในการพัฒนาเมือง ส่วนในพื้นที่ชนบทการตั้งสภาองค์กรชุมชน เป็นพื้นที่กลางของการเชื่อมโยง เป็นเวทีของการพัฒนาพื้นที่ใหม่ บ้านมั่นคงชนบทต้องคิดค้นสิ่งที่มากกว่าเรื่องการได้สิทธิในที่ดินและการซ่อมสร้างบ้าน แต่ต้องมีระบบที่ดี มั่นคง อบอุ่น สร้างสรรค์ พึ่งตัวเองได้ คิดค้นการพัฒนาด้านต่างๆ ได้ การพัฒนาโครงการในช่วงต่อจากนี้ ให้เป็นงานที่ชาวบ้านเป็นตัวตั้ง บ้านมั่นคงเป็นโครงการที่สร้างเพื่อน สร้างการช่วยเหลือ อยู่ในการดูแลของเครือข่าย ขบวนองค์กรชุมชนในตำบลหรือเมืองนั้นๆ เป็นขบวนของคนหมู่มากที่ช่วยกันดูแล ช่วยกันสร้างโครงการ โดยไม่ใช่ พอช. เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น เวลาที่มีปัญหาต้องมีเครือข่ายร่วมกันแก้ ทำเป็นเครือข่าย โดยชุมชนเชื่อมโยงกับระบบเมือง มีขบวนองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวย หรือผู้ช่วยเชิงเทคนิค
รายงานโดย เรวดี อุลิต หัวหน้าวิชาการ สำนักงานภาคกลางและตะวันตก